เอสซีจี เผยเดินหน้าแผน ‘Passion for Inclusive Green Growth’ ชู 4 เครื่องยนต์หลัก ‘องค์กรคล่องตัว – นวัตกรรมกรีน – องค์กรแห่งโอกาส – ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ มุ่งสร้างสังคม Net Zero ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 กล่าวถึงภารกิจ และความมุ่งมั่นของเอสซีจี (Business Purpose) ภายใต้แนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ ซึ่งถือเป็นก้าวต่อยอดจาก ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ยึดหลักความไว้วางใจและโปร่งใส) ของเอสซีจีให้แข็งแกร่ง เข้มข้นยิ่งขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกทั้งด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Geopolitics) และโลกเดือด (Climate Crisis) ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ในวงกว้าง
“โลกข้างหน้าจะมีความไม่แน่นอนสูง เราต้องเตรียมพร้อมธุรกิจทั้งรุกและรับ ถ้าเอสซีจีมองโจทย์ระยะสั้น 3-5 ปี เราจะคิดแบบหนึ่ง แต่เอสซีจีอยากอยู่ไปอีก 50-100 ปี เราจึงต้องเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ สร้างความมั่นคงในระยะยาว พร้อมกับเดินไปสู่สังคม Net Zero ซึ่งต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมกรีน ปรับกระบวนการผลิตสู่คาร์บอนต่ำ โดยมีกำไรได้ เอสซีจีก็จะเติบโตต่อเนื่อง”
4 เครื่องยนต์หลัก ขับเคลื่อน ‘Passion for Inclusive Green Growth’
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า เอสซีจีตั้งเป้าเดินหน้าในเรื่องต่าง ๆ แต่โดยภาพรวมทุกธุรกิจในเอสซีจี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ‘เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน (SCG Cement and Green Solutions)’ ‘เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง (SCG Smart Living)’ ‘เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล (SCG Distribution and Retail)’ ‘เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC)’ ‘เอสซีจีพี (SCGP)’ ‘เอสซีจี เดคคอร์ (SCG Decor)’ ‘เอสซีจีเจดับเบิ้ลยูดี (SCGJWD)’ รวมถึงธุรกิจใหม่ ‘เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ (SCG Cleanergy)’ จะต้องโตไปแบบ ‘Passion for Inclusive Green Growth’ คือ มุ่งสร้างสังคม Net Zero ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมกรีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ทุกคนต้องก้าวเดินและรอดไปด้วยกัน
แนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ ขับเคลื่อนผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก คือ 1) องค์กรคล่องตัว (Agile Organization) 2) นวัตกรรมกรีน (Green Innovations) 3) องค์กรแห่งโอกาส (Organization of Possibilities) และ 4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society)
นายธรรมศักดิ์ ย้ำว่า เอสซีจีกำลังสร้าง ‘องค์กรคล่องตัว’ สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เร็ว ยืดหยุ่นสูง และหากธุรกิจไหนมีศักยภาพเติบโตสูงสามารถแยกออกจากเอสซีจีได้ (Spin Off) โดยต้องเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและโตแบบกรีน ภายใต้กลยุทธ์ ESG 4 Plus ซึ่งถือเป็นหัวใจการทำธุรกิจของเอสซีจี ขณะเดียวกัน บริษัทแม่อย่างเอสซีจีจะทำหน้าที่มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กร
ทุกธุรกิจของเอสซีจีสามารถเติบโตตามแนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ โดยผนวกเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนา ‘นวัตกรรมกรีน’ อย่างเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน เร่งผลักดันปูนคาร์บอนต่ำ ได้รับการยอมรับทั้งไทยและต่างประเทศ ปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำ เจนเนเรชันที่ 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรก อีกร้อยละ 5
สำหรับเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งมุ่งสู่นวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก หรือ SCGC GREEN POLYMERTM 1 ล้านตันในปี 2573 โดยด้านหนึ่งได้ร่วมมือกับ Braskem ผู้นำพลาสติกชีวภาพระดับโลก จากประเทศบราซิล ใช้จุดเด่นของประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม นำผลิตผลจากภาคเกษตรมาพัฒนาเป็นพลาสติกชีวภาพ ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและได้พลาสติกรักษ์โลกที่ผลิตคาร์บอนเป็นลบ (Negative carbon footprint) สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย
ขณะที่ เอสซีจีพี มีการใช้วัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลกว่าร้อยละ 95 รวมทั้งการปลูกป่ายูคาลิปตัส ซึ่งไม่เพียงที่ป่าจะสามารถดูดซับคาร์บอน แต่ยังช่วยให้เกษตรกรได้มีรายได้เสริมจากการปลูกป่ายูคาลิปตัสอีกด้วย
ส่วน เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ มีโอกาสเติบโตสูง ขยายตัวได้อีกมาก เพราะประเทศไทยและทั่วโลกมีความต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การเดินหน้าต่อจึงต้องเน้นผลักดันระบบซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์ม Smart Grid และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด (Energy Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะนี้ เอสซีจีร่วมกับ Rondo Energy สตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกา พัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด ซึ่งช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้กรีนยิ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด
การไปสู่สังคม Net Zero สิ่งสำคัญคือ ‘คน’ เอสซีจีจึงมุ่งสร้าง ‘องค์กรแห่งโอกาส’ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมสร้างสรรค์ธุรกิจ และนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การสร้างสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการ ZERO TO ONE by SCG ที่เปิดโอกาสให้พนักงานเอสซีจีปั้นธุรกิจใหม่ เปลี่ยนบทบาทจากพนักงานเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการบ่มเพาะวิธีคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญ ไอเดียที่พิสูจน์ว่าตอบโจทย์ตลาดจริง มีโอกาสได้รับสนับสนุนเงินลงทุนตั้งต้น เพื่อขยายผลต่อไป อย่างไรก็ตาม นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า เอสซีจีไม่ได้โฟกัสแค่เพียงผู้ร่วมโครงการที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น เพราะทุกคนที่ผ่านโครงการนี้ ถือว่าเป็นคนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เอสซีจีพร้อมสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ต่อเนื่อง
นายธรรมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จุดสำคัญของการเดินหน้าในครั้งนี้ คือ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เพราะการจะเดินหน้าสู่สังคม Net Zero ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องส่งเสริมให้ทุกคนเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกัน ทั้งคู่ธุรกิจ ชุมชนรอบโรงงาน เยาวชน และคนเปราะบาง เอสซีจีจึงเร่งสนับสนุนส่วนนี้ ผ่านหลากหลายโครงการ เช่น ร่วมขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย’ ซึ่งขณะนี้ชักชวนให้ชุมชนปลูกหญ้าเนเปียร์ เพราะเป็นพืชพลังงานสูง สามารถนำมาขายให้โรงงานปูนซีเมนต์ เพื่อทำเชื้อเพลิงชีวมวลทดแทนพลังงานฟอสซิล สร้างรายได้เสริมให้ชุมชน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง หรือการปลูกข้าวแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งเอสซีจีติดตามผลการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เอสซีจียังสร้างเครือข่าย ‘Big Brothers for SMEs’ ในสระบุรี เพื่อส่งต่อความรู้ให้ผู้ประกอบการ เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งด้านพลังงานสะอาด นวัตกรรมรักษ์โลก การหาแหล่งเงินทุน ตลอดจน ‘พัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ’ 50,000 คน ในปี 2573 ยกระดับแรงงานไทย มีอาชีพมั่นคง ลดเหลื่อมล้ำ เช่น ช่างติดตั้งและทำความสะอาดหลังคาโซลาร์
“การไปสู่สังคม Net Zero เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย มีความผันผวนสูง แต่เราไม่ถอยเรื่องนี้แน่นอน เพราะถ้าไม่เริ่มทำวันนี้ และรอต่อไปในอนาคต อาจจะไม่ทันการณ์ เอสซีจีจึงเดินหน้าตามแนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ เต็มที่ และพร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ย้ำทิ้งท้าย
Published on: Mar 28, 2024