เอสซีจี จับมือ 10 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกำจัดผักตบชวา พลิกฟื้นแม่น้ำเจ้าพระยาให้น่ามอง

เอสซีจี โดย บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ร่วมกับกระทรวง มหาดไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือ (MOU) ทดลองใช้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ ช่วยควบคุมปริมาณผักตบชวาใน 10 จังหวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แพร่ขยายพันธุ์รวดเร็ว โดยชีวผลิตภัณฑ์จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายและลดปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำ ทำให้ใบไหม้ และแห้งตาย ง่ายต่อการจัดเก็บ สามารถลดปริมาณผักตบชวา ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และพืชอื่น ๆ  ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ นี้ เป็นต้นไป

ความร่วมมือกำจัดผักตบชวา เป็น 1 ใน 6 แผนแม่บทข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในเชิงภาพรวม ของโครงการแม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ สร้างชีวิตประชาชนดีขึ้น ซึ่ง เอสซีจี โดย CPAC ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน พลิกฟื้นชีวิตให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำลำคลอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดย 6 แม่บท ประกอบด้วย

  1. การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
  2. การจัดการผักตบชวา และวัชพืชต้นไม้เล็กริมน้ำ
  3. การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง หรือถนนทำหน้าที่เป็นเขื่อน
  4. การบริหารคุณภาพน้ำให้ผ่านตามมาตรฐาน
  5. การขุดลอกดินทรายตะกอนที่สันดอนแม่น้ำ
  6. การศึกษาโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่

นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environment Social Governance & Business Stakeholder Engagement, CPAC ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ผศ.ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environment Social Governance & Business Stakeholder Engagement, CPAC

Published on: Jan 31, 2024 

(Visited 409 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว