เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงแข็งแกร่ง สู้ต้นทุนพลังงาน-วัตถุดิบพุ่ง ชู 4 กลยุทธ์ รุกไว ลุยตลาดโลก เร่ง ESG สร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจ เติบโตระยะยาว

กรุงเทพฯ : 28 เมษายน 2565 – เอสซีจี เผยผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงแข็งแกร่ง รับมือต้นทุนพลังงานวัตถุดิบทะยานสูงจากรัสเซีย-ยูเครน ชู 4 กลยุทธ์รุกไว ลุยตลาดโลก 1.) บริหารธุรกิจเชิงรุก ยืดหยุ่น 2.) เสิร์ฟนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที คว้าตลาดรับเปิดเมือง 3.) เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต ล่าสุด SCGC ยื่น Filing ดันโปรเจกต์ปิโตรเวียดนาม (LSP) พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ครึ่งแรก ปี 66 และผนึกกำลังซีพลาสต์ (Sirplaste) โปรตุเกส เพิ่มกำลังผลิตพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง จับมือไมโครซอฟท์ประยุกต์เทคโนโลยีระดับโลก 4.) เร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจ เพื่อการเติบโตระยะยาว พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาทักษะ สร้างอาชีพแก่ชุมชน บรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 152,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน จากยอดขายที่สูงขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ และมีกำไรสำหรับงวด 8,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมของธุรกิจอื่น (ธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตร)

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ สาเหตุหลักจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด และกำไรสำหรับงวดลดลงร้อยละ 41 สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ประกอบกับในช่วงต้นปี 2564 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีผลประกอบการที่ดีกว่าปกติ สาเหตุจากวิกฤตฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้อุปทานมีอยู่อย่างจำกัด

ในไตรมาส 1 ปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 51,388 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของรายได้จากการขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) และ Service Solution คิดเป็นร้อยละ 17 และ 5 ของรายได้จากการขายรวม

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ทั้งสิ้น 66,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของรายได้จากการขายรวม

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีมูลค่า 889,540 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2565 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

  • ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC (เอสซีจีซี) มีรายได้จากการขาย 69,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายสินค้าที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,588 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และในช่วงต้นปี 2564 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีผลประกอบการที่ดีกว่าปกติ สาเหตุจากวิกฤตฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้อุปทานมีอยู่อย่างจำกัด
  • ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 50,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าในภูมิภาคและสินค้ากลุ่มกระเบื้องเซรามิกเพิ่มขึ้น  โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67 จากไตรมาสก่อน ในขณะที่ลดลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
  • SCGP มีรายได้จากการขาย 36,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรวมยอดขายของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab และการเติบโตของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Business) ในกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค การส่งออกอาหารปรุงสำเร็จ พร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง อีกทั้งปริมาณความต้องการและราคาของเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นจากความกังวลด้านการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,658 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อน จากรายการปรับปรุงประมาณการเงินค่าหุ้น ที่คาดว่าจะต้องจ่าย (Earn-Out) ที่ทำให้กำไรสำหรับงวดสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “เอสซีจี ยังคงแข็งแกร่งทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ต้องเผชิญภาวะต้นทุนสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งบริษัทรับมือกับสภาวะดังกล่าว โดย เร่ง 4 กลยุทธ์ รุกไว ลุยตลาดโลก ได้แก่ 1.) บริหารจัดการธุรกิจเชิงรุก 2.) ส่งมอบนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที 3.) เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต 4.) เร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตระยะยาว

4 กลยุทธ์ รุกไว ลุยตลาดโลก

1.) บริหารจัดการธุรกิจเชิงรุก ปรับตัวไวพร้อมความยืดหยุ่น ปิดความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงาน-วัตถุดิบพุ่งสูง และความไม่แน่นอนที่อาจยาวต่อเนื่องใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการติดตามราคาพลังงานต่อเนื่องและเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดต้นทุน โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เอสซีจี มีสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ RDF เท่ากับร้อยละ 16.4 โดยมีการใช้พลังงานชีวมวลสำหรับการผลิตซีเมนต์ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 30.4, จัดการปริมาณสินค้าคงคลัง (Inventory) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความต้องการ, ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบริหารห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น SCGC ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) บริหารพลังงานในการผลิต ลดการใช้พลังงาน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยวิเคราะห์ราคาต้นทุนและโอกาสในการซื้อ เพื่อจัดหาวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามสถานการณ์ตลาด ทั้งยัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมปรับตัวได้ไว

เทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

2.) ส่งมอบนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที คว้าโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ ผ่านนวัตกรรม สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services HVA) เพื่อรุกตลาดไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี เช่น นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง “เซอร์คูลาร์ พีพี (Circular PP)” จากเทคโนโลยี Advanced Recycling มีคุณสมบัติเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ เหมาะสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม SCG Solar Roof ระบบ Hybrid ระบบหลังคาโซลาร์ เทคโนโลยีระบบไฮบริด มีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าให้สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วยประหยัดสูงสุดถึง 60% “SCG Bi-ion” ระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ กำจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย สูงถึง 99% รวมถึงช่วยลดฝุ่น PM 2.5, ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการก่อสร้าง อาทิ CPAC BIM” เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการออกแบบก่อสร้างแม่นยำ ลดการสูญเสียทรัพยากรและคุ้มค่าการลงทุน “CPAC Low Rise Building Solution” นวัตกรรมการก่อสร้างด้วยคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบพรีแคส ติดตั้งเร็ว แม่นยำ ไม่เกิดของเหลือที่หน้างานก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมุ่งขยายโซลูชันบรรจุภัณฑ์ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีดีไซน์หลากหลาย และบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค

SCG Solar Roof ระบบ Hybrid

3.) เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต SCGC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 เพื่อระดมทุนเดินหน้าขยายธุรกิจศักยภาพสูง สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์ตลาดโลกและความยั่งยืนไปพร้อมกัน

ด้านโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม มีความคืบหน้าการก่อสร้างตามแผนร้อยละ 93 โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล ทั้งด้านการผลิตและการขายเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งแรกของปี 2566

ช่วงที่ผ่านมา SCGC ปิดดีลซื้อหุ้นกว่าร้อยละ 70 ของบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส ผนึกกำลังเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมปรับปรุงคุณภาพพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) รับความต้องการตลาดโลก สอดคล้องกับเป้าหมายของ SCGC ที่จะขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573

ล่าสุด เพื่อความเป็นผู้นำในภูมิภาค เอสซีจี จับมือไมโครซอฟท์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับโลก อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ควอนตัม คอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) มายกระดับการดำเนินงานด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน

โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP)

4.) เร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ ด้วยแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) โดยเอสซีจีเดินหน้าตามแผนงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 และลดลงอย่างน้อยร้อยละ 20 ในปี 2573 (จากปีฐาน 2563)

ตลอดจน มุ่งนำเสนอนวัตกรรมรักษ์โลก สร้างการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าฉลาก SCG Green Choice มียอดขายในไตรมาสแรกของปี 2565 เท่ากับ 77,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากไตรมาสก่อน คิดเป็นร้อยละ 51 ของยอดขายรวม และผลักดัน SCG Cleanergy ผู้ให้บริการพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตั้งแต่การขออนุญาต การติดตั้ง ดำเนินการ และบำรุงรักษา ตลอดจนเชื่อมต่อการซื้อขายกับการไฟฟ้า พร้อมทั้งการซื้อขายไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มเสมือนจริง (Virtual Trading Platform) เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานทางเลือกในวงกว้าง

เอสซีจี ห่วงใยในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ส่งผลต่อสังคม จึงได้เร่งพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ เพื่อสร้างรายได้มั่นคงให้ชุมชนและผู้ว่างงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2564 กว่า 3,000 คน และขยายผลในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา จำนวน 1,500 คน จากโครงการพลังชุมชน การสอนแปรรูปผลิตภัณฑ์ การขายออนไลน์และออฟไลน์ และคิวช่าง แพลตฟอร์มรวมช่างออนไลน์ ซึ่งร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการอบรมทักษะ ช่วยสร้างรายได้ให้ช่างรายย่อยกว่า 40 ล้านบาท

โครงการพลังชุมชน สร้างรายได้มั่นคงให้ชุมชน

ขณะเดียวกัน เอสซีจี มุ่งดำเนินงานอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดย SCGP ได้รับการรับรองเข้าร่วมแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ของ Thai Private Sector Collective Action Against Corruption (CAC)”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังผันผวนต่อเนื่อง นายรุ่งโรจน์ ย้ำปิดท้ายว่า “การติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด คาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที และเรียนรู้ปรับตัวไว จะเป็นทางรอดให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ท่ามกลางวิกฤต สำหรับเอสซีจีได้เตรียมพร้อมรับมือทั้งระยะสั้น โดยการบริหารความเสี่ยงเชิงรุก และระยะยาวในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ตามกลยุทธ์ ESG (Environmental, Social, Governance)”

Published on: Apr 28, 2022

(Visited 2,061 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว