Advanced Recycling จากเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืน “ISCC PLUS” รายแรกในไทย ตอกย้ำทิศทางปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน

เอสซีจี เคมิคอลส์ แถลงความคืบหน้าตามแผนโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อมุ่งสู่ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemicals Business for Sustainability)  โดยล่าสุด กระบวนการภายใต้เทคโนโลยี Advanced Recycling เพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี ได้รับการรับรองมาตรฐาน “ISCC PLUS” โดย International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ซึ่งเป็นการรับรองให้กับองค์กรที่มีการจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองในประเภท Advanced Recycling นอกจากนี้ ยังพุ่งเป้าสู่การทำเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ISSC PLUS Certificate

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ เผยถึงความคืบหน้าของ Advanced Recycling ตามแผนโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า “ขณะนี้ การดำเนินงานด้าน Advanced Recycling ซึ่งเป็นการนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี หรือที่เรียกว่า Recycled Feedstock นั้น มีความคืบหน้าไปตามแผนที่วางไว้ โดยล่าสุด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC PLUS โดย International Sustainability and Carbon Certification หรือ ISCC ซึ่งเป็นการรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ Advanced Recycling จากเอสซีจี เคมิคอลส์ ถือเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนชั้นนำระดับโลก”

เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี Advanced Recycling โดยใช้สารเร่งปฏิกิริยา ทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีอุณหภูมิต่ำ จึงช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการควบคุมระบบอย่างชัดเจนในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่กระบวนการจัดหาเศษพลาสติกใช้แล้ว การรับและจัดเก็บวัตถุดิบ การรีไซเคิลผ่านเทคโนโลยี Advanced Recycling การจัดควบคุม จัดเก็บ และขนส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะได้ Recycled Feedstock เพื่อนำกลับไปผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศได้อีกด้วย

“เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังคงเดินหน้าพัฒนาพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ทั้งนี้ มีแนวทางในการสอบกลับสมดุลมวล (Mass Balance Approach) ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำที่มองหาวัสดุพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน” นายธนวงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel


เกี่ยวกับ Advanced Recycling จากเอสซีจี เคมิคอลส์

เอสซีจี เคมิคอลส์ ร่วมกับ Partner ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี จัดตั้งบริษัทเซอร์คูลาร์ พลาส  (Circular Plas Co., Ltd.) เพื่อดำเนินธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก ที่เรียกว่า Advanced Recycling Technology มีโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในประเทศไทย บริเวณโรงงานในจังหวัดระยอง เพื่อทดสอบการผลิต Recycled Feedstock และวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต

เกี่ยวกับ ISCC

ISCC หรือ International Sustainability and Carbon Certification คือ การรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ เป็นระบบการรับรองความยั่งยืนชั้นนำระดับโลกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ISCC เป็นองค์กรอิสระ ควบคุมโดยสมาคม ISCC ดำเนินการรับรองด้วยระบบที่มีมาตรฐานระดับสูง ตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืนที่เข้มงวด และตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Published on: Sep 22, 2021

(Visited 947 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว