เอสซีจี ใหญ่อย่างนี้อย่าคิดว่าเจอโควิด-19 แล้วไม่สะเทือน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส บอสใหญ่ SCG เล่าเรื่องวิกฤติโควิด พร้อมเผย 3 วิธีคิดรับมือกับความท้าทาย 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอสซีจี คนที่ 11 ต่อจาก กานต์ ตระกูลฮุนในปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ “รุ่งโรจน์” ยุคหนึ่งของ เอสซีจี ที่ทำรายได้ในปีนั้นสูงถึง  450,573 ล้านบาท เม็ดเงินกำไร 56,080 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นปัญหาและความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ ก็เดินหน้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่นสงครามการค้าจีนกับอเมริกา ดิจิทัลดิสรัปชั่น ตลาดเปลี่ยนผู้บริโภคเปลี่ยน จนต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ในหลาย ๆ เรื่อง พร้อม ๆ กับเร่งทรานส์ฟอร์มทั้ง 3 ธุรกิจหลัก เพื่อความอยู่รอด

ที่สำคัญต้องเจอกับช่วงขาลงของธุรกิจเคมิคอลล์ ธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินกำไรและรายได้สูงสุดให้เอสซีจีมานานหลายปี  ล่าสุด เต็ม ๆ กับมรสุมของวิกฤตโควิด-19 ที่รุ่งโรจน์ยอมรับว่าหนักกว่าทุก ๆ ครั้ง เจอหนักขนาดนี้ คนเป็นผู้นำ จะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ อย่างไร

เปรียบเทียบรายได้ธุรกิจหลักของ SCG 2558-2562

3 วิธีคิด เพื่อรับมือกับปัญหาของความท้าทาย 

รุ่งโรจน์บอกว่าหลักคิด 3 อย่างของเขาคือ

  1. การเข้ามาเป็นผู้นำคอยคุมทิศทางขององค์กร ต้องทำใจยอมรับให้ได้ตั้งแต่ตอนแรกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่แฮปปี้กับมัน หรือรับไม่ได้จะทำงานลำบาก
  2. ต้องคิดเตรียมตัวในการมองไปข้างหน้าว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ซึ่งการเตรียมตัวได้ดีนั้นต้องเป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้ ซึ่งไม่ใช่ความรู้ในตำราอย่างเดียวต้องมองไปถึงเทรนด์ของลูกค้า และตลาดด้วยว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร องค์กรหรือพนักงานมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปแบบไหน โดยบางเรื่องเราแค่รับรู้ก็พอ ไม่ต้องทำอะไร แต่บางเรื่องรับรู้แล้วต้องรีบแก้ไขเปลี่ยนแปลงในตอนนั้นเลย
  3. ต้อง Speed ข้อเสียขององค์กรใหญ่ คือความล่าช้าในการทำงาน ปรับตัวไม่ทันกับความต้องการของตลาด ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม รวมทั้งการแข่งขัน ดังนั้น ผู้บริหารต้องเข้าใจว่า เวลา เป็นทรัพยากรที่หาได้ยาก

วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เรื่องเล่าที่เจ็บปวดของคนเอสซีจี

ไม่น่าเชื่อว่าองค์กรที่มียอดขาย 4-5 แสนล้านบาทในวันนี้ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ขาดทุนกว่า 52,551 ล้านบาท  

ในปี 2540 ด้วยความ “ใหญ่” ของเอสซีจี ใคร ๆ ก็อยากร่วมลงทุน ใคร ๆ ก็อยากให้กู้เงิน รู้ตัวอีกทีปีนั้นเอสซีจีมียอดหนี้เงินกู้สูงถึง 246,700 ล้านบาท เป็นบริษัทที่มีหนี้สินสูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ เป็นเรื่องเล่าที่เจ็บปวดของคนใน เอสซีจี กันเลยทีเดียว แต่จากการปรับองค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้ในปี 2547 สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ถึง 36,000 ล้านบาท  รุ่งโรจน์บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนั้นกับครั้งนี้ต่างกัน

“โควิด-19 ถือว่ารุนแรงมากกว่า เพราะเกิดพร้อมกันทั้งโลก และนี่คือภาค 1 เท่านั้นเอง จะมีภาค 2 ภาค 3 ที่รุนแรงขนาดไหนเราไม่รู้ แต่ครั้งนี้เอสซีจีเองมีความพร้อมมากกว่าปี 2540 วันนี้ฐานะการเงินเรามั่นคง ถึงแม้ตอนนี้จะมีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่เป็นเรื่องที่เราจัดการเรื่องไฟแนนซิ่งแล้ว เช่น โครงการใหญ่ปิโตรเคมีที่เวียดนามเรามั่นใจว่าเราสามารถซัปพอร์ตทั้งโครงการให้จบได้” 

ความต่างอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อปี 2540 เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งนี้เริ่มต้นจากสุขภาพ เริ่มต้นจากความปลอดภัยของคน ทำให้ธุรกิจบางอย่างที่คนต้องติดต่อกันหายไปหมด แล้วไม่รู้ว่าอีกนานขนาดไหนจึงจะจบ ตอนนี้มีหลายคนพูดว่า อย่าไปคิดเลยว่าจะจบยังไง ให้ทำใจไปเลยว่ามันต้องเป็นแบบนี้ล่ะ ร้านอาหาร การเดินทางก็ต้องปรับแบบนี้ล่ะ  ดังนั้นต้องเรียนรู้เหตุการณ์จากตรงนี้ เพื่อไปปรับใช้กับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต

ดังนั้นไม่ต้อง Forecast อะไรล่วงหน้า คิดว่าทำอย่างไรให้ขายของลูกค้าได้ เซอร์วิสได้ เพราะเอสซีจีไม่ได้เจอแบบสายการบินที่ไม่มีลูกค้าเลย แต่นี่ยังมีลูกค้าซึ่งถ้าทำได้ดี องค์กรก็รอดแน่นอน และพอผ่านจุด Survivor ไปแล้ว เตรียมตัวออกจากโรงพยาบาลไปพักที่บ้าน แต่ยังไม่หาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้เวลาขนาดไหน จะมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาอีกหรือเปล่า จะติดอีกมั้ย หลายประเทศเป็นแบบนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้

อ่านทั้งหมดได้ที่ MARKETEERONLINE.COM

(Visited 647 times, 1 visits today)