รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ฟันธง 4 เมกะเทรนด์ คาถาสร้างภูมิคุ้มกันฝ่าโควิด

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เผย 4 เทรนด์ ได้แก่ automation – e-commerce – สมาร์ทฟาร์มมิ่ง – green construction ที่จะช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันและฝ่าฟันโควิดไปได้

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) กล่าวในงานสัมมนา “ธุรกิจ – สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจว่า สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นจากการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าการระบาดจะหายไป แต่หมายถึงว่าเราเริ่มปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดได้ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องมาคุยกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด

โดยเทรนด์ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีด้วยกัน 4 เทรนด์ ประกอบด้วย

  1. การนำ automation มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หรือแรงงานติดเชื้อโควิด จนทำให้การทำงานขาดความต่อเนื่องขณะเดียวกันลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ความซับซ้อนในการผลิตและการให้บริการมีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น automation จึงเป็นความจำเป็นพื้นฐานของภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และทำงานที่ซับซ้อนได้ตอบโจทย์ต้องการของลูกค้า
  2. โควิดเป็นตัวเร่งทำให้ e-commerce เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย SCG ได้สร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ ขึ้นมาให้บริการลูกค้า ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มมีการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานและความต้องการของลูกค้า รวมถึงในสถานการณ์โควิดที่คนหันมาซื้อผ่าน e-commerce มากขึ้น อีกทั้งมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าอีกด้วย
  3. สมาร์ทฟาร์มมิ่ง สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจำนวนมากย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม แล้วหันไปทำการเกษตร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความพร้อมที่จะยอมรับเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเกิดเทรนด์ที่นำเทคโนโลยีไม่ใช้ในการเกษตร ขณะเดียวกันพื้นที่การเกษตรกว่า 70% มีขนาดเล็ก ทำให้ไม่กล้าลงทุนใช้เครื่องจักร เพราะต้นทุนต่อจำนวนพื้นที่สูง แต่หากมีการแบ่งกันใช้งาน 5 – 10 ครัวเรือนต่อเครื่องจักร 1 เครื่อง ก็จะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ สามารถแข่งขันกับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ได้ ดังนั้นสมาร์ทฟาร์มมิ่งจึงเป็นอีกเทรนด์ที่น่าสนใจ และเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
  4. green construction หรือการก่อสร้างแบบยั่งยืน ที่เรียกว่า sustainable construction โดยมีการนำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาใช้ เพื่อวางแผนออกแบบการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพ โดยมีของเสียน้อยที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถจำลองกระบวนการก่อสร้างได้ ทำให้โครงการใหญ่ ๆ สามารถจัดระเบียบการจราจรได้ ลดความเดือดร้อนให้กับชุมชนใกล้เคียงไซต์ก่อสร้างลงอย่างเห็นได้ชัด สามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมลงได้ และทำให้คุณภาพของงานก่อสร้างดีขึ้น

“แพลตฟอร์ม คำนิยามอย่างหนึ่งคือ เป็นการที่รวมกลุ่มกันมากกว่า 2 กลุ่ม 2 คน ไม่ใช่เฉพาะคนซื้อคนขาย คนออกแบบด้วย ถ้าพูดถึงเรื่องการก่อสร้าง ก็รวมคนที่มีหน้าที่ให้บริการด้วย เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มจึงมีคนที่เข้ามาร่วมกันแชร์เยอะมาก”

“ซึ่งแพลตฟอร์มที่ดีคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดระยะเวลาการให้บริการและการทำงาน ซึ่งเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็จะทำให้มีมูลค่าเกิดขึ้น และนำมาแชร์กัน เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ecosystem สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่ง SCG ได้มองเห็นโอกาสจาก 4 เทรนด์นี้”

“ทั้งนี้ จึงหวังว่าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการจะมองเห็นโอกาส และเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มด้วยกัน เพื่อสร้างโอกาสและช่วยให้เราสามารถปรับตัว และฟื้นฟูธุรกิจของเราหลังจากโควิดผ่านพ้นไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติม

แม้การนำ automation มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ จะทำให้แรงงานได้รับผลกระทบจากการลดจำนวนคน แต่เมื่อต้องแข่งขันในระดับโลกจึงมีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งนี้ เศรษฐกิจจะเจริญได้ต้องประกอบด้วย 2 อย่าง ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพ คือทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น ต้นทุนถูกลง และ 2. growth mindset เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แล้ว เราต้องนำประโยชน์ที่ได้ไปใช้ในการลงทุนพัฒนา เพื่อให้ธุรกิจของสามารถขยายตัวให้ได้มากขึ้น หากเราทำทุกอย่างเหมือนเดิม ความสามารถในการแข่งขันของเราก็จะเท่าเดิม ซึ่งหมายถึงลดลง ทำให้นอกจากจะไม่เติบโตขึ้นแล้ว ตลาดของเราก็จะหดตัวลงไปอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม SCG โชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดโดยตรงเหมือนธุรกิจอื่น ๆ ในทางกลับกันธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากโควิด เนื่องจากการซื้อขายผ่าน e-commerce ซึ่งต้องใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น ส่วนธุรกิจเคมิคอล เรามีการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น และความต้องการสินค้าประเภทพลาสติกก็มีมากขึ้น ขณะที่การก่อสร้างอาจจะมีการได้รับผลกระทบในเชิงลบบ้าง แต่สิ่งที่เห็นคือบทเรียนที่สำคัญที่สุดในช่วงโควิดคือเรื่องของการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เรา set zero ทุกอย่าง และรีวิวการลงทุนใหม่ สำหรับผลกระทบด้านลบคือ ทำให้ไม่สามารถทำหลายเรื่องพร้อมกันได้ การมองหาโอกาสในภูมิภาคก็ต้องถือว่ายังช้าไป เพราะไม่สามารถเดินทางได้ ไม่สามารถพบปะพูดคุยกันเหมือนอย่างที่เคยทำได้ แต่โดยรวมแล้วในวิกฤตมีโอกาสเสมอ

“ผมอยากเปรียบว่าโควิดเหมือนกับเราป่วย ถึงแม้ว่าจะเจ็บหนักแต่เราผ่านไปได้ เราเอาตัวรอดไปได้ คำถามก็คือหลังจากที่เราเอาตัวรอดไปได้แล้ว เราจะยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมหรือไม่ เราจะการดูแลตัวเองกินให้ต่างจากการใช้ชีวิตแบบเดิม ซึ่งนี่คือการที่ใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส เพื่อให้เราสามารถนำโอกาสนี้มาทำให้เรามีความเข้มแข็ง และเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคตได้” นายรุ่งโรจน์ กล่าวปิดท้าย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Published on: Sep 30, 2021

(Visited 941 times, 1 visits today)