หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “รวมพลังหอการค้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไทย อย่างยั่งยืน” ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านเครือข่ายหอการค้าจังหวัดฯ และกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ หรือ Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC) ทั่วประเทศ มุ่งสร้างโมเดลธุรกิจยั่งยืน ด้วยการลดใช้ทรัพยากร จัดการของเสียอย่างครบวรจร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีกลยุทธ์สำคัญตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1) การออกแบบสินค้าให้เกิดการนำมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ลดปริมาณของเสียหรือให้เป็นศูนย์ 3) ใช้วัตถุดิบที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 4) มีระบบบริหารจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร ทั้งนี้ ในแผนงานปี 2564 จะเน้นดำเนินการที่ภาคธุรกิจการค้าและบริการในจังหวัดชายฝั่งทะเลกว่า 23 จังหวัด เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อภาคธุรกิจว่า “การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นำมาซึ่งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเหลื่อมล้ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ขยะล้นเมือง และสุดท้ายปัญหาเหล่านี้จะกลับมากระทบต่อธุรกิจ สำหรับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จึงมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หอการค้าฯ จึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านเครือข่ายสมาชิก ซึ่งดำเนินธุรกิจการค้าและบริการใน 3 ห่วงโซ่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การค้าและการลงทุน การเกษตรและอาหาร และการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งในปัจจุบัน ทางหอการค้าฯ มีเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศกว่า 100,000 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ซึ่งพร้อมจะดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม รวมทั้งจะนำโครงการต้นแบบขององค์กรต่าง ๆ มาปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ต่อไป”
“รัฐบาลได้ประกาศนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy โดยผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการบริหาร BCG และดูแลด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่านอกจาก Circular Economy จะช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ด้วย จึงยินดีอย่างยิ่งที่จะตอบรับภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ในภาคเอกชนด้วยเช่นกัน” นายกลินท์ กล่าวเพิ่มเติม
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หอการค้าไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจรูปแบบเก่า หรือ Linear Economy เป็นการนำทรัพยากรมาผลิต เกิดของเสียแล้วทิ้ง ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา จึงเกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ การออกแบบสินค้าให้เกิดการนำมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการของเสียอย่างเป็นระบบครบวงจร ทำให้การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลกในขณะนี้
ในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หอการค้าฯ ได้จัด “Circular Economy Workshop” ขึ้นเพื่อหาแนวทางการดำเนินงาน โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมธนาคาร ร่วมทั้งเครือข่ายของหอการค้าฯ เข้าร่วมนำเสนอความเห็น “จากการเวิร์กชอปพบว่า การขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนควรเน้นที่ปลายน้ำของ Value Chain หรือภาคธุรกิจการค้าและบริการ ให้มีการบริหารจัดการของเสีย หรือ Waste Management ที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นที่ขยะเศษอาหารและพลาสติก ซึ่งเป็นประเภทขยะที่มีปริมาณมาก โดยหอการค้าฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในกลุ่มสมาชิกฯ อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.ฮาราลด์ กล่าวเสริม
ด้านนายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า จากปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศไทย 27.8 ล้านตันต่อปี มีสัดส่วนที่นำไปรีไซเคิลเพียงร้อยละ 31 ดังนั้นขยะที่อยู่นอกระบบจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของขยะทะเลเกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก โดยที่มาของปัญหาคือพฤติกรรมของมนุษย์ การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้วัสดุได้หมุนเวียนกลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจ และไม่หลุดรอดไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทางหอการค้าฯ และคณะทำงานจึงร่วมมือกันขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะให้เป็นวาระเริ่มต้นที่สำคัญ โดยแผนงานในปี 2564 นี้ จะเน้นส่งเสริมภาคธุรกิจการค้าและบริการใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งคาดหวังให้แต่ละจังหวัดมีโครงการต้นแบบอย่างน้อย 1 โครงการ และสามารถนำไปขยายผลภายในจังหวัดของตนต่อไป ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาหอการค้าฯ ยังได้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำหนังสือ “เงินทองจากกองขยะ” หรือ Waste to Wealth ซึ่งเป็นชุดความรู้เรื่องการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สามารถนำไปเป็นต้นแบบหรือต่อยอดประยุกต์ใช้ได้
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ กรรมการ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (คณะทำงานจัดการขยะอาหาร) กล่าวว่า ประเทศไทยมีธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและร้านอาหารจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับขยะเศษอาหารที่ยังไม่มีการจัดการที่ดีเพียงพอ เนื่องจากขยะอาหารก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน “เราให้ความสำคัญเรื่องการให้ความรู้ ความเข้าใจ และแบ่งปันวิธีการดำเนินงาน โดยเน้นผลดีที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ทั้งเรื่องการลดต้นทุน และการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ”
นอกจากนี้ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหอการค้าฯ คือ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่สนใจและมี passion เดียวกัน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า “Social Lab” หรือห้องปฏิบัติการทางสังคม “การทำ Social Lab เป็นกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ และเข้าใจความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อเกิดการลงมือเปลี่ยนแปลงร่วมกัน โดยปีที่ผ่าน มีผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่กว่า 80 คน เข้าร่วมโครงการและพร้อมจะนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในธุรกิจและชีวิตประจำวัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และในปีนี้ จะเดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายต่อไป” นายกีรติ อัสสกุล กรรมการ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าว
“ในฐานะที่หอการค้าฯ เป็นองค์กรเอกชนที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เราจะเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการธุรกิจการค้าและบริการ ให้มีการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย พร้อมทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับภาครัฐ เครือข่ายเอกชนอื่น ๆ และประชาชน เราเชื่อว่า การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักเศษฐกิจหมุนเวียนจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน” นายกลินท์ ประกาศเจตนารมณ์ของคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวทิ้งท้าย
คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หอการค้าฯ ประกอบด้วย : B.Grimm, SCG, Ocean Group, Tesco Lotus, Allied Metal, CP Group, ไทยน้ำทิพย์, PTT, GC, Central Group, BITEC, สมาคมโรงแรม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย