SCGP มุ่งสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ชวนพันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 40 บริษัท ร่วมยกระดับบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาวัตถุดิบ การออกแบบ การพัฒนาเทคโลยีและกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล จนถึงการส่งมอบถึงผู้บริโภค ในงานสัมมนา “SCGP Circularity in Action : Pursuit of Packaging Sustainability” ด้วยการแชร์แนวคิดและประสบการณ์ดำเนินงาน บนฐานความยั่งยืนจากพันธมิตรชั้นนำ
นายกรัณย์ เตชะเสน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูง บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญ กับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยครอบคลุมทั้งกระบวนการออกแบบสินค้า และบริการ รวมถึงกระบวนการผลิต โดยเน้นการออกแบบและผลิตเพื่อให้เจ้าของสินค้า (Brand Owner) รวมถึงผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย ใช้งานได้ง่าย ใช้ทรัพยากรในปริมาณน้อย แต่ยังคงได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ พร้อมผนึกความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการส่งเสริมแนวทางที่ยั่งยืนไปสู่ผู้บริโภค เพื่อสร้างสรรค์โลกที่สะอาดและยั่งยืน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ SCGP จึงได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “SCGP Circularity in Action : Pursuit of Packaging Sustainability” เพื่อแสดงความขอบคุณพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ตลอดทั้งกระบวนการผลิต จนถึงการส่งมอบถึงมือผู้บริโภค พร้อมกับการขยายการรับรู้และส่งเสริมแนวทางการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการแชร์ประสบการณ์ โดยได้เชิญ 3 พันธมิตรชั้นนำที่ SCGP เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน มาร่วมแบ่งปันแนวคิดในครั้งนี้
นายกฤตวิทย์ เลาหธนาพร กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม. วอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่ม “สปริงเกิล” กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับ SCGP ในการออกแบบและพัฒนาขวดน้ำดื่ม “สปริงเคิล” แบบใหม่ที่รีไซเคิลได้ง่าย และไม่มีฉลากเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมวางตลาดในเดือนตุลาคมนี้ โดยบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรง และแนวคิดการออกแบบให้เหลือเฉพาะสิ่งที่จำเป็น จึงนำรูปทรงการละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลกมาใช้ออกแบบขวดน้ำดื่มเพื่อสร้างความแตกต่าง นอกจากนี้ได้ลดการใช้ฉลาก โดยนำเทคโนโลยีพิมพ์ข้อความแบบอิงก์เจ็ตลงบนพื้นผิวขวดน้ำดื่มที่มาจากองค์ความรู้ และพัฒนาขึ้นเองด้วยระยะเวลาเกือบ 2 ปี สามารถล้างหมึกพิมพ์ด้วยกระบวนการรีไซเคิลทั่วไปได้และไม่มีสารอันตรายปนเปื้อนในน้ำ เป็นการลดพลาสติกลงไปอีกชิ้นจากการไม่มีฉลาก และทำให้ขวดน้ำนี้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายที่สุด
นางสาวศิริลักษณ์ ณรงค์ตะณุพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิเควเตอร์ เพียวเนเจอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติแบรนด์ “PiPPER STANDARD” (พิพเพอร์ สแตนดาร์ด) กล่าวว่า ได้ร่วมกับ SCGP เพื่อพัฒนาแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของบริษัทฯ ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% รวมถึงได้ร่วมกันจัดโครงการ “ข.ขวด พิพเพอร์ มารีไซเคิล” ในการนำขวดพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้ว มาคัดแยกประเภท ผ่านกระบวนการทำความสะอาด ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติก Post-Consumer Recycled Resin (PCR) ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นขวดใหม่ นับเป็นการเดินตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างครบวงจร
นายสุพจน์ เกตุโตประการ รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านวัสดุศาสตร์ เล็งเห็นว่าการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ทำจากพลาสติกชนิดเดียว หรือ Mono-material ซึ่งยังคงคุณสมบัติที่ดีของแพคเกจจิ้ง แต่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมวงจรรีไซเคิล จึงได้มีการพัฒนาโซลูชันในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเรามีแนวคิดด้านความยั่งยืนที่ตรงกันกับ SCGP และได้มีความร่วมมือกันในหลาย ๆ โครงการ เช่น การพัฒนาถุงข้าวตราฉัตรให้รีไซเคิลได้ง่าย และยังบางลงแต่แข็งแรงขึ้น ตอบโจทย์ทั้งการลดขยะและลดคาร์บอน สอดคล้องกับเจตนารมย์ของ Dow ที่มุ่งมั่นจะช่วยให้ลูกค้าของเรามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้สำเร็จเตามที่ตั้งใจ
“SCGP เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือจากพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้การสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ทั้งเทคโนโลยี การออกแบบ การทดลอง เพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต งานสัมมนาจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมพันธมิตร เพื่อร่วมกันหาโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนในการตอบสนอง ความต้องการของลูกค้าที่มีการใช้งานที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง SCGP มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป (Rigid Packaging) หรือบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) และยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าร่วมมือกับ SCGP ในการทำให้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ SCGP เติบโตอย่างมีคุณภาพ ก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 และที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมสังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน” คุณกรัณย์กล่าวเพิ่มเติม
Published on: Sep 25, 2023