บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในอาเซียน มุ่งสร้างการเติบโตควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน ตอกย้ำจุดแข็งการมีผลิตภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ และตอบ 5 เมกะเทรนด์โลกผ่านการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA พร้อมชูจุดแข็งมีฐานการผลิตใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เผยความคืบหน้าการลงทุนโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมีในเวียดนาม (Long Son Petrochemical Complex) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 ดันกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นจาก 6.9 ล้านตันต่อปี เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี พร้อมขยายโครงการ CAP 2 ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในอินโดนีเซีย
ภาวะโลกร้อน วิกฤตโควิด สังคมผู้สูงอายุ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้เหยียบคันเร่งให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง บางคนอาจมองเป็นอุปสรรค แต่ในอีกมุมก็ถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
24 พฤษภาคม 2565 SCGC ชูศักยภาพการเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ในอาเซียน ประกาศเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง HVA ตอบเมกะเทรนด์โลก พร้อมสร้างแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG และได้เปิดบ้านโชว์นวัตกรรมและเส้นทางการเติบโต ผ่านนิทรรศการ The House of Chemicals โดย 5 เมกะเทรนด์ที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับ SCGC ได้แก่
- การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce และ Food Delivery นำมาซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นำมาซึ่งการให้ความสำคัญกับสุขภาพ
- อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตต่อเนื่อง
- ความเป็นเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน
- การเติบโตของพลังงานทดแทน
ซึ่งพลาสติกเป็นวัสดุที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์เมกะเทรนด์เหล่านี้ สะท้อนความต้องการของตลาดที่เติบโตขึ้น ปัจจุบัน SCGC จัดจำหน่ายสินค้าในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่มอนอเมอร์ต้นน้ำและพอลิเมอร์ปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านตันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ณ เดือนธันวาคม 2564) ร้อยละ 19 หรือเกือบ 1 ใน 5
เจาะลึกสินค้า HVA นวัตกรรมตอบโจทย์ 5 เมกะเทรนด์ฉบับ SCGC
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจของ SCGC ถือว่ามีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์จะได้รับประโยชน์จากหลากหลายเมกะเทรนด์สำคัญของโลก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของ SCGC ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products & Services: HVA) และการพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) โดยในปี 2564 บริษัทมีสัดส่วนสินค้า HVA คิดเป็นประมาณ 36% ของรายได้รวม และในอนาคตมีเป้าหมายในการขยายสินค้ากลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573
โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA ที่ SCGC มุ่งเน้นเพื่อตอบรับเมกะเทรนด์เกิดขึ้น เช่น SCGC GREEN POLYMER™ เม็ดพลาสติก PVC และ PP เกรดพิเศษ และนวัตกรรมพลาสติก PE112
SCGC GREEN POLYMER™ ซึ่ง SCGC ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Reduce, Recyclable, Recycle และ Renewable เช่น การพัฒนา SMXTM Technology ทำให้เม็ดพลาสติกแข็งแรงทนทานขึ้น 20% สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต การพัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระบบการตรวจสอบย้อนกลับสากล ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
เม็ดพลาสติก PVC และ PP เกรดพิเศษสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ นวัตกรรมที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพ สามารถผ่านการฆ่าเชื้อได้หลายรูปแบบ ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยได้มากขึ้นและง่ายขึ้น สอดคล้องกับสภาวะของประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society) นวัตกรรมพลาสติก PE112 พลาสติกที่เกิดขึ้นเพื่อสอดรับกับความเป็นเมืองในอนาคต โดยจะถูกใช้สำหรับการผลิตท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ท่อส่งก๊าซ รวมไปถึงท่อเหมือง และยังมีนวัตกรรมพลาสติก PE และ PVC สำหรับหุ้มสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโดยเฉพาะ
นอกจากนี้เพื่อตอบโจทย์การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และการใช้พลังงานทดแทน SCGC ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์น้ำหนักเบา ขึ้นรูปได้ง่าย สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่บางลง แต่ยังคงความแข็งแรงได้ดี รวมถึงคิดค้นและพัฒนาทุ่นลอยน้ำเพื่อใช้ประกอบและติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำสำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย
ยกระดับมาตรฐานทั้งซัพพลายเชนด้วยการทำ Digital Transformation
นอกเหนือจากการมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ HVA เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 5 เมกะเทรนด์แล้ว เพื่อให้มาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพมากขึ้น SCGC ได้อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับโฉมตลอดทั้งซัพพลายเชน
ธนวงษ์กล่าวว่า นอกจากนวัตกรรมด้านสินค้าและบริการแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ตลอดทั้งซัพพลายเชน โดยนำเทคโนโลยีข้อมูล (Data Technology) มารวมกับเทคโนโลยีปฏิบัติงาน (Operational Technology) เพื่อยกระดับ Operational Excellence ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งการนำ Machine Learning เข้ามาเพื่อใช้คาดการณ์ราคาวัตถุดิบ การใช้แบบจำลองทางเลือกที่ดีที่สุด (Optimization Model) เพื่อมาช่วยให้การตัดสินใจเดินเครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีระบบ Real-time Performance Management เพื่อให้สามารถเห็นข้อมูลการเดินเครื่องจักรได้ตลอดเวลา สามารถบริหารการผลิตได้สอดคล้องตามสถานการณ์
นอกเหนือจากข้างต้นแล้ว ธนวงษ์กล่าวอีกว่า ได้มีการใช้ระบบ Digital Reliability Platform (DRP) เพื่อช่วยให้สามารถบำรุงรักษาเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบ Digital Commerce Platform (DCP) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขายและตอบสนองความต้องการของลูกค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น
ไทย-อินโดนีเซีย-เวียดนาม 3 ฐานผลิตดัน SCGC สู่ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์อาเซียน
จุดแข็งสำคัญของ SCGC ที่ช่วยผลักดันให้เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในอาเซียน คือการมีฐานการผลิตอยู่ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยทั้ง 3 ประเทศถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 440 ล้านคน คิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 21%
โดยปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตหลักของ SCGC ส่วนในอินโดนีเซีย SCGC ได้มีการลงทุนผ่านการถือหุ้น 30% ใน Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) และสำหรับในเวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมี (Long Son Petrochemical Complex) ซึ่งบริษัทถือเป็นรายแรกที่เข้าไปลงทุน (First Mover)
ธนวงษ์กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการ LSP ในเวียดนามว่า ขณะนี้การก่อสร้างได้เดินหน้าไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งจะมีส่วนให้ SCGC มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นราว 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเดินเครื่องจักร นอกจากนี้โครงการดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีในรูปแบบ Flexible Cracker มาใช้ เพื่อช่วยให้โรงงานสามารถเลือกวัตถุดิบเข้ามาใช้ในการผลิตได้หลากหลายยิ่งขึ้น และมีทำเลที่ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ช่วยสร้างความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพ
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 27,068 ล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายในธุรกิจเคมีภัณฑ์ อย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบและพลังงาน อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม โดย SCGC เชื่อมั่นว่าการมุ่งพัฒนาสินค้า HVA ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG การขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ จะทำให้บริษัทสามารถก้าวผ่านความท้าทาย และเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะช่วยให้บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต
Published on: Jun 10, 2022