กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปีหน้า

กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด

ในหนังสือแสดงเจตจำนงระบุว่าทุกฝ่ายตกลงจะทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิตของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้า จะจัดสรรวัคซีนวิจัยดังกล่าวโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกันนี้จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ ในการติดตั้งกระบวนการผลิต

ความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากการผลักดันโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการผลิตในประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะได้รับวัคซีนวิจัย AZD1222 หลังจากผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โดยมีเป้าหมายเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับประชาชนชาวไทยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564

หนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ที่กรุงเทพฯ และ มร. เจมส์ ทีก ประธานประจำประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้า   ผ่านการประชุมออนไลน์จากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมี นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน มร. ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มร. นิโคลัส วีคส์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และ มิส โจ เฟง รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ แอสตร้าเซนเนก้า ได้เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตของโลกผ่าน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงแสดงถึงความคืบหน้าไปอีกขั้นในการจัดหาวัคซีนวิจัยมาใช้ในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการกระจายวัคซีนวิจัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ทั้งภูมิภาคกลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว

พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์การผลิตของบริษัทฯ มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เครื่องจักรดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนวิจัย AZD1222 เพื่อป้องกันโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า โดยหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้ารวมทั้งขั้นตอนของอย. คาดว่าวัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้ในกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทฯ จะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้คนไทยและประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้วัคซีนเร็วที่สุด

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า มีความยินดีที่ได้เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับเอสซีจีมายาวนาน  เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เร็วขึ้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมไทยและอาเซียนฟื้นกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้ประสานงานความร่วมมือนี้ด้วยดีมาตลอด ทั้งนี้ มูลนิธิเอสซีจี ได้ร่วมสมทบทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศ 100 ล้านบาท

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และ มร. เจมส์ ทีก ประธานประจำประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมเป็นสักขีพยาน

มิส โจ เฟง รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า การเปิดกว้างให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม และทันเวลา เป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายดังกล่าว ความเป็นผู้นำและการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ความร่วมมือของเอสซีจี และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตระดับโลกของสยามไบโอไซเอนซ์ สร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตวัคซีน AZD1222 รองรับทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบนี้เป็นทางเดียวที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดได้ และบริษัทฯ จะเสริมสร้างความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขต่อไป

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี กับแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด นับเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรด้านสาธารณสุขชั้นนำของโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI)  องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) และผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก ผนึกกำลังเพื่อช่วยกันกระจายวัคซีนวิจัยให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หลังจากการทดลองทางคลินิกประสบความสำเร็จและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้รับรองวัคซีนวิจัยดังกล่าวแล้ว

ทุกฝ่ายที่มาร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังให้การใช้วัคซีนวิจัยมีความปลอดภัยสูงสุด โดย แอสตร้าเซนเนก้าและ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมขั้นสูงสุดภายใต้หลักปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับทางวิทยาศาสตร์ และทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เชี่ยวชาญ อาทิ หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (MHRA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ


เกี่ยวกับสยามไบโอไซเอนซ์

สยามไบโอไซเอนซ์เป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุผ่านเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงของคนไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทฯ ดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา ชุดตรวจโรค เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ โดยเป็นการดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ จนถึง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป บริษัทฯ มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพสูง ในราคาที่ถูกลง ลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางยาแก่สาธารณสุขของไทย ดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย และต่อยอดไปสู่การส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป

 เกี่ยวกับเอสซีจี

เอสซีจี กลุ่มบริษัทชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และ  ธุรกิจแพคเกจจิ้ง  เอสซีจีมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ผ่านการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพันธมิตร การสนับสนุนงานวิจัยของสถาบันวิชาการชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด และ Corporate Venture Capital เอสซีจีได้พัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อย่างทันความต้องการตั้งแต่อุปกรณ์ป้องกันส่วนตัวไปจนถึงห้องตรวจเชื้อสำหรับโรงพยาบาล

(Visited 22,838 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว