เอสซีจี โดย นายวิชัย รายรัตน์ Sustainable Development Director ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) โดย รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษางานวิจัยและนวัตกรรมฯ และหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างมูลค่าจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในงานก่อสร้าง ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” เพื่อประสานความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการ ผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยนำวัสดุที่เหลือทิ้งจากการก่อสร้างกลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง นับเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญของผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพัฒนาการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
นายวิชัย รายรัตน์ Sustainable Development Director ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ทำให้มีวัสดุที่เหลือทิ้งจากการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เอสซีจีตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีความมุ่งมั่นในการจัดการวัสดุที่เหลือทิ้ง เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวปฏิบัติ SCG Circular way ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ที่ดำเนินธุรกิจตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เช่นเดียวกัน เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชั่นด้านวัสดุก่อสร้าง เพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนและตอบสนองความต้องการของลูกค้า”
ด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษางานวิจัยและนวัตกรรมฯ และหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ในนามของทีมนักวิจัยและนักวิชาการ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมพัฒนาวัสดุอัพไซเคิล เพื่อการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขอขอบคุณเอสซีจีที่เล็งเห็นความสำคัญของการผนึกกำลังและความร่วมมือด้านการวิจัยที่สำคัญในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสาธารณชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคตต่อไป”