“การได้มาซึ่งนวัตกรรมอาจเกิดจากการแลกเปลี่ยนไอเดียสนุก ๆ ในวงเพื่อน แล้วนำมาจับกลุ่มชวนกันทำ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น (Passion) เชื่อมั่นในประโยชน์ที่คนจะได้รับ แล้วหาวิธีการขยายไอเดีย ต่อยอดพัฒนา ลองผิดลองถูก จนเป็นสินค้า” สิรินทร์ ตันตรวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนการผลิต บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ใน SCGP
ท่ามกลางวิกฤตที่เมืองไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด 19 เราได้เห็นหลายภาคส่วนนำความเชี่ยวชาญไปช่วยเหลือสังคม เช่นเดียวกันกับ “SCGP” ที่ได้ “ประยุกต์” และพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลายออกมาช่วยแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสังคม ซึ่ง “ผู้ที่ต้องสัมผัสเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งมีเชื้อโควิด 19” เช่น ผู้ปฏิบัติงานที่โรงซักผ้าในโรงพยาบาล และบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล เป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในสถานการณ์โควิด 19 นี้
“ถุงซักผ้าละลายน้ำ” นวัตกรรมจาก SCGP ที่คิดค้นขึ้นเพื่อช่วยให้ไม่ต้องสัมผัสกับผ้าติดเชื้อโดยตรง แค่ผู้ใช้งานนำถุงที่ใส่ผ้าติดเชื้อเข้าเครื่องซักผ้าที่มีอุณหภูมิน้ำขณะซัก 65°C ขึ้นไป ถุงก็จะเริ่มละลายในน้ำภายใน 3-15 นาที (อัตราการละลายน้ำขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ และการหมุนวนในเครื่องซักผ้า) จึงเป็นอีกนวัตกรรมทางเลือกหนึ่งที่ช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ซักผ้าไม่ต้องสัมผัสกับผ้าติดเชื้อ เพียงแค่ผู้ป่วยเปลี่ยนชุดใส่ไว้ในถุงผ้าเมื่อเต็มแล้ว ทางพยาบาลสามารถนำผ้าที่อยู่ในถุงส่งต่อไปยังหน่วยบริการการซักผ้าได้ทันที
“นวัตกรรมที่ตอบโจทย์” ตั้งต้นจาก “ปัญหาของสังคม”
“พี่เบิร์ด” จุฑามาศ มหาเจริญสิริ นักวิจัย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ SCGP เล่าว่า ถุงซักผ้าละลายน้ำเกิดขึ้นจากการเป็นคนช่างสังเกต เก็บทุกเสียงปัญหา และความต้องการของผู้ปฏิบัติงานที่โรงซักผ้าในโรงพยาบาล และนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สินค้ามูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services: HVA)
“พลาสติกพิเศษที่ผลิตจากพอลิไวนิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ SCGP พัฒนาขึ้นมาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเราเห็นว่าสถานการณ์โควิด 19 เริ่มรุนแรงขึ้น จึงคิดว่าผลิตภัณฑ์ที่เรามีจะนำไปต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาให้กับสังคมได้อย่างไรบ้าง และไม่รอช้าที่จะลงสำรวจหน้างาน และพบว่ามีผู้ที่ทำงานซักผ้าของโรงพยาบาล มีความเสี่ยงจากการหยิบผ้าที่อาจมีเชื้อโควิด 19 ปนเปื้อนเข้าเครื่องซักผ้า ซึ่งโดยปกติการซักเสื้อผ้าเหล่านี้ต้องใช้น้ำอุณหภูมิสูงในการฆ่าเชื้อ ทำให้เรากลับมาพัฒนาเป็นถุงซักผ้าที่สามารถละลายในน้ำที่อุณหภูมิที่สูงได้ โดยไม่ต้องเปิดปากถุงก่อนซัก”
จุฑามาศ ย้ำต่อว่า “ในฐานะนักวิจัยซึ่งได้ศึกษาเรื่องพลาสติกมาตั้งแต่ต้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นว่าคุณสมบัติของพลาสติกที่สามารถละลายน้ำมีความเป็นไปได้กับธุรกิจ ทำให้สามารถต่อยอดการคิดค้นของเราให้เข้ากับสถานการณ์ได้ทันที
“นวัตกรรม” จะเกิดขึ้นได้ต้อง “ไม่ล้มเลิก เมื่อล้มเหลว”
สิ่งที่เป็นความท้าทายของการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือ “สร้างการยอมรับ” ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ทันทีในวันแรก ทีมงานต้องลองผิดลองถูก มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ แม้จะทำแล้วไม่เหมาะสม ใช้ไม่ได้ ลูกค้าไม่ตอบรับ แต่ก็ยังไม่หยุดคิด เดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จุฑามาศ เล่าว่า “เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน ฟันฝ่าความกังวลที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยและคำถาม ทีมจึงต้องรับฟัง เพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไข นำเสนอโดยการชูจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด ทำให้ต้องใช้เวลาให้ข้อมูลอธิบายวิธีการใช้แบบตัวต่อตัว และขยายให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล เราจึงได้ทำคลิปวิดีโอการใช้งานผลิตภัณฑ์ทุกขั้นตอน เพื่อเข้าไปศึกษาข้อมูลการใช้งานได้อย่างละเอียดและชัดเจน จนสุดท้ายเกิดการยอมรับ เปิดใจใช้งานสิ่งใหม่ จนรู้ว่าถุงซักผ้าละลายน้ำนี้ช่วยลดความเสี่ยง ตั้งแต่การประหยัดเวลา ลดขั้นตอนการคัดแยก ลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อ ทำให้ผู้ใช้งานปลอดภัยจากการติดเชื้อ อีกทั้งช่วยลดปริมาณขยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
“การพัฒนาโมเดลถุงผ้าละลายน้ำต้นแบบ (Prototype) และนำไปแนะนำกับโรงพยาบาลครั้งแรกในขณะที่ยังไม่เคยมีการใช้มาก่อน ผู้ใช้งานย่อมเกิดความกังวล เราต้องมีผลการทดสอบคุณภาพน้ำทิ้งหลังกระบวนการซักผ้า เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ทิ้งสารตกค้างอันตรายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมช่วยยืนยัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน” สิรินทร์ เล่าเสริม
“นวัตกรรมที่ทันใช้” ต้องคิดและพัฒนา “แข่งกับเวลา”
สิรินทร์ เล่าเพิ่มเติมว่า ภายใต้ข้อจำกัดของเวลา นวัตกรรมถุงซักผ้าละลายน้ำถูกพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นำมาใช้ได้ถูกที่ถูกเวลา นั่นเป็นเพราะเราไม่หยุดคิดค้นสิ่งใหม่ พร้อมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่แก้ไขปัญหาและตอบความต้องการของสังคมได้ทันที
เบื้องหลังความสำเร็จของผลงานนวัตกรรมถูกที่ถูกเวลา ได้ใช้งานในช่วงวิกฤตนั้น เกิดจากการวางโครงสร้างการทำงานให้เป็นหน่วยทำงานขนาดเล็กตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้การทำงานและการตัดสินใจมีความคล่องตัว และรวดเร็ว โดยแบ่งเป็น 3 ทีม คือ 1.) ทีมศึกษาคุณสมบัติเม็ดพลาสติก กระบวนการผลิตและ/หรือทดสอบ ให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน 2.) ทีมศึกษาความต้องการของลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือและสร้างการยอมรับในสินค้า และ 3.) ทีมช่องทางการจำหน่าย และจัดเตรียมบรรจุภัณฑ์ให้พร้อมในการขายสินค้าได้อย่างทันที
“การทำงานสำเร็จได้ เกิดจากความมุ่งมั่ง (Passion) ที่เชื่อว่า สิ่งที่ทำนั้นเกิดประโยชน์ต่อผู้คน ซึ่งต้องเก็บทุกเสียงของลูกค้ามาคิดและปรับปรุง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเป็นความต้องการของลูกค้าก็ไม่ควรละเลย ที่สำคัญ เราต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นวิธีการทำงาน พร้อมเคลื่อนทัพให้ทันเวลา ทีมงานจึงต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว แบ่งทีมงานรับผิดชอบ และแบ่งปันข้อมูลกันตลอดเวลา เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์และตรงใจลูกค้ามากที่สุด” สิรินทร์ กล่าว
คุณสมบัติของถุงซักผ้า จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานจากเดิม แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกับผลลัพธ์จึงถือว่าคุ้มค่า เพราะเมื่อลำเลียงผ้าไปยังโรงซัก ก็พร้อมเข้าห้องซักได้ทันที ช่วยลดการสัมผัสผ้าติดเชื้อ โดยเฉพาะการใส่ผ้าติดเชื้อลงในถุงโดยที่ไม่ต้องแกะอีกรอบ เป็นการช่วยลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคในอากาศ และเมื่อลดการขั้นตอนการทำงาน จึงทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น
“ผู้ป่วยเปลี่ยนผ้า และพยาบาล ได้รวบรวมผ้าใส่ถุง ลงในถังวางไว้หน้าห้อง มีฝาปิดมิดชิด ถึงเวลาที่ระบุไว้ เจ้าหน้าที่ห้องผ้าก็รับผ้าจากห้องผู้ป่วย (วอร์ด) มาใส่ถังเข้าสู่กระบวนการเข้าเครื่องซักรีด การมีถุงผ้าละลายน้ำช่วยให้พนักงานที่มีความเสี่ยงรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยขึ้น”
นวัตกรรม ไม่ใช่เรื่องใหญ่และเรื่องยาก เริ่มต้นด้วยการเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เชื่อมโยงความต้องการกับจุดแข็งที่องค์กรมี “ชวนกันคิด ชวนกันทำ” โดยไม่ต้องกังวลว่าจะผิดหรือจะถูก ไม่ล้มเลิกกลางคัน ก็เพียงพอที่จะทำให้เราค้นพบนวัตกรรมพร้อมใช้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ทั้งในสถานการณ์ปกติและภายใต้สภาวะวิกฤต สอดคล้องกับหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) ที่เอสซีจีได้นำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel
Published on: Nov 8, 2021