“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” ซีอีโอ “เอสซีจี” ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ในยุควิกฤติโควิดทางเอสซีจีได้ช่วยเหลือชาติอย่างไร และได้ปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
หากย้อนกลับไปดูการปรับตัวของหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับแถวหน้าของประเทศอย่าง “เอสซีจี” หลายปีต่อเนื่องมาจะเห็นการเดินแผนปรับกลยุทธ์บริหารธุรกิจมาอย่างถูกทาง ถูกจังหวะ และวันนี้ผลแห่งการทุ่มเทพละกำลัง และงบในการพัฒนายกระดับนวัตกรรม และการเดินไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ยิ่งสะท้อนภาพชัดในภาวะที่โลกต่างเผชิญมหันตภัยร้ายจากโรคโควิด-19
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ซีอีโอเอสซีจี ฉายภาพผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ให้เห็นวิธีคิด มุมมอง และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ตามแบบฉบับคิดแบบ New Normal รับการเปลี่ยนไปของโลกอย่างน่าสนใจ
นวัตกรรมคือทางรอด
ซีอีโอเอสซีจีกล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการรับมือวิกฤติโควิดที่เห็นเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ได้อย่างรวดเร็ว คือ “ทางรอด” ซึ่งวิกฤติโควิดเป็นวิกฤติของโลก ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ภาคเอกชนต้องร่วมกับภาครัฐ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการบริจาคสิ่งของเท่านั้น แต่คือการระดมสมอง ความคิด ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยแก้ปัญหา
สำหรับเอสซีจี เชื่อในสิ่งนี้ และมีเทคโนโลยี มีนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาโควิดได้ โดยร่วมมือกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลต่าง ๆ พัฒนาและออกแบบนวัตกรรมที่รวดเร็ว ตรงกับความต้องการของสังคมและต้องทำงานแข่งกับเวลา ปัจจุบันเอสซีจีมีนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 รวมกว่า 30 นวัตกรรม ที่ส่งมอบไปยังโรงพยาบาล หน่วยงาน และชุมชนต่าง ๆ แล้วกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ
โดยเริ่มแรกของการแพร่ระบาดที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มาก เอสซีจีมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม เพื่อปกป้องหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อที่มาจากการตรวจและคัดกรองผู้ป่วย เช่น นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็กสำหรับเข้าเครื่อง CT Scan
ต่อมาเมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ห้องไอซียูไม่เพียงพอ และโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก เอสซีจีจึงได้พัฒนา นวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ (Modular ICU) ซึ่งก่อสร้างได้รวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ ตามมาตรฐานห้อง ICU เพื่อแยกผู้ป่วยวิกฤติโควิดออกจากผู้ป่วยวิกฤติทั่วไป นวัตกรรมเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี โดยผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% ส่งมอบให้โรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ 35,000 เตียง นวัตกรรมห้องน้ำสำเร็จรูป สำหรับโรงพยาบาลสนาม ที่ผลิตและติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว ทนทาน ปลอดภัย ทำความสะอาดได้ง่าย ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ และหลังจากนั้นเพื่อให้การกระจายวัคซีนสามารถเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วที่สุด เอสซีจี ได้จัดตั้ง “ศูนย์ฉีดวัคซีน เอสซีจี” เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป
“เทคโนฯดิจิทัล” ตัวช่วยใหม่
นายรุ่งโรจน์ยังมองอีกว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” คือ พื้นฐานสำคัญที่ช่วยรับมือโควิดได้ทันท่วงที ซึ่งเอสซีจีเห็นความสำคัญนี้มานานแล้ว เพราะรู้ว่าโลกจะไปทางดิจิทัล ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงได้เตรียมความพร้อมนำดิจิทัลเทคโนโลยี และออโตเมชั่น มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานต่าง ๆ การพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถในการใช้ดิจิทัล การเตรียมแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชัน ต่าง ๆ เพื่อให้บริการรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมถึงเข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ
“ในช่วงปีที่ผ่านมา เอสซีจี ได้ท้าทายตัวเองด้วยการทรานสฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่หลาย ๆ ประการ ทั้งการเปลี่ยนจาก “ผู้ผลิต” มาเป็น “ผู้สร้างสรรค์โซลูชั่นและนวัตกรรม สินค้า บริการ ครบวงจร ให้เหนือกว่าที่ลูกค้าคาดหวังไว้”
โดยเอสซีจี มุ่งพัฒนาพนักงานให้มีทักษะในการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อส่งมอบ “คุณค่าที่ตรงใจลูกค้า” ได้อย่างรวดเร็วและฉับไว ไปจนถึงการ Unlock Growth Potential ด้วยการทำ IPO SCGP ซึ่งเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และการเตรียมศึกษาเพื่อนำธุรกิจเคมิคอลส์ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเปิดโอกาส และเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับธุรกิจ โดยธุรกิจเคมิคอลส์ จะมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นยกระดับไปสู่เครือข่ายระดับโลก เช่นเดียวกับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง สู่การเป็น “New Normal Digitalization”
ทั้งนี้เอสซีจี ได้ปรับแผนธุรกิจปี 2564 ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อน และเสริมแกร่งธุรกิจตลอดซัพพลายเชน เพื่อยกระดับวงการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย มุ่งผลิตสินค้า บริการที่ตอบรับพฤติกรรม การใช้ชีวิตของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เมื่อลูกค้ามีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น สนใจปรับปรุงบ้านมากขึ้น การทำ Active-Omni Chanel หรือการเชื่อมโยงกับลูกค้าทั้งในช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ เป็นต้น
โอกาสสร้างภูมิคุ้มกันประเทศ
ซีอีโอเอสซีจีประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องมี Transition (การเปลี่ยนแปลง) เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ ท่ามกลางเชื้อสายพันธุ์ใหม่มีโอกาสเกิดขึ้น หรือกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ส่วนเศรษฐกิจหรือกำลังซื้อภายในประเทศหรือส่งออกจะขยับตัวเมื่อใดนั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ไม่สามารถพูดรวมกันได้ทั้งหมด เช่น การส่งออก โดยเฉพาะภาคการเกษตร และอาหาร ซึ่งมีผลกระทบน้อยมากในช่วงโควิด-19 ก็น่าจะเป็นบวก แต่การแข่งขันก็จะรุนแรงมากขึ้น ส่วนธุรกิจบันเทิงและท่องเที่ยว ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป น่าจะกลับมา คนจะกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
“ภาครัฐ จะต้องพิจารณาว่า อะไรคือสิ่งที่จำเป็นที่ประเทศต้องมีเป็นของเราเอง เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของประเทศ เช่น ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร แทนที่จะพึ่งพาการนำเข้า และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การมีฐานผลิตวัคซีนประสิทธิภาพสูง จึงเป็นความได้เปรียบและเป็นหลักประกันสุขภาพของคนไทยได้อย่างดียิ่ง รวมถึงด้านวิจัยและพัฒนาที่เป็นสิ่งจำเป็นของประเทศในโลกยุคใหม่ การใช้วิกฤติเป็นโอกาส ทบทวนกลยุทธ์ และปรับโครงสร้าง การบริหารงาน เสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศ พร้อมรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น”
ทั้งนี้นายรุ่งโรจน์ระบุว่า หลังจากที่ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 70-80% ของจำนวนประชากรแล้ว รัฐควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการทบทวนกลยุทธ์ และปรับโครงสร้างการบริหารงาน สร้างภุูมิคุ้มกันใหกับประเทศ ซึ่งต้องยอมรับและเรียนรู้ว่า วิกฤตินี้ได้สอนอะไรเรา และมันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ถ้าทุกคนคิดว่าจะกลับไปเหมือนเดิม นั่นแปลว่าเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เช่นเดียวกับภาครัฐที่ต้องคิดใหม่ คิดแบบ New Normal อะไรคือสิ่งที่ไม่ควรทำแบบเดิมอีกต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การบริการ แต่รวมถึงกลยุทธ์โครงสร้างการบริหารงานของภาครัฐที่ควรปรับให้เหมาะสม เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศ พร้อมรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน วิกฤติโควิด-19 ทำให้เราเห็นแหล่งท่องเที่ยวทางะรรมชาติได้ฟื้นตัว ทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาเรื่อง การจัดการผังเมือง และการออกกฎหมายควบคุมต่าง ๆ ที่จะไม่ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวถูกทำลาย ต้องจัดการให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเที่ยวมีคุณภาพ ควบคุมให้ดี ไม่เปิดโอกาสให้มีการลุกล้ำพื้นที่ป่า เกาะ ชายหาด จนเกิดความเสื่อมโทรม เรามาปรับให้บ้านเรารับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย จึงควรใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
- ระบบการศึกษา เราต้องตั้งคำถามว่า เมื่อการเรียนการสอนได้เปลี่ยนมาถึงจุดหนึ่งแล้ว เราไม่ย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้หรือไม่ เราไม่เดินเส้นทางเดิมได้มั้ย อย่างช่วงโควิดเด็กเรียนกวดวิชาน้อย คำถามคือยังจำเป็นต้องเรียนอีกหรือไม่ แต่มาปรับปรุงระบบการศึกษา หลักสูตร และเสื่อการเรียนการสินได้เหมาะสมกับการศึกษายุคใหม่ที่เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องมาเรียนกวดวิชาเพิ่มอีก หรือพัฒนาให้มาเรียนสายอาชีวะมากขึ้น หรือเมื่อเด็กคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์อยู่แล้ว อาจใช้การเรียนแบบไฮบริดแทนการกลับไปโรงเรียนเหมือนเดิม
- การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เราจะเห็นว่าโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คุ้นเคยกับการซื้อ-ขายออนไลน์มากขึ้น พ่อค้า แม่ค้า แม้แต่ street food ก็ใช้การโอนเงินออนไลน์กันหมด สังคมเป็น Cashless หรือไม่ใช้เงินสด ภาครัฐจึงควรผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตของประชาชนในทุก ๆ ด้าน เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่คนพร้อมเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยให้การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
- การบริหารจัดการน้ำ ช่วยคนว่างงานคืนถิ่น ผลกระทบจากสถานกรณ์โควิด-19 ที่ทำให้คนว่างงานกลับสู่ภูมิลำเนา ขณะที่มีปัญหาภัยแล้ง รุนแรง สลับกับน้ำท่วมยังเป็นวิกฤติของประเทศมายาวนาน ส่งผลต่อปัญหาความยากจน และการเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อการอุปโคบริโภค และการทำเกษตร รวมถึงให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง การพัฒนาทักษะและอาชีพอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้โดยเร็ว เช่น การพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างโอกาสการค้าขายออนไลน์ ตอบโจทย์ตลาดอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตสูง เป็นต้น
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 – 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564