ผลประกอบการเอสซีจีประจำปี 2563 ยังแข็งแกร่ง แม้วิกฤต COVID-19 ผลจากพนักงานร่วมใจ รับมือเชิงรุก ปรับตัวไว-ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีตอบโจทย์ลูกค้า

เอสซีจีเผยผลประกอบการปี 2563 กำไรดีกว่าปีก่อน แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เป็นผลจากความทุ่มเทเสียสละของพนักงานทุกคนที่ปฏิบัติตามมาตรการรับมือ COVID-19 เชิงรุกอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการปรับตัวเร็ว-ถูกทาง ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการส่งมอบนวัตกรรมสินค้า-บริการ โซลูชันครบวงจร ท่ามกลางตลาดที่ท้าทาย จึงช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตและเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2563 มีรายได้จากการขาย 399,939 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากปีก่อน จากราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และมีกำไรสำหรับปี 34,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยปี 2563 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 126,115 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน

สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 97,250 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน จากความต้องการในสินค้าซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ลดลงผลจากปัจจัยตามฤดูกาล และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งธุรกิจเคมิคอลส์มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) ในไตรมาสนี้ แม้ว่าการหยุดซ่อมบำรุงนี้ทำได้เสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ทำให้สามารถชดเชยปริมาณขายที่จะลดลงไปได้บางส่วน แต่ก็ยังส่งผลให้ปริมาณขายของธุรกิจเคมิคอลส์ลดลงในไตรมาสนี้ และลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณขายของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ลดลง ผลจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน MOC ประกอบกับรายได้จากการขายของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 8,048 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากผลการดำเนินงานที่ลดลง ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19  รวมถึงปัญหาฝนตกและน้ำท่วมในภูมิภาค ประกอบกับมีขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจซีเมนต์ในประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้น ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในปี 2563 ทั้งสิ้น 168,719 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41 ในปีก่อน

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส_เอสซีจีเเถลงผลประกอบการประจำปี 2563

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีมูลค่า 749,381 ล้านบาท โดยร้อยละ 38 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานในปี 2563 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

  • ธุรกิจเคมิคอลส์ ในปี 2563 มีรายได้จากการขาย 146,870 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากปีก่อน จากราคาและปริมาณขายสินค้าที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับปี 17,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปีก่อน ผลจากส่วนต่างราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 36,035 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ของโรงงาน MOC ที่เลื่อนมาจากแผนเดิมในไตรมาส 2 โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 108 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบที่ลดลงและมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ
  • ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2563 มีรายได้จากการขาย 171,720 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากปีก่อน เนื่องจากผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีความท้าทาย โดยมีกำไรสำหรับปี 6,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องและต้นทุนการผลิตที่ลดลง ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 40,284 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ปัญหาฝนตกและน้ำท่วมหนักในประเทศในช่วงเดือนตุลาคม ทำให้ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ ประกอบกับประเทศเวียดนามและกัมพูชาเผชิญกับฝนตกหนักจากพายุฝนที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 194 ล้านบาท สาเหตุหลักจากรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย เป็นจำนวน 1,316 ล้านบาท และหากไม่รวมรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ดังกล่าว จะมีกำไรสำหรับงวดเป็นจำนวนเงิน 1,122 ล้านบาท
  • ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในปี 2563 มีรายได้จากการขาย 92,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 6,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปีก่อน เนื่องจากการที่บริษัทมีลูกค้าอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัย การซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ รวมถึงปริมาณการขายสินค้าของบริษัทในกลุ่มดังกล่าวเติบโตขึ้นเช่นกัน จากกลยุทธ์การมอบโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและมีนวัตกรรม และการสร้างประโยชน์จากการผนึกพลัง (Synergy) ในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 23,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลประกอบการเอสซีจีประจำปี 2563

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า “ผลประกอบการของปี 2563 ยังแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นผลมาจากความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานเอสซีจีทุกคนที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการทำงานได้รวดเร็ว ทั้งการปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ปรับสัดส่วนการขาย พัฒนาช่องทาง Active Omni-Channel ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เอสซีจีสามารถส่งมอบนวัตกรรมสินค้า บริการ พร้อมโซลูชันต่าง ๆ
ครบวงจร ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยพนักงานยังคงปฏิบัติงานตามแนวทาง Hybrid Workplace ที่ส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติงานที่บ้าน และใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีติดต่อกับคู่ธุรกิจ และให้บริการแก่ลูกค้า ส่วนพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต-ซ่อมบำรุง ก็ปฏิบัติตามมาตรการ “ไข่แดง ไข่ขาว” เพื่อไม่ให้สัมผัสกับกลุ่มพนักงานทั่วไป รวมถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศก็ยังคงปฏิบัติงานเพื่อดูแลการผลิตให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้านพนักงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าได้ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในความปลอดภัย ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยแนวปฏิบัตินี้และความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน จะทำให้เอสซีจีก้าวผ่านความไม่แน่นอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ไปได้อีกครั้ง

ด้านธุรกิจเคมิคอลส์ ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ จากการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง และการปรับสัดส่วนการขาย โดยเพิ่มการขายเม็ดพลาสติกสำหรับกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคซึ่งยังคงมีความต้องการสูง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่ม และการขนส่งอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ตลอดจนเพิ่มการขายไปยังตลาดในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยจากมาตรการปิดประเทศ โดยธุรกิจได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนา Digital Commerce Platform เชื่อมต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าเข้ากับการบริหารจัดการสินค้า เพิ่มความคล่องตัวและลดเวลาการทำงาน โดยลูกค้าสามารถติดตามสถานะคำสั่งซื้อได้ตลอดเวลา

Chemical recycling SCG

นอกจากนี้ ธุรกิจยังขยายผล-ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำและกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ และความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ เช่น เร่งพัฒนาโซลูชันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะชุมชน (Post-consumer Recycled Resin) และการก่อสร้างโรงงานสาธิตกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และร่วมมือกับคู่ธุรกิจระดับโลก เพื่อขยายผลการทำ Digital Manufacturing ให้เป็นธุรกิจที่ให้บริการโซลูชันด้านอุตสาหกรรม (Industrial Solutions)

ในส่วนของโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผนร้อยละ 66 และโครงการ MOC Debottleneck มีความคืบหน้าตามแผน โดยดำเนินโครงการไปแล้วกว่าร้อยละ 99 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการปรับแผนการดำเนินธุรกิจและโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย และเน้นการซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเร่งลงทุนใน Active Omni-Channel ได้แก่ SCG HOME Online, NocNoc และ Q-Chang ขณะเดียวกันยังคงนำเสนอสินค้าและบริการพร้อมโซลูชันครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำตลาดวัสดุก่อสร้างในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยให้บริการครอบคลุมทั้งโซลูชันเพื่อการก่อสร้างและการอยู่อาศัย รวมถึงโซลูชันเพื่อช่วยป้องกันโควิด-19 เช่น Medical Solution by CPAC BIM ที่นำเทคโนโลยี Building Information Modeling มาช่วยวางแผน ออกแบบ และสร้างห้องแยกและควบคุมเชื้อสำหรับใช้ทางการแพทย์ ผสานเทคโนโลยีระบายอากาศความดันลบและความดันบวกมาใช้ ช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย สร้างได้รวดเร็ว และควบคุมงบประมาณได้ โดยดำเนินการแล้วที่โรงพยาบาลสระบุรี และวชิรพยาบาล

SCG Solar Roof Solutions

นอกจากนี้ ธุรกิจได้นำเสนอนวัตกรรมสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นสุขอนามัยเป็นพิเศษ เช่น สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำอัตโนมัติ Smart Touchless ลดการสัมผัส นวัตกรรมกระเบื้อง Hygienic Tile จาก COTTO ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียภายในบ้าน เช่นเดียวกับ สมาร์ทบอร์ด เอสซีจี รุ่นอัลตรา คลีน ที่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย เช็ดฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยแอลกอฮอล์ได้บ่อยโดยที่ไม่เสื่อมสภาพ ทนเชื้อราและรังสี UV เหมาะสำหรับทำเป็นผนังในโรงพยาบาล เฮลธ์แคร์ เนอร์สซิ่งโฮม หรือคลินิกทันตกรรม ขณะที่ระบบหลังคาโซลาร์จาก
เอสซีจี
ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับเจ้าของบ้าน มียอดขายเติบโตขึ้นร้อยละ 182 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น

ขณะที่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ จากการออกแบบโมเดลธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจ โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพเติบโตสูง ล่าสุดได้เข้าถือหุ้นใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำในประเทศเวียดนาม และการเข้าถือหุ้นใน Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่มีฐานการผลิตอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์อาหาร

นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อมาตรการการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของสินค้า พนักงาน ตลอดจนลูกค้าและคู่ธุรกิจ

ธุรกิจยังพัฒนานวัตกรรมโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ โดยได้เปิด SCGP-Inspired Solutions Studio เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าได้สัมผัสกับโซลูชันการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ  พร้อมกับพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ R-1 ซึ่งเป็นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ผลิตจากฟิล์มประกบหลายชั้น ช่วยปกป้องสินค้าและทนทานแรงกระแทกได้ดี สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและวัสดุอื่น ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ โดยได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว (ประเทศไทย) และข้าวตราฉัตร พัฒนานวัตกรรมถุงข้าวรักษ์โลกที่สามารถนำมา
รีไซเคิลได้ 100%

SCGP-Inspired Solutions Studio

สำหรับการช่วยเหลือสังคมจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด ได้นำห้องน้ำสำเร็จรูป (Bathroom Mobile Unit) นวัตกรรมโซลูชันจากเอสซีจีซึ่งออกแบบและผลิตแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมใช้งานจากโรงงาน จำนวน 5 ห้อง ไปติดตั้งให้แก่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยมูลนิธิเอสซีจีสนับสนุนเพิ่มอีกจำนวน 32 ห้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนในระยะเร่งด่วนให้บุคลากรทางการแพทย์ ชาวไทยและชาวเมียนมากว่า 1,600 คน นอกจากนี้ มูลนิธิเอสซีจีได้ช่วยกระจายนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และมีการแพร่ระบาดสูง เช่น ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันบวก-ลบแบบเคลื่อนที่ สำหรับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉินและห้องไอซียู เครื่อง Thermo Scan สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ รวมถึงทุนช่วยเหลือชาวเมียนมาผ่านจังหวัดสมุทรสาคร รวมมูลค่ากว่า 6,000,000 บาท

อนึ่ง คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 14.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 16,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 5.5 บาท เป็นเงิน 6,600 ล้านบาท เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 8.5 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 10,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2564 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี”

ต้นแบบห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ (AIIR)
(Visited 1,450 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว