เอสซีจี พัฒนานวัตกรรมสินค้า “ปูนคาร์บอนต่ำ” รายแรกของไทย ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต เตรียมความพร้อมก้าวสู่ Net Zero Emissions ย้ำความเป็นผู้นำ ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ Low Carbon ตลอดทั้ง Supply Chain

“เราไม่ได้พัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ได้นำนวัตกรรมและองค์ความรู้ มาเพิ่มคุณสมบัติปูนซีเมนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สนองตอบความต้องการลูกค้าในทุกลักษณะการใช้งาน รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และดูแลโลกไปพร้อมกัน ถือเป็นอีกขั้นของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” คุณสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน ในเอสซีจี

ปูนซีเมนต์มีความสำคัญอย่างมากต่อการก่อร่างสร้างเมือง ทำให้อาคารบ้านเรือนมีความแข็งแรงทนทาน แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาโลกเดือดที่เกิดขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ไม่อาจนิ่งเฉย ต้องเร่งปรับกระบวนการผลิต ใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ช่วยลดผลกระทบต่อโลกของเรา

“อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตเป็นจุดให้ เรากลับมานั่งคิดว่าเราลดผลกระทบตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะถ้าเราทำได้ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากเช่นกัน ผมว่าเรื่องนี้ คือ จุดสำคัญในการเริ่มต้น” คุณสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน ในเอสซีจี เล่าถึงที่มาของการพัฒนานวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำของเอสซีจี

คุณสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน

เอสซีจี ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกของประเทศ ที่ได้รับรองมาตรฐานปูนคาร์บอนต่ำ โดยปูนคาร์บอนต่ำ 1 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตถึง 0.05 ตัน CO2 และยังมีความแข็งแรงทนทาน รับกำลังอัดได้ดีกว่าหรือเทียบเท่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั่วไป

คุณสุรชัยอธิบายว่า ทีมนักวิจัยปรับปรุงกระบวนการผลิต เปลี่ยนจากใช้พลังงานฟอสซิล มาเป็นพลังงานสะอาด เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และนำลมร้อนที่เกิดจากการผลิตกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ลดการใช้พลังงานลง 38 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงปรับสัดส่วนวัตถุดิบเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น

“เราเร่งพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำให้ดียิ่งขึ้น ด้วยนวัตกรรมวัสดุศาสตร์ และเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานใหม่ พร้อมส่วนผสมพิเศษที่เอสซีจีพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ จากปูนคาร์บอนต่ำ สูตรแรก สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เรามุ่งเดินหน้าตั้งเป้าพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ สูตรต่อๆ ไป สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ไปได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์”

“เอสซีจี ไม่เพียงพัฒนาเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เพิ่มคุณสมบัติอื่นๆ ให้ปูนคาร์บอนต่ำด้วย เช่น เมื่อนำปูนชนิดนี้ไปผสมเป็นคอนกรีต เราจะได้ผิวสัมผัสที่เรียบสวย และเนื้อทึบแน่นเป็นพิเศษเมื่อแข็งตัว เนื่องจากวัสดุทดแทนที่เราพัฒนาขึ้นเฉพาะมีความละเอียด เข้าไปเติมเต็มช่องว่างลดความพรุนในเนื้อคอนกรีต ซึ่งมีหลายโครงการที่เลือกใช้งานปูนคาร์บอนต่ำ”

คุณสุรชัยอธิบายว่าความตั้งใจของเอสซีจี คือ ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่านวัตกรรมนี้ใกล้ตัว เขาได้ประโยชน์ และส่วนรวม สิ่งแวดล้อมก็ได้ลดคาร์บอนด้วย แบบนี้จะยิ่งยั่งยืน

ความท้าทายนับจากนี้ คือ การพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ลงเรื่อย ๆ “เอสซีจี กำลังศึกษาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Uilization) เพื่อดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปลดปล่อยกลับมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น นำไปทำเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในธุรกิจปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม เส้นทางของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวยังต้องเดินหน้าอีกไกล แต่เราจะทำเต็มที่ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero Emissions”

เอสซีจี พัฒนานวัตกรรมสินค้า “ปูนคาร์บอนต่ำ” รายแรกของไทย

ปี 2566 สัดส่วนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำแทนปูนปกติของประเทศไทยอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามเป้าหมายของเอสซีจี คือ การผลักดันสัดส่วนการใช้ไปให้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

“โลกกำลังก้าวไปสู่ยุคใหม่ของการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เอสซีจี ทำให้สำเร็จด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทุกคนในอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างความมีส่วนร่วมตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ใช้งาน ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปรับเปลี่ยนรูปแบบและวัตถุดิบในการผลิตไปจนถึงมาตรฐานอุตสาหกรรมต่างๆ หลายปีที่ผ่านมา เอสซีจี เดินหน้าสร้างความร่วมมือ และขยายความรู้ความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย นับเป็นการเดินทางที่ท้าทายและคุ้มค่า” คุณสุรชัยกล่าว

Published on: Apr 5, 2024 

(Visited 1,030 times, 1 visits today)