ศูนย์นวัตกรรมครบวงจร SCGC จ.ระยอง – 15 กรกฎาคม 2568 : เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC นำโดยนายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการและนวัตกรรม และนายชาตรี เอี่ยมโสภณา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์เผยถึงการเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน แม้สถานการณ์ปิโตรเคมียังคงผันผวนและแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง เชื่อมั่น SCGC มีความพร้อมและมีศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อรับตลาดปิโตรเคมีในภูมิภาค ช่วงฟื้นตัวในอนาคต โดยได้ปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ เน้นการบริหารจัดการกระแสเงินสด เพื่อเสริมความเข้มแข็ง ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอกย้ำจุดแข็งสำคัญ อาทิ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับสากลเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง (HVA : High Value Added Products & Services) และพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การขยายและต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ รวมทั้งการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต (By – product) มาสร้างโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเผยถึงความคืบหน้าของโรงงานลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ประเทศเวียดนาม (LSP) ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อกลับมาดำเนินการเชิงพาณิชย์ คาดว่าประมาณปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน 2568 โดยบริษัทฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC เผยว่า “สถานการณ์ปิโตรเคมีในครึ่งปีหลัง ยังคงมีความผันผวนและแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนเรื่องภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ (US Tariff) การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจาก OPEC+ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อุปสงค์ (Demand) ยังคงชะลอตัว ในขณะที่อุปทาน (Supply) ยังคงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการหยุดผลิตของโรงงาน ที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำและต้นทุนสูง ซึ่งช่วยชดเชยส่วนของ อุปทานที่สูงขึ้น ดังนั้น คาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และจะอยู่ในภาวะทรงตัวอีกระยะ โดยพิจารณาได้จากส่วนต่างระหว่าง ราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ (Spread) ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2568”
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงในรอบนี้ จะรุนแรงและยาวนานกว่าปกติ แต่ SCGC พร้อมรับมือกับความท้าทาย และความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยมีกลยุทธ์ระยะสั้น ได้แก่ 1) การลดต้นทุนวัตถุดิบ ลดเงินทุนหมุนเวียน และลดค่าใช้จ่ายด้วย Digital และ AI 2) เร่งพัฒนากลุ่มสินค้า และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA (High Value Added Products & Services ) รวมไปถึงการพัฒนาพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) 3) เร่งขยายธุรกิจ Service Solutions ครบวงจร และ 4) การขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจาก PVC (PVC Fabrication) สำหรับกลยุทธ์ระยะยาว ได้แก่ การเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนที่โรงงาน LSP ประเทศเวียดนาม (โครงการ LSPE)” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าว

โดย SCGC ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอกย้ำจุดแข็งสำคัญในด้านต่าง ๆ อาทิ
1) กระบวนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับสากล (Innovation Management) เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products & Services หรือ HVA) รวมถึงพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมครบวงจร i2P Center” (Ideas to Products) โดยมีเครือข่ายนวัตกรรมจากทั่วโลก เพื่อช่วยลูกค้า เจ้าของแบรนด์ หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งพันธมิตรทางธุรกิจ ในการค้นหาไอเดียและเทรนด์ต่าง ๆ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบสินค้า การทดสอบขึ้นรูป ฯลฯ ซึ่งช่วยให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมกว่า 100 โครงการ

2) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ โรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI (Artificial Intelligence) และระบบ Robotics & Automation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) และยกระดับความปลอดภัยในโรงงาน นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยคาดการณ์อนาคตของเครื่องจักรในกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเครื่องจักรและกระบวนการผลิตเฉพาะของแต่ละโรงงาน เช่น ระบบ Robotics & Automation ของโรงงานนวพลาสติกอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตท่อและข้อต่อ PVC รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจาก PVC โดยมีสัดส่วนการนำหุ่นยนต์มาใช้ภายในโรงงาน (Robot Density) ระดับ Best in Class ของโลก
นอกจากนั้น ยังได้ต่อยอดความเชี่ยวชาญสู่ธุรกิจ Industrial Service Solutions พัฒนาโซลูชัน “DRS by REPCO NEX” (Digital Reliability Service Solutions) ซึ่งช่วยยกระดับการดูแลเครื่องจักร และเพิ่มความสามารถในการผลิต (Productivity) โดยให้บริการลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ อาหารเครื่องดื่ม และสาธารณูปโภค เป็นต้น

และ 3) การนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต (By – product) มาต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น การนำอะเซทิลีนที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตของโรงงานโอเลฟินส์ ไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) ซึ่งเป็นส่วนประกอบนำไฟฟ้า ในการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการนำผลพลอยได้ จากกระบวนการผลิต ของโรงงานพอลิโอเลฟินส์ ไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสาร Phase Change Material ซึ่งนำไปพัฒนาใช้ใน โซลูชันด้านการควบคุมอุณหภูมิ และประหยัดพลังงานสำหรับ ธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อาคารสำนักงาน และ data center ภายใต้แบรนด์ “CHILLOX” (ชิลล็อกซ์) เป็นต้น

“สำหรับความคืบหน้าของโรงงานลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ประเทศเวียดนาม (LSP) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ เพื่อกลับมาดำเนินการเชิงพาณิชย์ คาดว่าประมาณปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน 2568 โดยบริษัทฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าวทิ้งท้าย
Published on: Jul 15, 2025