ภารกิจสร้างยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยทัพหน้า แพทย์ราชวิถี และทัพหลัง เอสซีจี ช่วยติดอาวุธ

เป็นเวลากว่า 3 เดือน ที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ได้ประกาศสงครามกับมนุษย์ การต่อสู้กับสงครามโควิด-19 ดำเนินมาอย่างเข้มข้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง สำหรับประเทศไทย สงครามนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 47 ราย มีผู้ติดเชื้อจากการโจมตีของไวรัสสะสมกว่า 2,792 ราย โดยรักษาหายแล้ว 1,999 ราย และกำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 746 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2563)

ยุทธศาสตร์การรบกับเชื้อไวรัสที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อนเช่นนี้ แน่นอนว่ากำลังพลที่สำคัญที่สุดคือ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่เปรียบเหมือนนักรบทัพหน้า และระหว่างที่ทั่วโลกกำลังรออาวุธทำลายล้างเชื้อไวรัสร้ายนี้ ซึ่งก็คือวัคซีนและยารักษาโรค เอสซีจี ได้ผนึกกำลังกับทีมแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ด้วยการจัดส่งทีมวิศวกรและนักออกแบบมาเป็นทัพหลัง ช่วยปฏิบัติภารกิจสร้างยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit)

เสียงจากแม่ทัพใหญ่ จัดสรรกำลังพลอย่างไร ให้พร้อมคว้าชัยเหนือโควิด-19

ในยามสงคราม การเตรียมกองทัพเพื่อรับมือกับภัยคุกคามเป็นปฏิบัติการที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีกลยุทธ์ การจัดกองทัพจึงต้องประกอบด้วย แม่ทัพใหญ่ การจัดสรรกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยุทธศาสตร์ในการทำสงคราม

“ผ่านมา 3 เดือนตั้งแต่โรงพยาบาลราชวิถีมีผู้ป่วยโควิด-19 คนแรก บุคลากรทางการแพทย์ต้องเตรียมพร้อม ทั้งความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วย อุปกรณ์ และสถานที่ต่าง ๆ และเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บุคลากรทางการแพทย์ย่อมมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากยิ่งขึ้นด้วย เราจึงจัดการหมุนเวียนบุคลากรเพื่อช่วยลดชั่วโมงการทำงานลง เพื่อแพทย์และพยาบาลจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป ถ้าเจ้าหน้าที่ของเราติดเชื้อ ส่งผลให้ต้องพักงาน เกิดความกังวลใจ หรือหากมีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต จะบั่นทอนกำลังใจอย่างมาก เราจึงต้องดูแลป้องกันในเชิงรุกอย่างดีที่สุด ดังนั้น อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ขอขอบคุณเอสซีจี ที่ช่วยคิดค้นนวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit โดยเฉพาะห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ ที่ช่วยเป็นเกราะกำบังให้ทีมแพทย์ปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจ

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี

ในปัจจุบัน การรักษาหรือผ่าตัดคนไข้ทั่วไปยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยต้องมีการตรวจคัดกรองเชื้อ (Swab) ทุกครั้งก่อนการผ่าตัดหรือทำหัตถการใด ๆ เพื่อความปลอดภัย ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ ช่วยให้เราสามารถคัดกรองผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะใช้ที่โรงพยาบาลราชวิถีหรือโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็สะดวก เพราะน้ำหนักเบา ติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้รวดเร็ว ช่วยป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย” นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าว

Mission Possible ป้องกันเชื้อจากคนไข้สู่บุคลากรทางการแพทย์

แนวคิดของยุทโธปกรณ์ คือ ต้องช่วยแยกสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และต้องเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกในการติดตั้งและง่ายต่อการใช้งาน หลังจากได้ทดลองใช้นวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit ที่ออกแบบร่วมกันระหว่างทีมแพทย์จาก 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และทีมออกแบบพร้อมด้วยวิศวกรจากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ทีมแพทย์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อุปกรณ์เหล่านี้มีความหมายอย่างมาก เพราะช่วยรับมือกับสถานการณ์ด้วยความรวดเร็ว และสามารถรื้อถอนได้เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

ห้องตรวจเชื้อความดันบวกแบบเคลื่อนที่

“ในโรงพยาบาลเราต้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากผู้ป่วยปกติ และลดการปนเปื้อนและติดเชื้อของผู้ป่วยจากการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (Airborne) ไปยังผู้ป่วยอื่น ๆ นวัตกรรมที่เป็นเกราะป้องกันสำคัญสำหรับพื้นที่อันตราย (Red Zone) คือ ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ ที่มีลักษณะเหมือนเต็นท์ เหมาะกับการใช้ในห้องฉุกเฉินหรือไอซียู โดยปกติจะมีคนไข้ราว 5% ที่ป่วยหนักจนต้องเข้าไอซียู การสร้างห้องควบคุมความดันลบเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อในเวลาอันรวดเร็วเพื่อรองรับผู้ป่วยหนัก ถือเป็น Mission Impossible เพราะการสร้างห้องความดันลบห้องใหม่จะเสียเวลานานมาก แต่ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบของเอสซีจี เป็น Mission Possible สามารถติดตั้งได้เองโดยบุคลากรทางการแพทย์ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และสามารถปรับให้เป็นห้องความดันลบ (Negative Pressure) ได้ทันที

ห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่

นอกจากนี้ ยังมี แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ที่ช่วยเป็นเกราะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อขณะขนย้ายผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ตั้งครรภ์ที่จะมาคลอด ให้สามารถมารักษาและใช้บริการร่วมกันในโรงพยาบาลเดียวกันได้อย่างปลอดภัย” เป็นอีกเสียงของนายแพทย์พีระพัฒน์ มกรพงศ์ หัวหน้างานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอกหัวใจ รพ.ราชวิถี

นายแพทย์พีระพัฒน์ มกรพงศ์ หัวหน้างานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอกหัวใจ รพ.ราชวิถี

จุดเด่นของนวัตกรรม น้ำหนักเบา สะดวก ติดตั้งง่าย ช่วยลดการใช้ PPE

“Mobile Isolation Unit มีน้ำหนักเบา ขนส่งสะดวก ราคาเหมาะสม ติดตั้งได้ง่าย อย่างที่โรงพยายาลราชวิถี ทีมบุคลากรทางการแพทย์ก็มาร่วมแรงร่วมใจกันติดตั้งเอง แม้แต่หมออายุรกรรม หรือหมอผู้หญิง ก็มาช่วยติดตั้งห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ ในวอร์ดไอซียู โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เราไม่ต้องเสียเวลาปรับปรุงวอร์ดใหม่ และสามารถนำไปใช้กับโรงพยาบาลสนามได้ในอนาคต และปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือ PPE เริ่มมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ จึงช่วยลดการใช้อุปกรณ์ PPE ได้มาก และช่วยให้สามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้รวดเร็วและจำนวนมากยิ่งขึ้น (Productivity) อีกทั้งยังสามารถขนย้ายอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย” นายแพทย์สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทั่วไป รพ.ราชวิถี กล่าว

นายแพทย์สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทั่วไป

เบื้องหลัง “นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่” เกราะกำบังที่ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน

องคาพยพจากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในภารกิจนี้ ได้แก่ หน่วยงาน Medical and Well-being ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ ทีม Design Catalyst ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุและการออกแบบ ทีมวิศวกรจาก REPCO และนวอินเตอร์เทค ที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องกลและหุ่นยนต์ และทีม Texplore ดูแล Supply Chain และการติดตั้ง ได้มาช่วยระดมสมองและสรรพกำลัง ทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทีมแพทย์ ภายใต้ความท้าทายเรื่องเวลา และความต้องการใช้ยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ของทั้งประเทศ

“โจทย์สำหรับภารกิจนี้ คือ นวัตกรรมของเราต้องปกป้องคุณหมอไม่ให้ติดเชื้อโรคจากคนไข้ และช่วยให้คุณหมอทำงานได้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของ Mobile Isolation Unit หรือ นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ ที่เน้นเรื่อง Mobility คือ น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก ขนส่งและกระจายสู่ต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้งานได้

ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่

ภารกิจนี้มีความท้าทายค่อนข้างสูง อุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ไม่เคยมีก่อน ทีมเอสซีจีต้องเรียนรู้ทุกอย่างในระยะเวลาอันสั้น ต้องทำงานกลมกลืนเป็นทีมเดียวกับทีมแพทย์ และต้องเร่งพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนต้องทดสอบให้ผ่าน ความท้าทายแรกจึงอยู่ที่ขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบ (Development and Design) ที่มีระยะเวลาสั้นมาก ความท้าทายที่สองคือ มีความต้องการใช้อุปกรณ์เหล่านี้มีสูงมาก ทำอย่างไร เอสซีจีจึงจะ สามารถผลิตนวัตกรรมเหล่านี้ให้ทันและเพียงพอ (Scale Up) ต่อความต้องได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว” ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวปิดท้ายด้วยความมุ่งมั่น

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ต้องการนวัตกรรมเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ สามารถบริจาคเงินสมทบ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ผ่านบัญชี “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 067-300487-3 โทร.02-2447-8585 ถึง 8 ต่อ 109 / 121 / 259 หรือร่วมบริจาคผ่าน “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” รวมทั้ง “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” เพื่อส่งมอบนวัตกรรมต่างๆ ให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2888

(Visited 1,583 times, 1 visits today)