SCGC เดินหน้าส่งเสริม Eco School สร้างเยาวชนต้นแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จับมือภาครัฐและโรงเรียน ลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนการจัดการขยะ เพิ่มปริมาณการรีไซเคิล เน้นให้เยาวชนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

ระยอง – 14 กุมภาพันธ์ 2566 เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ร่วมกับ เทศบาลเมืองมาบตาพุด สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยผ่านภาคการศึกษา เพื่อปลูกฝังและพัฒนาเยาวชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับมัธยมศึกษา เน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยบูรณาการบทเรียนด้านการจัดการขยะของโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร พร้อมจัดตั้งธนาคารขยะให้เป็นพื้นที่กิจกรรม และเรียนรู้เส้นทางของขยะรีไซเคิล รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการคัดแยก และรวบรวมขยะรีไซเคิล เพื่อหมุนเวียนกลับมาสร้างประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังจะนำเว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) ระบบดิจิทัลซึ่งพัฒนาโดย SCGC มาใช้ในการบริหารจัดการธนาคารขยะให้มีประสิทธิภาพ  ช่วยเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล ลดการฝังกลบ และส่งเสริมแนวทางโรงเรียนเชิงนิเวศ หรือ Eco School ในจังหวัดระยองอย่างเป็นรูปธรรม

นายมงคล เฮงโรจนโสภณ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมและเผยแพร่ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล และลดการฝังกลบ ผ่านการให้ความรู้ ด้านการจัดการขยะภายใต้โครงการ  ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ และพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า (KoomKah)’ เพื่อช่วยบริหารจัดการข้อมูลให้แก่ธนาคารขยะ และได้ต่อยอดสู่โครงการ ‘ถุงนมกู้โลก’ เพื่อให้เยาวชนในระดับอนุบาล และประถมศึกษาได้เรียนรู้การจัดการขยะถุงนมที่มีจำนวนมากอย่างถูกต้อง โดยนำถุงนมใช้แล้วไปอัปไซเคิลเป็นเก้าอี้โรงเรียน ทำให้เยาวชนได้เห็นตัวอย่างจริงของการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งคาดหวังว่าโครงการต่างๆ จาก SCGC จะช่วยสร้างพฤติกรรมการจัดการขยะ อย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก และถ่ายทอดสู่ครอบครัวและชุมชนต่อไป”

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายผลโครงการด้านการจัดการขยะ ร่วมกับหน่วยงานราชการและโรงเรียนในพื้นที่ โดยเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมโรงเรียนเชิงนิเวศ หรือ Eco School มุ่งเน้นที่เยาวชนระดับมัธยมศึกษา เพื่อสร้างเยาวชนและโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ SCGC ได้นำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ การคัดแยกขยะแก่นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารแล้ว และจะต่อยอดด้วยการนำวัสดุรีไซเคิลโดยเฉพาะพลาสติก ไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์  พร้อมทั้งนำระบบดิจิทัล ‘คุ้มค่า (KoomKah)’ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ ของธนาคารขยะในโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งเยาวชนสามารถเรียนรู้ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง”

พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอย

นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด เผยว่า “เทศบาลเมืองมาบตาพุด ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะ เพื่อสร้างชุมชนที่สะอาดปลอดภัย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชุมชนและประเทศในเรื่องการจัดการขยะ ในความร่วมมือครั้งนี้ ทางเทศบาลเมืองมาบตาพุด จะเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่เยาวชนร่วมกับ SCGC พร้อมติดตามผลเพื่อพัฒนาปรับปรุงการให้ความรู้ รวมถึงจัดทำสถานีขยะอินทรีย์ เพื่อให้ขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ได้ไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์เป็นปุ๋ย ไม่ไปปนเปื้อนกับขยะอื่น ๆ ที่ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ มุ่งสร้างกระบวนการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาขยะในชุมชน และเพิ่มการรีไซเคิล”

นายฉกาจ พัฒนศรี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กล่าวว่า “สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมให้การสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ด้านการจัดการขยะแก่เยาวชน โดยร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การคัดแยกขยะ อาทิ ถุงใส่ขยะ และอุปกรณ์คัดแยกขยะอินทรีย์ เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนและทางโรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และสนับสนุนธนาคารขยะในโรงเรียนให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสาร และส่งต่อพฤติกรรมการจัดการขยะให้แก่ชุมชนภายนอกต่อไป”

นายวิชัย ยิ่งประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร กล่าวเสริมว่า “SCGC ได้มาอบรมให้ความรู้พื้นฐานเรื่องการคัดแยกขยะภายในโรงเรียนให้นักเรียนและบุคลากรได้มีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกวัสดุต่าง ๆ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน ร่วมกับทางโรงเรียนในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนให้เยาวชนได้ต่อยอด เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ค่ายการจัดการขยะ การศึกษาดูงานบ่อขยะและธนาคารขยะชุมชน กิจกรรมเรียนรู้การแยกขยะกับธนาคารขยะ เป็นต้น มุ่งสร้างเยาวชนที่มีความรู้ความเข้าใจพร้อมเป็นเยาวชนต้นแบบ สามารถสื่อสารถึงความสำคัญ กระบวนการ และผลลัพธ์ของการจัดการขยะอันเป็นหัวใจสำคัญ ของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่สาธารณะได้”

โครงการ ‘ถุงนมกู้โลก’

โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จ.ระยอง มีนักเรียนจำนวนกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นนักเรียนในระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย และมีบุคลากรในโรงเรียนกว่า 180 คน สำหรับขยะภายในโรงเรียนที่พบเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ขยะเศษอาหาร ขวดน้ำดื่มพลาสติก และภาชนะกระดาษ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.scgchemicals.com

Published on: Mar 16, 2023

(Visited 328 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว