ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุไปสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’ จากสถิติของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่าภายในปี 2564 จะมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งกลายเป็นโจทย์สำคัญของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า เราจะออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยลดอาการบาดเจ็บหรือโรคแทรกซ้อนจากการหกล้มของผู้สูงอายุได้อย่างไร
‘หกล้ม’ หนึ่งในปัจจัยการเสียชีวิตของผู้สูงวัย
นอกจากตัวเลขอายุที่เพิ่มมากขึ้น การก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุยังมีผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการหกล้มซึ่งนำไปสู่อาการเจ็บป่วยอื่นๆ โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของผู้สูงอายุเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหกล้ม ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมของสายตา การเคลื่อนไหวที่ทำได้ไม่สะดวกแคล่วคล่องเหมือนกับวัยหนุ่มสาว อีกทั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้ม ผู้สูงอายุก็มักจะฟื้นฟูร่างกายได้ช้า
ปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะจากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการหกล้มในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิต โดยในปี 2560 มีผู้สูงอายุหกล้มประมาณ 4 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณบ้านของตนเอง เช่น ในห้องนอนหรือห้องน้ำ และทำให้มีอาการอื่นตามมา เช่น การฟกช้ำ แผลถลอก กระดูกหัก หรือมีผลต่อโรคประจำตัวที่อาจทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ให้ Big Data ช่วยวิเคราะห์และออกแบบผลิตภัณฑ์
เมื่ออุบัติเหตุหกล้มไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จึงนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและ SCG Eldercare Solution ในการพัฒนางานวิจัยจาก Big Data ที่เกิดจากการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อบันทึกพฤติกรรมของผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัย ก่อนจะนำมาวิเคราะห์และต่อยอดเป็นการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ในที่อยู่อาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ตัวอย่างเช่น การออกแบบเตียงที่ปรับระดับสูง–ต่ำได้ การพัฒนาลูกบิดประตูที่ใช้แรงบิดน้อย หรือการพัฒนาวัสดุปูพื้นที่ป้องกันการลื่น นุ่มสบายไม่เย็นเท้า และลดแรงกระแทกได้ด้วย
นอกจากนั้น ทั้งสององค์กรยังต่อยอดผลการวิจัยเป็นความร่วมมือในการจัดตั้ง ‘ศูนย์ความรู้ผู้สูงวัย’ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติก่อนออกจากโรงพยาบาล รวมไปถึงการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างทางร่างกายของแต่ละบุคคล เพื่อการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละราย
สูงวัย รู้ทัน ป้องกันได้
การทำงานร่วมกันระหว่างศาสตร์ทางการแพทย์ พฤติกรรมศาสตร์สรีรศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและเอสซีจี แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการผสานความร่วมมือแบบข้ามศาสตร์ (multi-disciplinary collaboration) จนกระทั่งกลายเป็นงานวิจัยที่เป็นรูปเป็นร่างผ่านแบบจำลองการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุดังที่กล่าวไปข้างต้น
สำหรับประเทศไทยซึ่งกำลังจะกลายเป็นฐานรองรับการย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยของประชากรสูงวัย (aging hub) จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย การก่อตั้งศูนย์ความรู้ผู้สูงวัยจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงการออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ยังรวมถึงการพัฒนางานวิจัยเพื่อคาดการณ์โรคภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รองรับทุกความต้องการของผู้สูงอายุที่สามารถ ‘ป้องกัน’ อุบัติเหตุต่างๆ ได้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งแวดล้อมและการเตรียมความพร้อมที่ดี จะช่วยให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตทั้งในและนอกบ้านได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย
เรื่องโดย นลินี ฐิตะวรรณ