มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังเครือข่าย ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย รวมพลังคืนสุขชาวอีสาน

“ตอนที่เห็นสภาพโรงเรียนครั้งแรกหลังน้ำเหลือระดับเอว รู้สึกใจหายมากว่าทำไมโรงเรียนดูพังขนาดนี้ มีแต่โคลนเต็มไปหมด มีงู มีตะขาบ คิดไม่ออกเลยว่าจะฟื้นฟูโรงเรียนอย่างไรดี เพราะโรงเรียนมีแต่เด็กอนุบาล ส่วนครูและบุคลากรก็เป็นผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเอสซีจี พนักงานเอสซีจี และพี่ๆ จากกรมทหารพรานที่ 23 พวกเราคงแย่แน่ ไม่รู้จะได้เปิดเรียนเมื่อไหร่” คำบอกเล่าทั้งน้ำตาของครูหนึ่ง – นางสาวเสาวนีย์ พรมสุข คุณครูโรงเรียนวัดคูเดื่อวิทยาคม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

สืบเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” ที่เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ และอิทธิพลพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. – 1 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี จึงร่วมกับ เอสซีจี ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนกับพี่น้องผู้ประสบภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น ยโสธร ร้อยเอ็ด พิษณุโลก และแม่ฮ่องสอน โดยแบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟู และระยะพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในระยะเร่งด่วนนั้น มูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายมอบสิ่งของที่จำเป็นให้แก่พี่น้องผู้ประสบภัย ประกอบด้วยถุงยังชีพ จำนวน 1,150 ถุง สุขากระดาษ จำนวน 5,500 ชุด มุ้ง จำนวน 226 หลัง และยากันยุง จำนวน 200 ขวด

ศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าฯ อุบล เป็นตัวแทนรับมอบอาคารเรียน
ศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าฯ อุบล เป็นตัวแทนรับมอบอาคารเรียน

นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “สำหรับการช่วยเหลือระยะเร่งด่วนนี้ มูลนิธิฯ ไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เครือข่ายอาสาดุสิต ตลอดจนพนักงานจิตอาสาเอสซีจี ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจเคมิคอลส์ ทั้งนี้ เราเล็งเห็นว่าสุขากระดาษน่าจะช่วยให้พี่น้องผู้ประสบภัยได้ใช้ประโยชน์ในภาวการณ์ที่คับขัน เนื่องจากเป็นกล่องกระดาษลูกฟูกน้ำหนักเบา แต่รับน้ำหนักได้ดีถึง 100 กิโลกรัม ประกอบง่ายภายใน 10 วินาที สามารถใช้ร่วมกับถุงดำเพื่อขับถ่ายได้ทั้งหนักและเบา นอกจากนี้ เรายังได้ให้การช่วยเหลือระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด ในพื้นที่อุบลราชธานีและร้อยเอ็ด เพื่อส่งคืนพื้นที่ให้พร้อมกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพนักงานจิตอาสาจากปูนซิเมนต์ไทยแก่งคอย ที่ลงพื้นที่ทำความสะอาดและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกินเพล อ.วารินชำราบ รวมถึงทำความสะอาดและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าให้แก่โรงเรียนทั้งในตัว อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ด้าน ครูหนึ่ง – นางสางเสาวนีย์ พรมสุข คุณครูอนุบาลโรงเรียนวัดคูเดื่อวิทยาคม ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เล่าว่า “ตอนที่ได้รับการติดต่อมาว่าทางมูลนิธิเอสซีจี และทีมจิตอาสาจากปูนซิเมนต์ไทยแก่งคอยจะลงมาช่วย ตอนนั้นดีใจมากๆ เพราะครูสอนโรงเรียนนี้มา 12-13 ปีแล้ว โรงเรียนเลยเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เราเป็นห่วงโรงเรียนเพราะปิดมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน และห่วงเด็กๆ ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับไปเรียน พอได้งบประมาณฟื้นฟูจากมูลนิธิเอสซีจี และมีทีมจิตอาสาจากปูนซิเมต์ไทยแก่งคอยมาช่วยทำความสะอาด ซ่อมแซมระบบไฟ ทาสี ร่วมกับกรมทหารพรานที่ 23 ที่มาช่วยล้างโคลน ขัดพื้น ฆ่าเชื้อ ทาสี ทำให้ตอนนี้เราเหมือนได้โรงเรียนใหม่เลย พนักงานจิตอาสาเอสซีจียังให้พวกเราช่วยออกแบบและตกแต่งด้วย ทำให้เรามีอาคารเรียนสีฟ้า ด้านในสีชมพู กำแพงสีม่วง ตามความต้องการของพวกเรา พี่ๆ พนักงานและทหารใจดีมากๆ ขอบคุณมากจริงๆ ที่ไม่ทิ้งกันค่ะ”

พนักงานปูนซิเมต์ไทยแก่งคอยและกรมทหารพรานที่ 23 ร่วมทำความสะอาด
พนักงานปูนซิเมต์ไทยแก่งคอยและกรมทหารพรานที่ 23 ร่วมทำความสะอาดและทาสี

นอกจากนี้ ที่โรงเรียนวัดหนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มูลนิธิเอสซีจี ได้ร่วมกับเพื่อนพนักงานเอสซีจีภาคอีสาน ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมทำความสะอาดโรงเรียน ทาสี และปรับปรุงสนามเด็กเล่นเพื่อน้องๆ รวมทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตลอดจนร้านผู้แทนจำหน่ายเอสซีจี จ.อุบลราชธานี ยังร่วมสนับสนุนการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารเรียนอีกด้วย

นายภาณุ ภิญโญทรัพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าด้วยความประทับใจที่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า “ผมคิดว่าถ้าบ้านผมถูกน้ำท่วม ผมจะรู้สึกอย่างไร ผมคิดว่าน้องๆ ก็คงรู้สึกใจหายไม่ต่างกันที่โรงเรียนอยู่ในสภาพเสียหาย    ผมเลยมาช่วยทาสีโรงเรียนและห้องเรียน นอกจากนี้ การที่เราเรียนมาทางด้านนี้ก็ทำให้เราได้ใช้สิ่งที่เราเรียน มาลงพื้นที่จริงและช่วยฟื้นฟูโรงเรียนให้กลับมามีสภาพที่น่าอยู่ น่าเรียนเหมือนเดิม เด็กๆ ก็คงจะดีใจครับ”

ไม่เพียงเท่านี้ มูลนิธิเอสซีจี ยังได้รับความร่วมมือจาก คุณสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.อุบลราชธานี รวมถึงพนักงานเอสซีจีจิตอาสา จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยทีม S.E.R.T. (SCG Emergency Response Team) เข้าทำความสะอาดบ้าน วัด โรงเรียน ในพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว

พนักงานร่วมทำความสะอาด
พนักงานร่วมทำความสะอาด

สำหรับระยะยั่งยืนนั้น มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่าการเยียวยาพื้นที่และความรู้สึกของผู้ประสบภัยในพื้นที่ไม่อาจทำได้เพียงชั่วข้ามคืน มูลนิธิฯ จึงร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม แสวงหาแนวทางการช่วยเหลืออย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

“มูลนิธิฯ จะยึดหลักการช่วยเหลือบนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริงของชุมชนเป็นหลัก เช่น การฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร ได้แก่ การตั้งกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ เรือกสวนไร่นาเสียหาย หรือเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรชำรุดเสียหาย เพราะมูลนิธิฯ เชื่อว่าการช่วยเหลือที่ยั่งยืนคือการช่วยให้พี่น้องที่ประสบภัยสามารถกลับมาทำมาหากินประกอบอาชีพได้ดังเดิม” เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวปิดท้าย

ทีม S.E.R.T. (SCG Emergency Response Team) เข้าทำความสะอาด
ทีม S.E.R.T. (SCG Emergency Response Team) จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง เข้าทำความสะอาด
(Visited 923 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว