เอสซีจี “องค์กรแห่งโอกาส” หลอมรวมคุณค่าของคน ร่วมสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม GREEN

หากเอ่ยชื่อองค์กรธุรกิจไทย ที่ยืนหยัดยาวนานมากว่าศตวรรษ หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อเอสซีจี

The Story Thailand ได้มีโอกาสสนทนากับ ปรเมศวร์ นิสากรเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี ถึงแนวทางสืบสานองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นใน “คน” ที่เป็นแกนกลางของการบริหารงาน และ “คุณค่าของคน” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ 4 ขององค์กร (ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม)

การขับเคลื่อนเอสซีจีสู่การเป็น “องค์กรแห่งโอกาส” (Organization of Possibilities) จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนา ส่งเสริมคนในเจเนอเรชันต่าง ๆ ทั้งพนักงานในองค์กร ผู้ร่วมธุรกิจ หรือบุคคลทั่วไป ได้มีเวทีแสดงพลังความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด ได้มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ทดลอง และทดสอบ เพื่อหลอมรวมไอเดียและต่อยอดเป็น “นวัตกรรมกรีนรักษ์โลก” ตามแนวทาง Inclusive Green Growth ที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม ตลอดจนสร้างการเติบโตทั้งต่อตัวเองและองค์กร

การขับเคลื่อนเอสซีจีสู่การเป็น “องค์กรแห่งโอกาส” (Organization of Possibilities)

ปรเมศวร์ กล่าวว่า ทรัพยากรบุคคล คือ หัวใจของการแข่งขันในอนาคต เป็นสิ่งที่แข่งขันได้ยากที่สุด เอสซีจีจึงให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับดีเอ็นเอขององค์กร เชื่อในวัฒนธรรมและคุณค่าอย่างเดียวกัน เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปเป็น กำลังสำคัญขององค์กรในอนาคต

“คุณสมบัติสำคัญ 2 ประการที่คนเอสซีจีต้องมี คือ “การเป็นคนดี” ตามแนวคิดขององค์กร หมายถึง การทำธุรกิจอย่างเป็นธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม และ “การเป็นคนเก่ง” หมายถึง เก่งคิด เก่งเรียน เก่งคน เก่งเทคโนโลยี ภายใต้นิยามที่ตอบโจทย์ในแต่ละธุรกิจ”

หลอมรวมคุณค่าคน วัฒนธรรม นวัตกรรม ชูองค์กรแห่งโอกาส สร้าง Inclusive Green Growth

“คน นวัตกรรม วัฒนธรรม” สามองค์ประกอบที่ถูกบริหารจัดการแบบองค์รวม

ปรเมศวร์ กล่าวว่า “คน” จะสร้างนวัตกรรมหรือมีนวัตกรรมได้ องค์กรต้องส่งเสริมองค์ความรู้ จัดกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนด้านทรัพยากรอย่างเหมาะสม ส่วนการทำให้ “นวัตกรรม” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องปลูกฝังการสร้างนวัตกรรมให้เป็น “วัฒนธรรม” ขององค์กร ให้อยู่ในดีเอ็นเอของคนเอสซีจีในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาอย่างยาวนาน ทำให้องค์กรต้องปรับตัวให้เท่าทันบริบท และความต้องการของพนักงาน ที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย อาทิ ความก้าวหน้าในตำแหน่งหรือสายอาชีพที่ไม่ได้ขึ้นกับอายุงาน หรือขั้นตอนการพิจาณาเช่นในอดีต การปรับปรุงกระบวนการทำงาน หรือสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ (Flexible Benefit) เช่น การทำงานจากบ้าน การจัดแพ็คเกจสวัสดิการให้พนักงาน เลือกได้ตามความเหมาะสม กับการดำรงชีวิต การลงทุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการสนับสนุนการทำงาน หรือการจัดตั้งหน่วยงานนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมบุคลากรทั้งในและนอก องค์กรได้แสดงศักยภาพ ในการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่

– SCG ปรับสวัสดิการพนักงานครอบคลุมทุกเพศ-วัย ลาผ่าตัดแปลงเพศได้ไม่เกิน 30 วัน

“เราต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาส ปลดปล่อยพลังอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเอง” ปรเมศวร์ กล่าว

เอสซีจีได้ริเริ่มแนวคิดและโครงการที่หลากหลาย เพื่อร่วมพลังสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ต่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมแนวคิดเรื่อง “Inclusive Green Growth” เพื่อให้คนทุกกลุ่มทุกวัยมีส่วนร่วมสร้างการเติบโต ขององค์กรบนแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดทำ “โครงการ Zero to one” ที่เปิดโอกาสให้พนักงานในองค์กรได้ริเริ่ม ไอเดียในการสร้างนวัตกรรม พร้อมทั้งสนับสนุนให้ก้าวไปสู่ การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน สร้างเสริมให้เกิดทาเลนต์ (Talent) ในองค์กรมากขึ้น ผ่านการจัดอบรมความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เรื่องของลีนสตาร์ตอัพ (Lean Startup) วิถีการทำงานแบบ Scum และ Agile เพื่อการทำงานที่ฉับไว และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การจัดตั้งหน่วยงาน “Adventure By SCG” ในรูปแบบ Corporate Venture เพื่อดึงบุคลากรจากภายนอก เข้ามาทำงานร่วมกับพนักงานในองค์กร “โครงการ Young Talent Program” เวทีปล่อยของสำหรับน้อง ๆ นักศึกษา ในการทดลองทดสอบไอเดีย ภายใต้การดูแลโดยพี่เลี้ยง (Mentor) และการสนับสนุนด้านทรัพยากรอื่น ๆ ที่เหมาะสม ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาเพื่อดึงทาเลนต์รุ่นใหม่เข้ามาในองค์กร

ปัจจุบัน เอสซีจีมีพนักงานราว 56,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่น GEN Y แบ่งเป็นชาย 75% หญิง 25% และเกือบครึ่งหรือประมาณ 45% ทำงานอยู่นอกประเทศ จึงต้องมีแผนรับมือกับ “ความหลากหลาย (Diversity)” อาทิ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมการทำงาน ของบุคลากรจากหลายประเทศ ความหลากหลายทางเพศ และช่องว่างระหว่างวัยในการทำงาน

“เรามีการจัดตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า Diversity Committee ซึ่งรายงานขึ้นตรงต่อคณะจัดการในเครือ สะท้อนว่า ความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ ขณะเดียวกัน  ต้องมีแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน (Inclusive) เพื่อกำจัดช่องว่าง และบูรณาการการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ”

SCG HAPPY SPACE

คุณปรเมศวร์ กล่าวว่า เอสซีจีต้องการสื่อสารให้ทุกคนทราบว่า เราคือองค์กรที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่อยากปล่อยพลัง เพื่อสร้างผลกระทบทางบวกให้กับสังคม ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งมีทัศนคติที่ไม่ได้หวัง ความร่ำรวยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการทำบางสิ่งที่ตอบโจทย์เป้าประสงค์บางอย่าง ในชีวิตที่ใหญ่กว่าตัวเอง (Sense of Purpose) เช่น การให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นเก่า

Zero to One ประตูสู่โอกาสการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

โครงการ Zero to One เป็นโครงการพัฒนาพนักงานในองค์กรสู่การผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ตอัพ โดยไอเดียของพนักงานที่ฉายแววแจ้งเกิด องค์กรพร้อมผลักดันเข้าสู่ “HATCH-WALK-FLY” โดยขั้นตอน HATCH เป็นกระบวนการเรื่อง Idea Generation ในการคิดค้นบ่มเพาะไอเดีย ต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันได้จริง จากนั้น จึงเข้าสู่ขั้นตอน WALK ในการออกแบบโมเดลธุรกิจ การวางแผนธุรกิจและทดลองดำเนินงานจริง ก่อนผ่านสู่ขั้นสุดท้าย คือ FLY ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อประกอบธุรกิจจริง ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 800 คน หลายร้อยไอเดียอยู่ในขั้น HATCH ขณะที่หลายไอเดียไปต่อถึงขั้น FLY  อาทิ “Dezpax” แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี หรือธุรกิจค้าปลีกรายย่อย “Wake Up Waste” แพลตฟอร์มและรถบีบอัดเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ปรเมศวร์เรียกกระบวนการสรรหาโดยภาพรวมว่า รันเวย์ (Runway) ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 3-9 เดือน ในการรวบรวมและคัดเลือกไอเดียมาทำเวิร์คชอป ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการต้องพิสูจน์ว่า ไอเดียของพวกเขาจะไปต่อในขั้น Walk หรือ Fly ได้หรือไม่

“ขณะนี้ มีราว 10 โครงการ ที่พร้อมจัดตั้งเป็นธุรกิจ ซึ่งมีทั้งโครงการที่จัดตั้งสำเร็จไปแล้ว โครงการที่อยู่ในระหว่างหาผู้รับช่วงต่อ หรืออยู่ในขั้นระดมทุนทั้งแบบซีรีส์เอและบี และโครงการที่ส่งมอบให้หน่วยธุรกิจในองค์กรไปดำเนินการต่อ”

Zero to One ประตูสู่โอกาสการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

Wake up Waste แพลตฟอร์มและรถบีบอัด เพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน จากโครงการ Zero to One

จากแนวคิดสู่นวัตกรรม “ย่อขยะให้ขยายโอกาส” Wake up Waste หนึ่งในผลผลิตจากโครงการ Zero to One ที่ตกผลึกเป็นกระบวนการจัดการขยะแบบ “แยก-ย่อ-ย่อย” โดยการแยกขยะให้ถูกประเภท การย่อขยะให้เล็กลงเพื่อลดพื้นที่ และสะดวกในการขนส่ง เพื่อให้ขนส่งง่าย ลดพื้นที่กองเก็บ ลดฝุ่น ลดค่าน้ำมันขนส่ง และการย่อยขยะโดยนำส่งโรงงานรีไซเคิล

ภัทรพร วงศ์ปิยะสถิตย์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Wake up Waste สตาร์ตอัพเจ้าของแพลตฟอร์มและรถบีบอัด เพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า Wake up Waste เกิดจากไอเดียเรื่องปัญหาขยะที่ควรถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยใช้เวลาราว 16 เดือน ในการบ่มเพาะไอเดีย พัฒนาโซลูชันต้นแบบ และทดสอบโมเดลธุรกิจ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นการประเมิน ขีดความสามารถในการจัดตั้งเป็นธุรกิจ ซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ 18 เดือน

ตลอดการทดลองดำเนินธุรกิจราว 20 เดือนที่ผ่านมา สามารถเก็บขยะรีไซเคิลเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 1,150 ตัน ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ 750,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์ (kgCO2e) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ราว 6 หมื่นต้น การร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการใช้งานแพลตฟอร์มที่ลดการใช้กระดาษ รถบีบอัดที่ลดพื้นที่ขยะกองเก็บได้ 5-10 เท่า ลดน้ำมันในการขนส่ง ลดฝุ่น และลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทั้งแพลตฟอร์มยังได้รับรางวัล “Marketing Award Thailand 2023” หมวดความยั่งยืน (Sustainability) จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566

การส่งมอบคุณค่าถึงมือลูกค้า ทั้งในเรื่องการเพิ่มส่วนต่างรายได้ที่สูงขึ้น จากการแนะนำต้นทาง ในการแยกขยะให้ถูกประเภท การพัฒนาแอปพลิเคชันในการจัดเส้นทางรถขนขยะ (Route Optimization) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และการสร้างความโปร่งใสของข้อมูล (Data Transparency) ผ่านการใช้แอปพลิเคชันที่สามารถสรุปตัวเลขการลดขยะและค่าคาร์บอน การชั่งน้ำหนักขยะแบบดิจิทัล สรุปยอดซื้อขายและออกใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ได้ถูกต้องแม่นยำและโปร่งใส

ภัทรพร เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางทีมมีความเห็นตรงกัน ที่จะดำเนินงานภายใต้ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลล์ (SCGC) ซึ่งเป็นต้นสังกัดเดิมไปก่อน เพื่อให้มีฐานลูกค้ามากพอในการขยายธุรกิจ สามารถสร้างผลกำไรเลี้ยงตัวเองได้ยั่งยืน จึงจะถึงเวลาแยกไปจัดตั้งเป็นบริษัท สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 นี้ ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าจากเดิมกว่า 300 อาคาร เป็น 1,400 อาคาร เพื่อให้การดำเนินงานถึงจุดคุ้มทุน ครอบคลุมค่าใช้จ่าย และทำกำไรได้ดี ตลอดจนการพัฒนาระบบให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจขยายตัวได้มีประสิทธิภาพ

“ความสำเร็จของ Wake up Waste มี Zero to One เป็นเสมือนแซนด์บ็อกซ์ ที่ช่วมบ่มเพาะการเรียนรู้ธุรกิจ และพิจารณาให้ลึกว่า โซลูชันของเราเป็นยาแก้ปวดให้ลูกค้าจริง ๆ หรือเป็นแค่วิตมิน ทั้งยังมีเพื่อนร่วมงานและลูกค้า คอยให้การสนับสนุน หากไม่มีโครงการนี้ เราคงเป็นแค่พนักงานประจำ ที่รับผิดชอบงานแบบเดิม ๆ ต้องขอบคุณเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ได้เปลี่ยนผ่านไอเดียไปสู่ธุรกิจ ที่เรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในอนาคต”

Wake up Waste แพลตฟอร์มและรถบีบอัดเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

KIT CARBON คิดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากโครงการก่อสร้าง ตามแนวทาง Inclusive Green Growth

KIT CARBON เป็นแพลตฟอร์มคำนวณค่าคาร์บอน ที่เกิดจากวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง (Embodied Carbon) เพื่อประกอบการออกแบบ โครงการก่อสร้างและการเลือกใช้วัสดุที่ลดการปล่อยคาร์บอน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลงานของทีมเทคโนโลยีดิจิทัล CPAC Green Solution ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เพื่อยกระดับมาตรฐานและนวัตกรรมการก่อสร้าง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Construction)

“ไอเดียเริ่มต้น คือ อยากทำเรื่องกรีนเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง ประกอบกับการเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เช่น การออกแบบและวางแผน การก่อสร้างอาคาร 3 มิติในระบบดิจิทัล (Digital Construction) จึงอยากเอาความชำนาญมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์”

พงศ์พันธ์ สุทธิชัย Virtual Design Construction Manager, CPAC Green Solution กล่าวว่า การคำนวณค่าคาร์บอนในวงการธุรกิจก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ค่าคาร์บอนที่เกิดการใช้งานอาคาร (Operational Carbon) เช่น การเปิดน้ำ เปิดไฟ และค่าคาร์บอนที่เกิดจาก การใช้วัสดุก่อสร้าง (Embodied Carbon) โดยคำนวณจากสมการ “การนำค่าปริมาณวัสดุก่อสร้างคูณกับ ค่าปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากวัสดุก่อสร้างนั้น ๆ” ซึ่ง Embodied Carbon เป็นสิ่งที่ทีมให้ความสนใจ จึงเริ่มต้นเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยราว 2-3 เดือน และพบเพนพอยต์สำคัญ คือ การขาดตัวคูณด้านข้อมูลค่าปริมาณคาร์บอน ที่เกิดจากวัสดุก่อสร้างแต่ละชนิด เช่น ข้อมูลปริมาณคาร์บอนต่อคอนกรีตหนึ่งหน่วย เป็นต้น

KIT CARBON คิดเพื่อลดการปล่อย คาร์บอนจากโครงการก่อสร้าง

แนวทางการพัฒนาจึงเป็นการถอดค่า ปริมาณคาร์บอนของวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต ไม้ สร้างเป็นฐานข้อมูลการคำนวณไว้ในแพลตฟอร์ม KIT CARBON ซึ่งใช้เวลาพัฒนาอีกราว 3-4 เดือน จึงสำเร็จเป็นแพลตฟอร์มต้นแบบสู่การใช้งาน โดยได้รับความร่วมมือจาก พาร์ตเนอร์ธุรกิจ อย่างบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) บริษัท Thai Obayashi และอีกหลายทีม มาร่วมทดสอบทดลองใช้แพลตฟอร์ม และให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

พงษ์พันธ์กล่าวถึงคุณค่าที่ลูกค้าได้รับ ตัวอย่างเช่น การมีแพลตฟอร์มคำนวณค่าคาร์บอน เพื่อใช้ประโยชน์ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน แลกเปลี่ยนได้จริงในกิจกรรมภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) หรือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับ องค์กรหรือบุคคลทั่วไปในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น หรือการใช้ KIT CARBON ในการออกแบบและปรับปรุงสเปคก่อสร้าง ร่วมกับกับทีมออกแบบของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG  เพื่อให้ปั๊มน้ำมัน PT เป็นปั๊มน้ำมันที่ลดค่าคาร์บอนได้

เป้าหมายในอนาคต คือ การตั้งค่าและกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการคำนวณค่าคาร์บอนในอาคารหนึ่งอาคาร ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขยายผลความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม

“ภายใต้วัฒนธรรมขององค์กรแห่งโอกาส KIT CARBON ได้รับการสนับสนุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเงินทุน เวลา การให้แนวคิดและแนวทาง ตลอดจนความช่วยเหลือจากพาร์ตเนอร์ เป็นการตอบโจทย์เรื่อง Inclusive ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย มาช่วยกันพัฒนาและสร้างการเติบโต” พงศ์พันธ์ กล่าวปิดท้าย

 

ที่มา THE STORY THAILAND

Published on: Jun 24, 2024

(Visited 541 times, 1 visits today)