เอสซีจี ทีทีซีแอล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงความร่วมมือในการติดตั้ง “โรงไฟฟ้าลอยน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์” ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ เพื่อให้บริการด้านผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Private PPA: Private Power Purchase Agreement) โดยนำไฟฟ้าไปใช้ภายในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและภาคอีสานตอนใต้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแนวคิด ESG พร้อมกันนี้ ได้ลงนามความร่วมมือ “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์” (Solar Energy) เพื่อต่อยอดนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนให้กับประเทศไทย รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือก เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และช่วยลดวิกฤติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Emergency
นายมงคล เฮงโรจนโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เผยว่า “เอสซีจี ได้นำแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) และ ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ตามหลักธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง การรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Emergency เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งด้านธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเอสซีจี ได้ร่วมกับ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวิศวกรรม ก่อตั้ง บริษัท สยาม จีเอ็นอี โซล่า เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ขึ้น เพื่อให้บริการด้านสาธารณูปโภคในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์”
“บริษัท สยาม จีเอ็นอี โซล่า เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จะให้บริการติดตั้งโรงไฟฟ้าลอยน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่บริเวณบ่อน้ำของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งได้นำนวัตกรรมโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบครบวงจร จากเอสซีจี (SCG Floating Solar Solutions) ผสมผสานกับความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบวิศวกรรมจาก ทีทีซีแอล โดยไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นี้ จะนำไปใช้ภายในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและภาคอีสานตอนใต้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 และสามารถดำเนินการจ่ายไฟได้ในต้นปี 2565”
“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย และพร้อมส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย” นายมงคล กล่าวเพิ่มเติม
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “มทส. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงานทางเลือกและการบริหารจัดการพลังงานภายในมหาวิทยาลัย โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องของคณาจารย์ รวมไปถึงความร่วมมือกับ บริษัท สยาม จีเอ็นอี โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เอสซีจี และทีทีซีแอลในครั้งนี้ ที่ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ มีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า พัฒนาพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การมีโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดใหญ่ กำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 2.5 เมกะวัตต์มีอายุใช้งานยาวนานกว่า 25 ปี และออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอบรับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต มุ่งสู่ Sustainability Green and Clean University และยังเป็นก้าวสำคัญและเป็นโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยเอง รวมถึงตอบโจทย์ปัญหาด้านพลังงานสะอาดของประเทศ โดยการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำหลักความรู้ทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคม ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป”
นายมาโกโตะ นาคาโดอิ กรรมการ บริษัท สยาม จีเอ็นอี โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เพื่อส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บริษัทฯ ให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรมติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งส่วนควบคุมอุปกรณ์ และระบบต่าง ๆ ด้วยวิศวกรไฟฟ้าที่เชี่ยวชาญ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ และวัสดุคุณภาพตามมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยความร่วมมือกับเอสซีจี และ มทส. ในครั้งนี้ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับองค์กรและสถาบันที่มีวิสัยทัศน์และการดำเนินงานที่ส่งเสริมพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
นายพิสันติ์ เอื้อวิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม จีเอ็นอี โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และ ผู้อำนวยการฝ่าย Emerging Businesses ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวทิ้งท้ายว่า “แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พลังงานเเสงอาทิตย์มีต้นทุนต่ำลง สามารถผลิตไฟฟ้าในปริมาณมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนควรเร่งมือขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”
ในภาพ : นายพิสันติ์ เอื้อวิทยา และ นายมาโกโตะ นาคาโดอิ ผู้บริหาร บริษัท สยาม จีเอ็นอี โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีนายมงคล เฮงโรจนโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมเป็นสักขีพยาน ผ่านระบบ Virtual Conference ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส.
Published on: Jun 2, 2021