เปิดแนวคิดทรานสฟอร์มธุรกิจ “เอสซีจี” ยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0

เพราะ “ทรานสฟอร์เมชัน (Transformation)” หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้องค์กรสามารถฝ่าวงล้อม “ดิสรัปท์ชัน (Disruption)” หรือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก และ “อยู่รอด” ได้ในยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เอสซีจี จึงเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้เร่งพลิกโฉมตนเอง ซึ่งนอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนไปเป็นผู้ส่งมอบโซลูชันและนวัตกรรมสินค้า-บริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีอย่างหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าแล้วเอสซีจี ยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เข้ามาใช้ยกระดับกระบวนการผลิตที่มีมายาวนานและยังมีความสำคัญ ให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า ตลอดจนช่วยพัฒนาทักษะของบุคลากรตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างดี

ย้อนความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการโครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้ปรับกระบวนการทำงานและกระบวนการผลิต ภายใต้แนวทาง “ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน (Digital Transformation)” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีเครื่องจักร (Mechanization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจในทุกขั้นตอน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ และนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในที่สุด

อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการโครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี

“ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ คือ Smart Laboratory ที่เป็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด เพื่อช่วยวิเคราะห์คุณภาพของวัตถุดิบและสินค้าในกระบวนการ ทำให้การควบคุมคุณภาพเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้คนเพียงอย่างเดียว”

“ต่อมา คือ Smart Maintenance ที่เป็นระบบแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรแบบอัจฉริยะ ซึ่งนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพและสมรรถนะของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงงาน โดยสามารถรู้ถึงสภาพเครื่องจักรได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ทีมช่างซ่อมบำรุงวางแผนการดูแลเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้เอสซีจีสามารถขยายผลในเชิงธุรกิจไปสู่การให้บริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรแก่ลูกค้าภายนอกได้อีกด้วย”

“สุดท้าย คือ Smart Dispatching ที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า โดยการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรด้านระบบขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ (Automatic Loading) มาช่วยจ่ายสินค้าปูนซีเมนต์ให้ลูกค้าแบบอัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าได้รับสินค้ารวดเร็วและแม่นยำขึ้น ซึ่งเอสซีจีได้นำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้กับโรงงานปูนซีเมนต์ทุกแห่ง และยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนเห็นข้อมูลที่ถูกต้องแบบเดียวกัน จึงเกิดการบริหารจัดการข้อมูลในทุก ๆ ขั้นตอน และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นอีกด้วย”

Smart Maintenance ระบบแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรแบบอัจฉริยะ

สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

อรรถพงศ์ กล่าวต่อว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ยกระดับกระบวนการทำงานและการผลิต รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ผ่านมานั้น เอสซีจีไม่ได้ทำเพียงลำพังเฉพาะในองค์กร แต่ยังร่วมกับองค์กรชั้นนำภายนอก เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวให้สำเร็จได้ดีและรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับสถาบันการศึกษา อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับเอสซีจี

ขณะที่ภาคเอกชน เอสซีจียังได้ร่วมกับสมาคมฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer) ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม 4.0 รวมทั้งร่วมกับไมโครซอฟท์  (Microsoft) ในการนำเทคโนโลยีด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning: ML) เข้ามาใช้ในเอสซีจีด้วย

และล่าสุด เอสซีจีได้ร่วมกับ “เอไอเอส” และ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)” เพื่อพัฒนารถยก (Forklift) ต้นแบบที่สามารถควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G ได้โดยที่ผู้ควบคุมไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ซึ่งหากการพัฒนาดำเนินต่อไป ก็จะช่วยเพิ่มผลิตผล (Productivity) ให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานของพนักงานได้ดียิ่งขึ้น

Smart Laboratory ที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด

“ความร่วมมือในการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมนี้ เกิดจากแนวคิดและวิสัยทัศน์ที่ตรงกันของทุกองค์กร ในการมุ่งพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยจุดแข็งของเอสซีจีที่มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้พัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เอไอเอสก็ถือเป็นผู้นำด้านการให้บริการเครือข่ายและนวัตกรรมด้านดิจิทัล ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็มีบุคลากรและหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องอุตสาหกรรม 4.0”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงร่วมกันค้นหาโครงการต้นแบบที่สามารถนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือการพัฒนารถยก (Forklift) ต้นแบบ ที่สามารถควบคุมและขับเคลื่อนด้วยเครือข่าย 5G จากระยะไกล ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรกที่โรงงานของเอสซีจีใน จ.สระบุรี เนื่องจากรถ Forklift ถูกนำมาใช้เป็นจำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เพื่อขนย้ายวัสดุและสินค้าต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ”

“สิ่งที่ทำได้ดีในโครงการนี้ คือ ความรวดเร็วในการพัฒนา โดยทีมงานของเอสซีจี เอไอเอส และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น จนผลลัพธ์ที่ออกมาประสบความสำเร็จดีมาก และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในอุตสาหกรรม”

Smart Dispatching ที่นำเทคโนโลยีเครื่องจักรด้านระบบขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ มาช่วยจ่ายสินค้าปูนซีเมนต์ให้ลูกค้าแบบอัตโนมัติ

เทคโนโลยี 5G กับการนำมาใช้เพื่อพัฒนาคนและธุรกิจในอนาคต

ส่วนการนำไปต่อยอดกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ในภาคอุตสาหกรรมนั้น อรรถพงศ์ บอกว่า เครือข่าย 5G มีความรวดเร็ว ตอบสนองได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูง จึงสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับโจทย์ของธุรกิจหรือผู้ประกอบการ

“เอสซีจีเชื่อว่าศักยภาพและจุดเด่นของเครือข่าย 5G ทั้งในเรื่องความเร็วและความเสถียรนี้ จะสามารถนำมาใช้กับงานอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงหรือความยากในการเข้าถึงพื้นที่ได้ดี อย่างการทำเหมืองที่มีบางพื้นที่เข้าถึงยาก ก็สามารถนำเทคโนโลยี 5G ที่ใช้ในการควบคุมรถยกต้นแบบมาประยุกต์ใช้กับการบังคับเครื่องจักรกลหนักที่ทำงานอยู่บนเหมืองได้ โดยที่พนักงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ หรือการซ่อมเตาเผาปูนซีเมนต์ที่มีพื้นที่คับแคบและอับอากาศ เทคโนโลยี 5G ก็สามารถควบคุมรถที่ใช้ในการสกัดและรื้อวัสดุทนไฟในเตาเผาจากระยะไกลได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี IoT เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในกระบวนการผลิตที่มีจำนวนมาก สำหรับใช้ในการวางแผนเครื่องจักรและการบริหารการใช้ทรัพยากร ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในโรงงาน”

“สุดท้ายสิ่งที่จะมีประโยชน์ในอนาคตสำหรับหลาย ๆ อุตสาหกรรม คือ การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการพัฒนาทักษะของพนักงาน โดยเฉพาะการนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) ที่ทำให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกทดลองใช้งานอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางหรือไปอยู่ในพื้นที่หน้างานจริง ทำให้การฝึกอบรมเกิดความรวดเร็ว พนักงานสามารถทำงานใหม่ ๆและเข้าใจได้ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่รองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง”

SCG-AIS-PSU “The 1st Real 5G Use Case for Industry”

ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการทรานสฟอร์มองค์กรของเอสซีจี เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคลากร ผ่านความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4. ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงทีต่อไป

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line: @scgnewschannel

(Visited 1,712 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว