SCGP เผยกำไรไตรมาสสองแกร่ง 1,485 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์บรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้บริโภค ชูศักยภาพการบริหารต้นทุน รุกขยายธุรกิจเพิ่มในอาเซียน รองรับตลาดฟื้นตัวต่อเนื่อง

SCGP ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ทำรายได้ 32,216 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่สามารถทำกำไรสำหรับงวดแข็งแกร่งที่ 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อน จากการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการมุ่งเน้นกลยุทธ์การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโตสูง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง การส่งออกอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง และการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น มองแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง รุกกลยุทธ์ขยายการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง พร้อมกับทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมระดับโลก ‘Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ’ และ ‘Wooden Foodservice Packaging’ จากไม้ยูคาลิปตัส หนุนการใช้ทรัพยากรทดแทน เสริมเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น แม้ยอดขายชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรที่ปรับลดลง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของตลาดอินโดนีเซียซึ่งมีวันหยุดราชการยาวในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากการขาย 32,216 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อนหน้า EBITDA 4,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสำหรับงวด 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อนหน้า

SCGP ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่สำคัญ ไตรมาส 2/566

ทั้งนี้ กำไรสำหรับงวดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ที่เติบโต มาจากการวางกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุน อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพฐานการผลิตในประเทศต่าง ๆ การเสริมแกร่งระหว่างธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ การรวมคำสั่งซื้อวัตถุดิบและจองระวางเรือขนส่งสินค้า และเพิ่มการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (Cross-Selling) นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากต้นทุนวัตถุดิบ และราคาพลังงานที่ลดลง รวมถึงค่าระวางเรือขนส่งสินค้า ตลอดถึงการปรับสัดส่วนการผลิตสินค้า ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด โดยเพิ่มการผลิตเยื่อเคมีละลายน้ำได้ (Dissolving Pulp) ซึ่งมีราคาขายที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น

รายได้จากการขาย

ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งออกผลไม้ ยังประเทศจีนปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการขายกระดาษพิมพ์เขียนเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดภาคการศึกษาและการเลือกตั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังผันผวน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัว

สัดส่วนรายได้จากการขายแบ่งตามประเทศลูกค้า

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 คณะกรรมการบริษัท จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผล ระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ของปี 2566 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 สิงหาคม 2566

EBITDA

SCGP มีงบดุลและโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง สำหรับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้ตั้งงบประมาณการลงทุน (CAPEX) สำหรับปี 2566 ไว้รวม 18,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นงบสำหรับการขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) ประมาณ 9,000 ล้านบาท นอกจากนี้เพื่อรองรับความเป็นไปได้ในการลงทุนซื้อหุ้นใน PT Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯ จึงมีการบันทึกบัญชีรายการในงบดุลคิดเป็นมูลค่ารวม 23,204 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ซึ่งจะเป็นการซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มเติมจำนวนร้อยละ 44.48 โดยคาดว่าธุรกรรมนี้จะเกิดขึ้นในช่วงประมาณกลางปี 2567

กำไรสำหรับงวด

นายวิชาญ กล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ครึ่งปีหลังในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อเตรียมรับเทศกาลในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งออกจากอาเซียนไปยังประเทศปลายทางแถบยุโรป ซึ่งความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงชะลอตัว โดยราคาต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อไปถึงช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ในขณะที่ราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (RCP) มีแนวโน้มทรงตัว ซึ่ง SCGP ยังคงบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

บริษัทฯ ได้มุ่งรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเดินหน้าตามกลยุทธ์การขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีผลการดำเนินงานที่ดีและเป็นกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับ SCGP โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูง โดยได้เตรียมเข้าลงทุนใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเวียดนาม เสริมความครบวงจรและการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างบริษัทย่อยอื่น ๆ ในประเทศเวียดนามของ SCGP

ขณะเดียวกัน SCGP ได้ทุ่มเทในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยอยู่ระหว่างร่วมกับออริจิ้น แมตทีเรียลส์ (Origin Materials) ในการพัฒนา Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ ซึ่งผลทดสอบล่าสุดได้ผ่านขั้นตอน การทดสอบในห้องแล็ป และการปรับคุณสมบัติที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้วผลเป็นที่น่าพอใจ พร้อมเข้าสู่ขั้นตอน Pilot Plant Scale และเลือกพันธมิตรเพื่อร่วมมือพัฒนาในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ SCGP ยังได้ทำการวิจัยและพัฒนา Wooden Foodservice Packaging จากไม้ยูคาลิปตัส เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทดแทน ตอบโจทย์เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ และเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในอาเซียน และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นทางการปลูกจนถึงการแปรรูปไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

SCGP ยังคงมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวคิด ESG 4 Plus ทำให้บริษัทฯ เป็นที่ยอมรับและล่าสุด Sustainalytic ยังได้ประเมินอันดับ ESG Risk Ratings ของ SCGP ให้อยู่ในระดับ Low Risk ของกลุ่มอุตสาหกรรม Container & Packaging

 

Published on: Jul 27, 2023

(Visited 473 times, 1 visits today)