กว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ซักชิ้นที่สามารถใช้ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งให้ทั้งรูปลักษณ์ที่สวยงาม ช่วยถนอมสินค้า ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้ทรัพยากรในการผลิตได้อย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ล้วนแต่ต้องผ่านขั้นตอนของการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์อย่างมาก
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ผู้นำในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครบวงจร จึงเปิดเวทีประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ในโครงการ “The Challenge – Packaging Design Contest 2019” ขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยเชิญชวนนักศึกษาที่มีใจรักด้านการออกแบบจากทั่วประเทศ ให้ส่งผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์มาร่วมประลองฝีมือ เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสฝึกฝนและแสดงศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ โดยมีเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 400,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรมอบให้ นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์สุดเข้มข้นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ถ่ายทอดให้ตลอดโครงการ
ประชันไอเดียผ่านโจทย์แสนท้าทาย ภายใต้แนวคิดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
โครงการ The Challenge – Packaging Design Contest 2019 ปีนี้ มากับโจทย์ภายใต้แนวคิด “Move towards a circular way” บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ทุกขั้นตอนการออกแบบ การผลิต และการใช้งาน จะคำนึงถึงการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำหรือแปรรูปให้เป็นสิ่งใหม่ (make, use, return) ตามแนวทาง SCG Circular Way ที่เอสซีจีเป็นแนวหน้าในการผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดการปรับใช้ในวงกว้าง
หลังจากที่ได้ส่งไอเดียรอบแรกเข้ามาแล้ว คณะกรรมการก็ได้คัดเลือกน้อง ๆ ที่มีผลงานเข้าตา ให้มาเข้าร่วมเวิร์คช็อป Marketing & Design Camp เมื่อวันที่ 5 – 6 ตุลาคม 2562 เพื่อเพิ่มความรู้และติดอาวุธทางปัญญาให้กับเหล่านักศึกษา ในหัวข้อ “Customer Excellence 4.0” หรือการออกแบบที่เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง โดยมีคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักออกแบบของเอสซีจีมาร่วมให้ความรู้ เพื่อให้น้อง ๆ นำไปปรับปรุงผลงานให้ดีที่สุด จนพร้อมนำเสนอในวันที่ 12 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันตัดสินหาผู้ชนะในรอบสุดท้ายจากทั้งหมด 3 โจทย์ คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมปรุงหรืออาหารพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่ม
สำหรับช่วงแรกของกิจกรรมในวันตัดสิน เป็นการนำเสนอผลงานของทีมผู้เข้าประกวดจำนวน 24 ทีม จากกว่า 300 ทีม ที่ร่วมส่งผลงานเข้ามาประกวดในรอบแรก ซึ่งแต่ละผลงานต่างก็คิดสร้างสรรค์กันมาอย่างแหวกแนว ตลอดจนมีการนำความรู้จากการเวิร์คช็อปไปปรับปรุงผลงานให้ดีกว่าเดิมเป็นอย่างมาก
โดยคณะกรรมการที่ร่วมตัดสินผลงานในวันนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งจากธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ และผู้ทรงคุณวุฒิจากบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ อาทิ เครือเบทาโกร เอส แอนด์ พี และทิปโก้ ร่วมพิจารณาให้คะแนนกับผลงานแต่ละโจทย์ตามลำดับ
ติดปีกนักออกแบบให้เข้าใจลูกค้า-สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
คุณวิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กล่าวถึงการจัดโครงการครั้งนี้ว่า “โครงการนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้น้อง ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้และรับประสบการณ์ใหม่ ๆ กลับไป ซึ่งธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ภูมิใจที่ได้เห็นถึงสองพัฒนาการ ทั้งตัวโครงการ The Challenge ที่จัดการประกวดได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา อีกมุมหนึ่งคือ น้อง ๆ ที่ผ่านการฝึกอบรมความรู้ต่าง ๆ จากเรา ทำให้วันนี้มีผลงานที่ดีขึ้นต่างจากวันแรกมาก มีการคิดถึงลูกค้าเป็นหลัก ทำให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น และเมื่อได้รับความรู้เรื่องแผนธุรกิจเสริมเข้าไปอีก ก็เหมือนนักออกแบบทุกคนได้เป็นเสือติดปีก ทั้งหมดนี้ต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการและคณะกรรมการทุกท่าน รวมทั้งอยากให้น้อง ๆ นำความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้ไปสานต่อและปรับใช้กับการทำงานจริงในอนาคตด้วย”
เสวนาหัวข้อ “การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ตามแนวทาง Move towards a Circular way”
ก่อนประกาศผลคะแนน ในงานยังมีการจัดเสวนา Design Talk 2019 ในหัวข้อ “การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ตามแนวทาง Move towards a Circular way” ที่ชวนผู้เชี่ยวชาญซึ่งร่วมเป็นกรรมการตัดสินผลงานด้วย อาทิ ดร.เอกก์ ภัทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับสากล และผู้ก่อตั้ง Prompt Design คุณสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) คุณวรรณา สุทัศน์ ณ อยุธยา Manager Innovation Management Process ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี และนายกสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (ThaiPDA) ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ โอกาส และอุปสรรคของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวทาง Circular way ซึ่งไม่ใช่เพียงการรีไซเคิลแบบที่บางคนเข้าใจ แต่กระบวนการนี้ต้องทำให้คุณค่าวัสดุยังคงเดิม
บรรยากาศของการเสวนาดังกล่าวเป็นไปอย่างสนุกสนานและได้ความรู้ โดยได้ข้อสรุปว่า การจะทำให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยองคาพยพสามด้าน ทั้งจากฝั่งผู้ใช้งาน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการ Circular way โดยเลือกใช้สินค้าจากผู้ผลิตที่ลงทุนและใส่ใจออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามแนวคิดนี้ ผนวกกับความรู้ความสามารถจากฝั่งของนักออกแบบที่ร่วมกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ในการออกแบบด้วยกระบวนการคิดแบบครบวงจรผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) ก่อนร่วมมือและผลักดันผู้ผลิตสินค้าอีกทีหนึ่ง เพื่อให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ครบวงจรอย่างยั่งยืน
วินาทีลุ้นระทึกประกาศผลผู้ชนะ
หลังผ่านหลายชั่วโมงของการนำเสนอผลงานของผู้เข้ารอบในแต่ละโจทย์ ทีมละ 10 นาที ต่อเนื่องด้วยการซักถามและติชมจากเหล่าคณะกรรมการอีก 5 นาที โดยพิจารณาการให้คะแนนสี่ด้าน ตั้งแต่การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า การออกแบบโครงสร้างและกราฟิก ความสอดคล้องกับแนวคิด Circular Economy และความเป็นไปได้ในการผลิตจริงและการตลาด เพื่อค้นหาทีมที่เหมาะสมจะได้รับรางวัล ซึ่งประกอบด้วย
- The Best of Challenge ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบที่ดีที่สุดจากทุกโจทย์ จำนวน 1 รางวัล รับถ้วยรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 70,000 บาท
- The Best of Design ซึ่งเป็นรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยม จำนวนโจทย์ละ 1 รางวัล รวม 3 รางวัล รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 50,000 บาท
- The Best of Marketing ซึ่งเป็นรางวัลการตลาดยอดเยี่ยม จำนวนโจทย์ละ 1 รางวัล รวม 3 รางวัล รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 50,000 บาท
- Honorable Mention ซึ่งมอบให้กับผลงานโดดเด่นที่มีโอกาสต่อยอดได้ในอนาคต จำนวนโจทย์ละ 1 รางวัล รวม 3 รางวัล รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท
- The Popular Challenge ซึ่งตัดสินจากผลโหวตจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก จำนวน 1 รางวัล รับเงินรางวัล 8,000 บาท รวมมูลค่ารางวัลตลอดโครงการทั้งสิ้น 400,000 บาท
และแล้วผลการแข่งขันก็ถูกประกาศ ท่ามกลางเสียงยินดีของกองเชียร์กับทุกรางวัลที่ได้รับอย่างสมศักดิ์ศรี โดยผู้ชนะเลิศที่ได้รับรางวัล The Best of Challenge คือผลงาน “เหนียวนิ” กระติ๊บข้าวเหนียวแบบพับได้ ของนางสาวสหัสฤดี ฤทธิสมาน และนางสาววรัชยา ขัดจวง จากคณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ที่ยังคว้ารางวัล The Best of Design จากโจทย์ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงหรือพร้อมรับประทานไปด้วย
เสียงสะท้อนแห่งความภาคภูมิใจจากน้องๆ ว่าที่นักออกแบบรุ่นใหม่
“ความสำเร็จในครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่ได้อาจารย์ พ่อแม่ และเพื่อนๆ ที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะตั้งแต่วันแรกของการเข้าร่วมโครงการ” นางสาวสหัสฤดี ฤทธิสมาน และนางสาววรัชยา ขัดจวง คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากทีม “เหนียวนิ” กล่าว พร้อมทั้งขอบคุณเพื่อนร่วมทีมที่ร่วมออกแบบผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา
“โครงการนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่ทำให้เราได้มาเจอกับนักออกแบบมืออาชีพ และเพื่อน ๆ ต่างสถาบัน ทำให้เราได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าและหาซื้อด้วยเงินไม่ได้ครับ” นายวราธร วสุนธราธรรม จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน “LIQSULATE” บรรจุภัณฑ์เก็บเนื้อสัตว์ที่ออกแบบให้น้ำไหลผ่านได้เพื่อละลายน้ำแข็ง ผู้ชนะรางวัล The Best of Design จากโจทย์ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง
สุดท้ายนี้น้องๆ ฝากขอบคุณมายังผู้ใหญ่ใจดี อย่างธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ที่เห็นคุณค่าของการออกแบบ การตลาด และความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ และได้จัดเวทีให้พวกเขาได้ โชว์ผลงาน และนำแนวคิด Circular way มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบทั้งวันนี้และในอนาคต
ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ได้ที่ http://www.scgpackaging.com หรือสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจี ได้ที่ http://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel และ Line@: @scgnewschannel