เอสซีจีเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2563 มีกำไรมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 57 จากการฟื้นตัวของตลาดเคมีภัณฑ์โลก และการเพิ่มสัดส่วนสินค้า HVA โมเดลธุรกิจแพคเกจจิ้งที่แข็งแกร่ง และการทรานฟอร์มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า มั่นใจมาถูกทาง แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด–19 เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้า HVA โซลูชัน และบริการครบวงจร รอโอกาสตลาดฟื้นตัว และสร้างการเติบโตระยะยาว
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2563 มีรายได้จากการขาย 100,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 9,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้น ตามความต้องการสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ดีขึ้น
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายลดลงร้อยละ 9 ในขณะที่กำไรสำหรับงวดเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดถึงร้อยละ 57 จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเคมิคอลส์ นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ตลอดจนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2563 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 302,689 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ลดลง ตามราคาน้ำมันที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 26,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ทั้งนี้ ภาพรวมของธุรกิจมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว นำเทคโนโลยีมาใช้ตลอด Supply Chain แบบครบวงจร
เอสซีจีมีการปรับกลยุทธ์นวัตกรรมสินค้าและบริการ HVA โดยได้ยกระดับเกณฑ์การพิจารณาให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก เน้นการปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างผลกำไรให้สูงขึ้น ภายใต้เกณฑ์ใหม่ เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการ HVA ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 93,593 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31 ของยอดขายรวม
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 128,937 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดขายรวม ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีมูลค่า 723,147 ล้านบาท โดยร้อยละ 38 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2563 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 37,748 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และส่วนต่างราคา PVC-EDC/C2 ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือสำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 110,835 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 11,830 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง
- ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 42,685 ล้านบาท ลดลงร้อยละ6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงลดลงจากมาตรการปิดเมือง แต่คงที่เมื่อเทียบไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 176 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยตามฤดูกาล สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 131,436 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดที่ยังคงลดลงจากมาตรการปิดเมือง โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องและต้นทุนพลังงานที่ลดลง
- ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 23,287 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคระบาด COVID-19 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน จากปริมาณความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังเติบโต ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขี้น และการเริ่มฟื้นตัวของสินค้าคงทน ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,335 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 30 จากไตรมาสก่อน จากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลรูเปียห์ อินโดนีเซีย ส่งผลให้เกิดขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยนทางบัญชี (หลังหักภาษีและส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม) 111 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 69,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของความต้องการใช้สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากการซื้อกิจการกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย และบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ในประเทศไทย โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า “ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2563 เติบโตเป็นที่น่าพอใจ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในไตรมาสที่ผ่านมา ตลาดเคมีภัณฑ์โลกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้า HVA ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ยานยนต์ และสินค้าคงทน ด้านธุรกิจแพคเกจจิ้งมีการปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งเสนอโซลูชันครบวงจร จึงเติบโตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวทางธุรกิจ (Business Transformation) ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร ช่องทางค้าปลีกในรูปแบบ Active Omni-Channel นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม สินค้าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ เอสซีจียังมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ รอการฟื้นตัวของตลาด เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เอสซีจีได้ร่วมช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด โดยล่าสุดเป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า ในการผลิตวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยมูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศ 100 ล้านบาท ตลอดจนยังคงร่วมมือกับเครือข่ายดูแลความปลอดภัยของแพทย์และประชาชน ด้วยการกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกันเชื้อโควิด-19 อาทิ ห้องตรวจหาเชื้อ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานเกือบ 1,000 แห่งทั่วประเทศ
เพื่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจ เอสซีจีได้ส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด ด้วยการจัดอบรมช่างก่อสร้างมืออาชีพ โดยสถาบัน PROBUILD รวมถึงพัฒนาอาชีพการเกษตรครบวงจร เพื่อสร้างรายได้มั่นคงให้แก่เกษตรกร โดยสยามคูโบต้า อีกทั้งส่งเสริมเยาวชนให้มีทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยมูลนิธิเอสซีจี”
สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ ฟื้นตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เป็นผลมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ยานยนต์ และสินค้าคงทนกลับมาดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 โดยธุรกิจเร่งพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ฟื้นตัว ตลอดจนเร่งพัฒนาออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น เม็ดพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ Flexible Packaging ที่ทำจากเม็ดพลาสติกชนิดเดียว (Mono-material) เม็ดพลาสติกคุณภาพสูงที่ใช้ในการเพิ่มคุณภาพของพลาสติกรีไซเคิล และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Post-Consumer Recycled Resin) คุณภาพสูง เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลและตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์สินค้า ขณะที่ยังคงความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจที่ยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ควบคู่กับดำเนินการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง ส่งผลให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ
ในส่วนของโครงการ MOC Debottleneck มีความคืบหน้าตามแผนร้อยละ 97 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี และโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม มีความคืบหน้าตามแผน โดยดำเนินโครงการไปแล้วกว่าร้อยละ 55
ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังสามารถสร้างรายได้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร (End-to-End Service Solution) ที่ยังคงเติบโต เช่น CPAC Construction Solution ที่ร่วมกับเครือข่าย นำเทคโนโลยีล้ำสมัย ผนวกกับสินค้าคุณภาพสูงและความเชี่ยวชาญของเอสซีจี มาให้บริการงานก่อสร้างครบวงจรที่ตรงความต้องการลูกค้า อาทิ การเทคอนกรีตฐานรากแบบต่อเนื่องในโครงการ One Bangkok ด้วยปริมาณคอนกรีต 27,300 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสถิติการเทคอนกรีตฐานรากต่อเนื่องสูงที่สุดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการดำเนินธุรกิจ Lifetime Solution ที่ให้บริการซ่อมแซมอาคารและกลุ่มงานโครงสร้างขนาดใหญ่แบบครบวงจร พร้อมยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายบริการไปยังภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น ขณะที่ SCG Solar Roof Solutions ระบบหลังคาโซลาร์จากเอสซีจี มียอดขายเติบโต 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยประหยัดค่าไฟให้กับเจ้าของบ้านได้สูงสุดถึงร้อยละ 60
ธุรกิจยังเดินหน้าพัฒนาช่องทางค้าปลีกในรูปแบบ Active Omni-Channel ที่เชื่อมต่อช่องทางออนไลน์ SCGHOME.com กับเครือข่ายร้านค้าปลีกรูปแบบแฟรนไชส์ของ SCG HOME 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ต้องการปรับปรุงบ้านด้วยสินค้าพร้อมการบริการติดตั้ง ล่าสุดได้ร่วมมือกับบุญถาวร เพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการในสินค้ากลุ่มตกแต่ง การปรับปรุงบ้าน การบริหาร Supply Chain และการขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงร่วมกับเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายที่มีความเข้าใจตลาดในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถขยายส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและการจัดจำหน่ายมียอดขายเติบโตขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ธุรกิจยังมุ่งขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด ฯลฯ มาบีบอัดและนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
ในส่วนของโรงงานปูนซีเมนต์ Mawlamyine Cement Limited (MCL) ที่เมียนมา ได้หยุดการผลิตปูนซีเมนต์ชั่วคราว เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกับหุ้นส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งแทบจะไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางเงินและการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี
ขณะที่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 SCGP ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่ 35.00 บาทต่อหุ้น นับเป็นก้าวสำคัญของ SCGP ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจจากการมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อรองรับแผนงานการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเข้าซื้อ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company หรือ SOVI ในเวียดนาม คาดว่าการทำธุรกรรมจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ ธุรกิจก็มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว OptiSorb-X ที่ช่วยคงคุณภาพของสินค้า และยืดอายุการเก็บสินค้าให้ยาวนานขึ้น
ทั้งนี้ เอสซีจี และพันธมิตรได้ร่วมกันจัดงาน งาน SD Symposium 2020 Circular Economy: Action for Sustainable Future เพื่อขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ และคุ้มค่าสูงสุดใน 4 ด้าน 1.) ใช้น้ำหมุนเวียน 2.) เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตการเกษตร 3.) การจัดการขยะ 4.) อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะมีการนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30-15.30 น. ในรูปแบบ Online Symposium ที่ www.sdsymposium2020.com