กู้วิกฤตโลกด้วย Circular Economy ทางเลือก ทางรอด และหัวใจหลักของ SD Symposium 2020

วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เราได้ยินกันอยู่เสมอทุกวันนี้ โดยเฉพาะเรื่องของขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ตัวเลขที่ได้ยินในรายงานข่าวนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงแต่อย่างใด และที่สำคัญปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเฉพาะในไทย แต่ยังเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่านี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ ไม่เพียงแต่ปัญหาขยะเท่านั้น แต่ช่วงที่ผ่านมา เรายังต้องเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อมอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ฝุ่น PM 2.5 หรืออื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจด้วย

หนึ่งในกุญแจหลักที่จะนำไปสู่ทางออกในการลดความรุนแรงของวิกฤตเหล่านี้ลงได้คือ Circular Economy’ หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มต้นตั้งแต่การผลิต ซึ่งใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น การใช้งานของผู้บริโภคอย่างคุ้มค่า และสิ่งสำคัญคือการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิตและลดปริมาณขยะลงได้ในเวลาเดียวกัน

คำว่า หลักเศรษฐกิจ อาจทำให้หลายคนมองว่า เป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจ ที่จะต้องขับเคลื่อนจากหน่วยงานใหญ่หรือองค์กรระดับประเทศเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนคือสิ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ง่ายกว่าที่คิด เพียงเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพราะอนาคตความยั่งยืนของโลกและความเป็นอยู่ของลูกหลานเราก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทำไว้ในตอนนี้

ในงาน SD Symposium 2020’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดย SCG ภายใต้แนวคิด Circular EconomyActions for Sustainable Future นอกจากเรื่องของการระดมความคิดของทุกภาคส่วนในตลอดเวลา 1 เดือน ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ทำได้ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ จากครอบครัวไปจนถึงการสร้างความร่วมมือระดับโลก

บรรยากาศการพูดคุยในงาน SD Symposium 2020

เรื่องใหญ่ๆ ที่เริ่มต้นได้จากคนตัวเล็กๆ

เริ่มตั้งแต่ตัวอย่างในระดับบุคคลที่ ‘ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ววัย 12 ปี สปีกเกอร์รุ่นเล็กที่สุดของช่วง Inspiration Talk มาแบ่งปันเรื่องราวในครอบครัวของเขาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง The Story of Stuff และนำไปสู่การทำโปรเจกต์โฮมสคูลเมื่อปี 2560 ที่ภูมิตั้งชื่อว่า Mission to Green’ โดยเริ่มต้นจากการลดปริมาณการสร้างขยะในแต่ละเดือน เช่น การไม่รับถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเมื่อไปซื้อของ  การพกกระติกน้ำของทุกคนในครอบครัวเมื่อต้องออกนอกบ้าน จนถึงการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากตลาดสดแทนซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่แพ็คด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยการนำกล่องใส่อาหารไปซื้อของในตลาดแทน

“พอลงมือทำกันจริงๆ ปรากฏว่าเราทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด แล้วพอทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็มีช่วงที่เราลดขยะในบ้านได้จนถึงขนาดที่ว่าไม่เหลือถุงไว้สำหรับใส่ขยะ”  ภูมิเล่าถึงประสบการณ์ในการลดการสร้างขยะของครอบตันศิริมาศ ที่ทุกคนร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่เว้นแม้แต่น้องชายตัวเล็กของเขาที่มีอายุเพียง 7 ปี

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน กลายมาเป็นชีวิตประจำวันของครอบครัวนี้ และขยายต่อไปถึงการแยกขยะที่ภูมิบอกว่า เมื่อแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้งแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะช่วยแยกขยะแห้งตามประเภทอีกที เช่นประเภทพลาสติก กระดาษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อให้ขยะถูกนำไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม รวมถึงการนำมาดัดแปลงใช้ซ้ำในบ้านอย่าง กระดาษลัง ถ้าใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปก็สามารถทำเป็นของเล่นให้น้องชายได้

ภูมิกล่าวในตอนท้ายว่า “ทุกคนสามารถช่วยโลกได้ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การพกกระบอกน้ำส่วนตัว หรือการแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง แค่นี้คุณเองก็ได้ใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่รักษ์โลกได้ด้วย”

ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ววัย 12 ปี

ธุรกิจต้องเติบโต ท่ามกลางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ในส่วนของภาคเอกชน โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ประเทศไทย ได้พูดถึงความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์ที่มีเป้าหมายในการสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนให้สังคม ผ่านโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจ และวางแผนการจัดการเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตปรินท์ในการดำเนินงาน ไปจนถึงช่วยลดขยะฝังกลบที่มาจากกระบวนการผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น ยูนิลีเวอร์ยังมองไกลและวางพันธกิจในอนาคต ถึงการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2568 ทรัพยากรทุกอย่างที่ยูนิลีเวอร์ใช้จะต้องนำกลับมาใช้หมุนเวียนได้ การลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง การปลูกป่าทดแทน และการทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น

“สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการให้ความรู้ในเรื่องนี้ เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในขั้นวิกฤตขนาดไหน ยูนิลีเวอร์จึงมีเป้าหมายในการมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ ผ่านการทำงานภายในองค์กร การทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ และโครงการต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”  ผู้บริหารจากยูนิลีเวอร์กล่าว

โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ประเทศไทย

67 ล้านคน 67 ล้านแรงขับเคลื่อนเพื่อความเปลี่ยนแปลงของประเทศ

สำหรับตัวอย่างในระดับประเทศที่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐกับทุกภาคส่วน ตัวแทนที่มาบอกเล่าเรื่องนี้ คือ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักของสหประชาชาติ เรื่องแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองผลิต การสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้มีการคัดแยก รีไซเคิล และอัพไซเคิล เพื่อช่วยยกระดับทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น ทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังย้ำชัดอีกว่า “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากนี้ไป ทุกอย่างจะต้องหมุนเวียนอยู่กับคำว่า สิ่งแวดล้อม จะต้องคิดถึงความยั่งยืน คิดถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด  ว่าจะทำอย่างไรให้รักษาทรัพยากรที่มีให้อยู่จนถึงลูกหลาน”

“มาช่วยกันลด ละ เลิกสิ่งที่ไม่ดี การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สิ้นเปลือง และกลับมาที่คำว่า Bio- Circular-Green Economy ในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยจากนี้ให้เดินไปข้างหน้าโดยคนไทยทั้ง 67 ล้านคน”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปัญหาระดับโลก แก้ได้ด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ปัญหาขยะถือเป็นวาระในระดับโลก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญประการหนึ่ง ตัวอย่างของความร่วมมือในด้านนี้ก็คือ ‘Alliance to End Plastic Waste

เจค็อบ ดูเออร์ ประธานบริหารและซีอีโอของ Alliance to End Plastic Waste’ ได้ย้ำถึงปัญหาขยะเหล่านี้ โดยเฉพาะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการการตอบสนองในระดับโลก จึงเป็นที่มาของกลุ่มพันธมิตรที่ได้องค์กรระดับโลกมากกว่า 50 องค์กรมารวมตัวกัน ทั้งบริษัทเอกชนที่มี SCG เป็นหนึ่งในนั้น กลุ่มเอ็นจีโอ ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN ที่มีแนวคิดร่วมกันในการลดปัญหาขยะพลาสติกและเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งขึ้น

Alliance to End Plastic Waste มีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ หนึ่งในนั้น ได้แก่ โปรเจกต์ STOP Jembrana ที่เริ่มต้นในเมือง Jembrana บนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโครงการที่รวมทั้งการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ การรีไซเคิล และการสร้างงานในชุมชนไว้ด้วยกัน โดยโมเดลที่ใช้ในโครงการนี้จะขยายไปยังเมืองอื่นๆ ของอินโดนีเซียในอนาคต

ไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ร่วมกับองค์กรนี้ในการทำโครงการจัดการพลาสติกและขยะในเขตเมือง โดยมีกรุงเทพฯ และระยองเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งตัวแทนจาก Alliance to End Plastic Waste ได้พูดถึงการเข้าร่วมโครงการของไทยไว้ว่า “เรามั่นใจว่าปัญหานี้แก้ไขได้ เพราะหลายประเทศกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมถึงประเทศไทยด้วย”

เจค็อบ ดูเออร์ ประธานบริหารและซีอีโอของ Alliance to End Plastic Waste

นอกจากวิทยากรทั้งสี่คนที่ได้ให้แง่มุมที่หลากหลายในช่วง Inspiration Talk แล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อเสนอแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ผ่านตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่รวมตัวกันช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในประเด็นของการจัดการน้ำ การใช้ทรัพยากรในภาคการเกษตร การจัดการขยะครัวเรือน และขยะจากการก่อสร้าง ที่ช่วยทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

อ่านได้ที่ THE MOMENTUM

(Visited 431 times, 1 visits today)