SCGC ร่วมกับ สสน. ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดวิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้งของประเทศไทย

บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG โดยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการวิกฤตน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำชุมชน ให้เกิดการใช้งานอย่างเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ และสถานการณ์น้ำของประเทศไทย เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovation for Society) ให้ชุมชนเข้าถึงนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC กล่าวว่า “SCGC ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG (Environmental, Social and Governance) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยตระหนักดีว่า น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤตการณ์ด้านน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือน้ำแล้งในทุกภาคของประเทศไทยนั้น เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ความร่วมมือระหว่าง SCGC และ สสน. ในด้านการพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovation for Society) เพื่อหารูปแบบและวิธีแก้ปัญหาวิกฤตน้ำ อย่างบูรณาการในทุกมิติ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดย SCGC พร้อมนำความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการพัฒนานวัตกรรม อาทิ การเลือกวัสดุ การขึ้นรูป และการออกแบบนวัตกรรม จาก “ศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาต้นแบบสินค้า หรือ i2P Center (Ideas to Products)” ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์พัฒนาแอปพลิเคชันและนวัตกรรมเคมีภัณฑ์แห่งแรก ๆ ในภูมิภาคอาเซียน มาช่วยต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม ต่อสภาพพื้นที่และสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในอนาคต”

รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC กล่าวเพิ่มเติมว่า “SCGC ยังจะร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จาก “โครงการบริหารจัดการน้ำชุมชนบริเวณเขายายดา จ.ระยอง” รวมไปถึงแนวทางการดูแล การอนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ชุมชนมีน้ำสำหรับการเกษตร อุปโภคและบริโภคอย่างพอเพียงตลอดปี พร้อมทั้งได้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่เป็น “โมเดลการบริหารจัดการน้ำ ด้วยแนวคิด 2 สร้าง 2 เก็บ” ได้แก่ สร้างกติกา สร้างคน เก็บน้ำ เก็บข้อมูล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป”

SCGC ร่วมกับ สสน. ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการน้ำ

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. กล่าวว่า “สสน. เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินงานรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวมถึงวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตลอดจนขยายผลการทำงานโดยสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ สสน. ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต่อชุมชน สังคมส่วนรวม และประเทศชาติ ด้วยแนวคิดและเป้าหมายเดียวกันนี้ สสน. และ SCGC จึงประสงค์ที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีการจัดการน้ำชุมชน และข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ภายใต้ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย ให้เกิดงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างเหมาะสม รวมทั้งขยายผลไปยังหน่วยงานราชการ และชุมชน ให้สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการบริหารจัดการน้ำที่ดี นำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ผู้สนใจสามารถติดตามนวัตกรรมและข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://www.scg.com/esg/ https://scgnewschannel.com /Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

Published on: Nov 7, 2022 

(Visited 458 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว