“วิทยาศาสตร์การกีฬา” ผสานศิลปะการสร้างแรงบันดาลใจ ปัจจัยความสำเร็จของยอดนักกีฬา

หลังจากที่ “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ นักว่ายน้ำทีมชาติคว้าเหรียญทองพร้อมกับทำลายสถิติว่ายน้ำประเภทกบ 200 เมตรชาย กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปลายปีที่แล้ว และเปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จในครั้งนี้ว่าเกิดมาจากการการได้รับเทคนิคใหม่ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาจาก ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของเมืองไทย ทำให้คนในวงการว่ายน้ำต่างสนใจที่จะเรียนรู้หลักวิทยาศาสตร์การกีฬาใหม่ๆ กันถ้วนหน้า

จากการเรียกร้องของคนในวงการว่ายน้ำ ทำให้ ศ.ดร.เจริญ ได้เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการโปรแกรมการฝึกแบบ Functional Training ในนักกีฬาว่ายน้ำ” ระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ศูนย์แบดมินตันและวิทยาศาสตร์การกีฬา ถ.นางลิ้นจี่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 20 คน ซึ่งมีทั้งโค้ชว่ายน้ำจากต่างจังหวัด และนักกายภาพบำบัด

หลังจากที่ได้ซึมซับเทคนิคใหม่ๆ ของกีฬาว่ายน้ำแล้ว มีผลตอบรับที่สร้างความหวังใหม่ให้วงการว่ายน้ำไทยได้อีกไม่น้อย เพราะหลายคนยอมรับว่า สิ่งที่ได้รับฟังและปฏิบัติตลอดระยะเวลา 3 วัน แปลกใหม่ ท้าทาย สนุก และเอาไปปรับใช้ได้จริง

จุมภฎ อินทรนัฏ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รู้ว่ามีการเปิดแคมป์อบรมครั้งนี้จากกลุ่มไลน์ของสังคมว่ายน้ำ เมื่อเห็นก็รีบสมัครเพราะสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็เห็นผลงานขอ ศ.ดร.เจริญในวงการกีฬามาตลอด การอบรมครั้งนี้ทำให้เห็นแนวทางในการพัฒนานักกีฬาว่ายน้ำของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ ศ.ดร.เจริญได้ให้คำแนะนำ คือ การสร้างนักกีฬาอย่างเป็นระบบ ไม่รีบคำนึงถึงผลงาน จะทำให้นักกีฬาคนนั้นประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างมาถึงจุดที่เหมาะสม

จุมภฎ อินทรนัฏ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

“นอกจากวิทยาศาสตร์การกีฬาแล้ว อาจารย์ก็ยังให้คำแนะนำด้านจิตวิทยา และให้มองปัจจัยรอบด้านด้วย ทำให้เห็นว่านักกีฬาคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มต้นให้มีระบบที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก ผู้ปกครองก็เป็นส่วนสำคัญ ผู้ปกครองต้องไม่เน้นไปที่ผลงานตั้งแต่ช่วงแรก ให้ได้ฝึกซ้อม สะสมประสบการณ์ และเติบโตไปเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จแบบยั่งยืนที่สุด ซึ่งก็ต้องทำควาเข้าใจกับพ่อแม่ของนักกีฬาในเรื่องนี้อยู่ตลอด

ด้านประภาส ทิมา อาจารย์โรงเรียนนารีนุกูล จ.อุบลราชธานี ที่ทำทีมว่ายน้ำของโรงเรียนและจังหวัด กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นครูพลศึกษา ทำให้อยากเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาสมัยใหม่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อก่อนจะเป็นการสอนให้ทำตามๆ กันมา ไม่มีความชัดเจน แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การกีฬาเปลี่ยนไปมาก ต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้เคยร่วมอบรมในโปรแกรมการฝึกแบบ Functional General มาก่อนแล้ว เมื่อนำเทคนิคไปปรับใช้ ปรับคอร์ทซ้อม นักกีฬาผลงานดีขึ้นมาก แต่อาจจะไม่ได้ก้าวมาถึงระดับทีมชาติ ซึ่งก็ได้เป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติแล้ว ที่สำคัญมีนักว่ายน้ำที่ดูแลเข้ารอบชิงชนะเลิศ กีฬาแห่งชาติได้ ในระยะเวลา 4 เดือนที่ปรับการฝึกซ้อมเท่านั้น

ประภาส ทิมา อาจารย์โรงเรียนนารีนุกูล จ.อุบลราชธานี

“การมาอบรมกับอาจารย์เหมือนเป็นการจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น บางจุดที่เป็นปัญหาค้างคาใจสามารถเอาเข้ามาถามในการอบรมได้ และเมื่อได้คำตอบไปปฏิบัติจริงก็ได้ผลดีตามมา อาจารย์บอกเสมอว่า อย่าอายที่จะถามในสิ่งที่ไม่รู้ ต้องกล้าถาม กล้าพูด เพื่อที่จะได้ความรู้กลับไปเต็มที่ ถ้าเปิดการอบรมอีกก็จะมาอีกแน่นอน”

ขณะที่ชัญญานุช ตั้งมโนสัมฤทธิ์ นักกายภาพบำบัดอิสระ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่โค้ชหรือนักกีฬาเท่านั้นที่มองว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนของนักกายภาพบำบัดก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากงานที่ทำเป็นการดูแลนักว่ายน้ำอายุระหว่าง 8-14 ปี ว่าจะซ้อมอย่างไรไม่ให้มีอาการเจ็บหรือเจ็บน้อยที่สุด เจ็บแล้วจะต้องดูแลรักษาอย่างไรให้หายดี ที่สำคัญร่างกายของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน พัฒนาการตั้งแต่ทารกจนเติบโตมาต่างกัน ทำให้การใช้ร่างกายต่างกัน เมื่อได้มาเก็บความรู้ในการอบรมครั้งนี้ จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เพราะหลายๆ องค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมต่างจากสิ่งที่เคยเรียนรู้มาทั้งจากสถาบันในประเทศไทย และในต่างประเทศ

ชัญญานุช ตั้งมโนสัมฤทธิ์ นักกายภาพบำบัด

“มาอบรมครั้งนี้เป็นครั้งแรก และหลายๆ เรื่องก็ทำให้ทึ่งเหมือนกันว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาไปไกลกว่าที่คิด อาจารย์เจริญมีเทคนิคที่ไม่มีในตำราที่อื่น การที่ตัวเองยังขาดองค์ความรู้หลายๆ อย่าง ครั้งนี้เหมือนเป็นการได้ทดลองและเข้าใจเรื่องใหม่มากมาย เพราะกายภาพบำบัดไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาอาการเจ็บของกระดูก กล้ามเนื้อเท่านั้น ต้องเข้าใจร่างกายของนักกีฬาให้มากที่สุด เรียกง่ายๆ ว่าเป็นศิลปะของการรักษาอาการเจ็บนั่นเอง ซึ่งที่นี่เติมเต็มในเรื่องนี้ได้ดีมาก”

ศ.ดร.เจริญกล่าวว่า โครงการนี้มีความสำเร็จของเจมส์บอนด์เป็นจุดเริ่ม เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าถ้ามีการฝึกซ้อมที่ถูกต้องจริงๆ เวลาเพียง 8 สัปดาห์ก็ทำให้นักกีฬาทำลายสถิติเมื่อ 8 ปีที่แล้วของตัวเองได้ อยากให้ทุกคนที่อยู่ในวงการกีฬาเชื่อมั่นว่าคนไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลกทั้งนั้น แต่ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ ไม่ใช่เลียนแบบในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดีแล้ว ที่สำคัญการเป็นโค้ชไม่ได้มีแค่หน้าที่สอนเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสถานะมาก เป็นทั้งครู, คนให้คำแนะนำ, ผู้ดูแลการฝึกซ้อม, เป็นผู้จัดการเรื่องต่างๆ ที่สำคัญเป็นนักเรียนไปในตัว เพราะต้องศึกษาสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา

ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

“นักกีฬาจะเก่งได้ ไม่จำเป็นต้องซ้อมเหมือนคนอื่น แต่ต้องหาความรู้และเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวเอง ที่สำคัญคนเป็นโค้ชจะต้องไม่ไปตำหนิเด็กรุนแรง อย่าไปว่าเด็กว่าโง่ ห่วย เพราะคุณเป็นคนสอนเขามาเอง ถ้าเด็กห่วยแล้วพวกเขาได้ความรู้มาจากไหน ก็จากโค้ชทั้งนั้น ต้องให้เหตุผลว่าเขาแพ้เพราะอะไร เพื่อหาวิธีแก้ไขให้ดีขึ้น ที่สำคัญต้องสอนให้เด็กมีคุณธรรม ช่วยเหลือสังคม ให้โอกาสกับคนด้อยโอกาส เพราะผลงานและชื่อเสียงมันอยู่ไม่นาน แต่การสร้างคนดี เขาจะเป็นคนดีตลอดไป”

การอบรมครั้งนี้อาจจะเป็นการเน้นหนักในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาของนักว่ายน้ำ แต่สิ่งที่ผู้เข้าอบรมได้รับไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่ ศ.ดร.เจริญให้ทั้งเรื่องจิตวิทยา ที่จะสร้างการยอมรับในตัวโค้ชของนักกีฬาและผู้ปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ผู้สอนและผู้เรียนก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

 

(Visited 1,254 times, 1 visits today)