จากปัญหาในชุมชนที่มีทั้งเด็กด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ขาดคนดูแล ไปจนถึงปัญหาขยะ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่จุดประกายให้ “น้องแป้ง – ณัฐนิภา ขุนทอง” และ “น้องดีน่า – ณัฐลมัย ป้านวัน” ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ ร่วมมือกับ “สุจิตรา ป้านวัน” หรือ “พี่หนู” รองปลัด อบต. นาไม้ไผ่ ผู้ริเริ่มชักชวนเด็ก ๆ ในชุมชน ซึ่งถือเป็นพลังขับเคลื่อนของสังคม ให้ออกมาทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ” ด้วยการใช้ “การจัดการขยะอย่างถูกวิธี” เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและสร้างความร่วมมือภายในชุมชน เพื่อสร้างชุมชนที่สะอาด น่าอยู่ เป็นสังคมแห่งการช่วยเหลือ จนทำให้ ต.นาไม้ไผ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แห่งนี้ ก้าวเป็น “ชุมชนไร้ (Like) ขยะ” ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากคนแปลกหน้า สู่ “กลุ่มพลังเด็ก” ร่วมแก้ปัญหาชุมชน
“พี่หนู” เริ่มลงพื้นที่ตำบลนาไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่เกือบ 3 พันครัวเรือน 14 หมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่หมู่ 13 เพราะเป็นหมู่บ้านหลังเขาที่อยู่ห่างไกล ด้วยการใช้เวลาทุกเสาร์ – อาทิตย์ เข้าไปทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก ๆ กว่า 1 ปี เด็ก ๆ จึงเปิดใจและเข้าร่วมกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากเด็ก 15 คน จนปัจจุบัน มีน้อง ๆ กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจถึง 7 รุ่น และมี 250 ครัวเรือน จาก 7 หมู่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรมการจัดการขยะนี้
วิธีการของ “พี่หนู” คือ การพาเด็ก ๆ ไปเยี่ยมบ้านผู้พิการและผู้สูงอายุ ทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นถึงความเป็นอยู่ของผู้ที่อยู่อย่างยากลำบาก และสอนให้รู้จักการช่วยเหลือ ช่วยกันทำความสะอาดและจัดการขยะ เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น นับเป็นการสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้สูงอายุในพื้นที่ จนเกิดเป็นกิจกรรม เช่น “วัยใสห่วงใยวัยชรา” ที่เด็ก ๆ ช่วยกันเก็บขยะตามบ้านในชุมชนไปบริหารจัดการต่อ หรือ กิจกรรม “ยายสอนหลานทำนา” ที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อาชีพการทำนาจากผู้ใหญ่
แน่นอนว่า การเริ่มต้นนั้นยาก เพราะผู้ใหญ่ยังไม่ยอมรับ และไม่เชื่อว่าเด็กจะทำได้
“ความยาก คือ ตอนเริ่มต้น ที่คนในชุมชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่พวกเราก็หมั่นลงพื้นที่ เริ่มจากคนที่สนิทละแวกบ้านใกล้เคียง ไปให้ความรู้กับชุมชน และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พอคนในชุมชนเห็นว่าเราทำได้ พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานก็อยากให้ลูกหลานมาร่วมทำกิจกรรมด้วย เพราะเห็นว่าดีและเกิดประโยชน์” “น้องแป้ง – ณัฐนิภา ขุนทอง” แกนนำของกลุ่มฯ กล่าว
เช่นเดียวกับ “น้องดีน่า – ณัฐลมัย ป้านวัน” ลูกสาวของพี่หนู ที่ร่วมใจลงแรงกับกลุ่มฯ มาตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยเสริมว่า “ช่วงแรกที่เริ่มชวนคนอื่น ๆ มาแยกขยะ ถูกมองว่าเป็นแค่เด็กทำไม่ได้หรอก ขนาดผู้ใหญ่ยังทำไม่ได้เลย แต่นี่คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พวกเราต้องลุกขึ้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง พอเราทำได้ มีคนเห็นความสำคัญและยอมรับ เลยเกิดเป็นความร่วมมือจัดการขยะชุมชนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่”
“ขยะ” คือ ขุมทรัพย์ที่ช่วยเหลือชุมชน
การทำงานเริ่มต้นจากเงินทุนของ “พี่หนู” จนกระทั่งมีการต่อยอด “สร้างขยะเป็นรายได้” ด้วยการนำขยะที่เด็ก ๆ เดินเก็บจากข้างถนน และขยะที่ชาวบ้านส่งมอบให้มาคัดแยก นำไปขายสร้างรายได้ โดยได้เชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานราชการในจังหวัดนครศรีธรรมราช และ เอสซีจี ที่เข้ามาช่วยให้ความรู้ และขยายเครือข่าย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชน ได้ขับเคลื่อนงานด้านการจัดการขยะอย่างจริงจัง โดยล่าสุดได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ครั้งที่ 20 ประเภทกลุ่มเยาวชน สร้างความภูมิใจ และเป็นแรงกระตุ้นให้กับเด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมจัดการขยะต่อเนื่อง จนนำไปสู่การขยายเครือข่าย เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับชุมชนอื่น ๆ เช่น ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หรือ ชุมชนบ้านวังไทร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น รวมถึงการขยายผลไปสู่ วัด และโรงเรียนในพื้นที่ได้อีกด้วย
ขยะที่เก็บได้ “น้องแป้ง” อธิบายว่า แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
- ขยะอินทรีย์ นำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น แมว สุนัข หรือไก่ อีกส่วนหนึ่งนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กลับมารดผัก หรือ ทำน้ำหมักไปใส่น้ำเสีย เป็นต้น
- ขยะรีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ หรือประดิษฐ์เป็นของใช้ หรือนำไปขายสร้างรายได้
- ขยะอันตราย เก็บรวบรวมส่ง อบจ. ไปกำจัดอย่างถูกวิธี
- ขยะทั่วไป หรือ ขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) เช่น ถุงพลาสติกที่ดีก็นำกลับมาใช้ซ้ำ หากใช้ไม่ได้แล้วก็เก็บล้างให้สะอาด แล้วนำไปส่งมอบต่อให้กับเอสซีจี เพื่อนำไปใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นพลังงาน สำหรับใช้ภายในโรงงาน
แม้รายได้จากขยะจะไม่มากนัก แต่ “พี่หนู” ก็บริหารจัดการอย่างดี โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อ 1.) ซื้อของใช้ตอบแทนให้กับบ้านที่ร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะ เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ไข่ น้ำมัน 2.) เป็นกองกลาง ในชื่อ “กองบุญ” สำหรับนำไปสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน เช่น การจัด English camp ให้กับเยาวชน การนำเงินร่วมสมทบสร้างบ้าน รวมถึงการซื้อสุขภัณฑ์ และมอบเป็นเงินสมทบให้กับผู้สูงอายุที่ยากไร้ 3.) แบ่งเป็นค่าขนมให้น้อง ๆ ที่มาทำงานร่วมกัน
เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้ “ขยะ” ด้วย “ความรู้” และการสร้าง “เครือข่าย”
จากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้หลายอย่างเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม เป้าหมายต่อไปของกลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งฯ คือ การสร้างความยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ ทำให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างมีระบบ ทั้งการลงบัญชี จดสถิติ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ส่วนการนำขยะไปสร้างมูลค่าเพิ่ม กลุ่มฯ กำลังศึกษาและมีแนวคิดที่จะนำขยะไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ โดยอาศัยการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ซึ่งเอสซีจีมีส่วนช่วยอย่างมากในการให้ความรู้ นำความคิดใหม่ ๆ มาเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน ตลอดจนช่วยเชื่อมต่อเครือข่ายที่ทำเรื่องการจัดการขยะ
“พี่หนู” บอกว่า สิ่งที่กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งฯ ต้องการขณะนี้ คือ องค์ความรู้โดยเฉพาะการนำขยะที่ไม่มีค่ามาสร้างให้เกิดมูลค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อที่จะนำความรู้นั้นมาต่อยอด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพร้อมที่จะส่งต่อให้กับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน
ปลูกจิตสำนึกชุมชนในแบบ “เด็กนำผู้ใหญ่”
ปัญหาสำคัญของชุมชน คือ “ขยะ” ซึ่งแท้จริงแล้ว เราก็คือผู้สร้างขยะให้เกิดขึ้นในชุมชน และเผาทำลายให้เกิดมลพิษ เพราะฉะนั้น ต้องกระตุ้นให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด ไม่ทำลายและช่วยกันดูแลสิ่งที่มีอยู่ โดยอาศัยเด็ก ๆ เป็นตัวกระตุ้นทำให้คนในครอบครัวตื่นตัว ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการปลูกฝังความคิดที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้นำไปปฏิบัติต่อไป
“อยากสร้างจิตสำนึกให้ทุกครัวเรือนลุกขึ้นมาจัดการขยะแบบที่ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ หรือขอร้อง ทำให้เกิดเป็นความเคยชิน จนเป็นชุมชนที่ไร้ถังขยะ ต้องสร้างให้คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาช่วย เราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ” พี่หนู กล่าว
“การจัดการขยะ” ไม่ได้เป็นหน้าที่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ควรเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกคน “พี่หนู” และเด็ก ๆ “กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งฯ” เป็นเพียงหนึ่งกลุ่มเล็ก ๆ ที่พร้อมลุกขึ้นต่อสู้และเรียนรู้ เพื่อดูแลและพัฒนาสังคมของตัวเองให้ดีขึ้น หากสามารถส่งต่อความคิดและวิธีการไปสู่ทุก ๆ ชุมชน ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันลุกขึ้นทำสิ่งดี ๆ การจะทำให้สังคมไทยและประเทศไทยกลายเป็นประเทศคุณภาพที่ปลอดขยะคงไม่ยากเกินกำลังอย่างแน่นอน
ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการขยะ สามารถติดตามได้ที่ https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/ และสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel
Published on: May 28, 2021