เอสซีจี ชวน 500 ชุมชน เลิกแล้ง-เลิกจน ด้วยความรู้คู่คุณธรรม

เอสซีจี ชูความรู้คู่คุณธรรม หนุน 500 ชุมชน “เลิกแล้ง-เลิกจน” พลิกชีวิตเปลี่ยนชุมชนเลิกแล้ง-มีน้ำกิน น้ำใช้และทำการเกษตรตลอดปี และเลิกจน-ปลดหนี้ มีอาชีพ รายได้เฉลี่ยเพิ่ม 5 เท่าจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า พร้อมส่งต่อโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงวัย และผู้มีรายได้น้อย ให้เห็นคุณค่าตัวเองและสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำสังคมยั่งยืน

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีมุ่งลดความเหลื่อมล้ำสังคมด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง มีความรู้ คู่คุณธรรมตามคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2550 จากการทำฝายชะลอน้ำซึ่งสร้างไปแล้ว 115,000 ฝาย ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทำให้ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้และเพื่อการเกษตร มีผลผลิต ทั้งยังต่อยอดไปสู่โครงการพลังชุมชน อบรมสร้างอาชีพ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ปัจจุบันขยายผลไป 500 ชุมชน กว่า 200,000 คน ใน 37 จังหวัด มีรายได้มั่นคง อาชีพยั่งยืน อีกทั้ง ยังแบ่งปันองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ด้วย 4 ความรู้คู่คุณธรรม ประกอบด้วย รู้เรา: รู้คุณค่าและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สร้างมูลค่าจากสิ่งรอบตัว รู้เขา: เข้าใจลูกค้า เข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง รู้จัดการ: วางแผนเพื่อการบริหารจัดการ และบริหารความเสี่ยง รู้รัก-สามัคคี: สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง พร้อมช่วยเหลือและแบ่งปัน”

นางอำพร วงค์ษา หรือครูอ้อ ศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ.ลำพูน

นางอำพร วงค์ษา หรือครูอ้อ ศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ.ลำพูน กล่าวว่า “โครงการพลังชุมชนของเอสซีจี สอนให้เห็นคุณค่าในตัวเอง ด้วยการทำงานที่ตัวเองรักและถนัด คือ งานหัตถกรรม เช่น การเย็บปัก ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว และยังได้แบ่งปันความรู้ให้คนในชุมชนที่ว่างงานและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงวัย ทำงานฝีมือให้มีรายได้ มีงานทำพึ่งพาตัวเอง และก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สร้างอาชีพ เพื่อสร้างงานให้คนในชุมชน”

นางสาวเกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือแม่หนิง เจ้าของขนมแบรนด์ แม่หนิงภูดอย จ.ลำปาง

นางสาวเกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือแม่หนิง เจ้าของขนมแบรนด์ แม่หนิงภูดอย จ.ลำปาง กล่าวว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้โดย พลังชุมชนของเอสซีจี คือการสร้างจุดขายด้วยการสร้างอัตลักษณ์ เช่น ปรับคุ้กกี้ตัวหนอนไส้สับปะรดกลายเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง และปรับบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่าซื้อ เป็นของขวัญของฝาก รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน อย. นอกจากนี้ ได้เรียนรู้เทคนิคการขายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ ส่งต่อการจ้างงานให้กลุ่มเยาวชน ผู้สูงวัยใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ร่วมกัน”

ผู้ใหญ่คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้นำชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง

ผู้ใหญ่คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้นำชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง กล่าวว่า “เอสซีจีชวนแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง-น้ำหลาก ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การทำแก้มลิง สระพวง และระบบกระจายน้ำเข้าไร่นา ปัจจุบันสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ทำเกษตรปราณีต เพาะเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ยเพิ่ม 4-5 เท่า ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท”

เอสซีจี เชื่อมั่นว่าหากชุมชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ใช้ความรู้คู่คุณธรรม มีความรักสามัคคี และบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการวางแผน ทำให้มีน้ำกิน-ใช้ ทำการเกษตรและมีผลผลิตตลอดปี ขณะเดียวกันยังต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ทำให้มีรายได้ อาชีพมั่นคง เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำสังคมได้อย่างยั่งยืน” นางวีนัส กล่าวสรุป

สร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ

Published on: Mar 21, 2023

(Visited 426 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว