แม่ทานโมเดล ต้นแบบการฟื้นฟูเหมืองร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ทุกชีวิตโดยรอบ

หลังลัดเลี้ยวไปยังถนนรวมใจปูนซิเมนต์ไทยบ้านปู มองดูก้อนเมฆคลอเคลียกับสันเขาน้อยใหญ่ ในที่สุดก็ถึงจุดหมายปลายทาง ‘เหมืองแม่ทาน’ เหมืองลิกไนต์และบอลเคลย์แหล่งสำคัญของประเทศไทย

ไม่เพียงท้องฟ้าปลอดโปร่งและพื้นที่ทางธรณีวิทยากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่ต้อนรับผู้มาเยือน ข้อมูลเชิงลึกยังสะท้อนความพิเศษว่าเหมืองแห่งนี้คือเหมืองที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัดลำปาง อีกทั้งยังเป็นเหมืองที่มีความหลากหลายของชนิดบอลเคลย์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ครอบคลุมอาณาบริเวณทั้งสิ้น 5,856 ไร่ ตั้งแต่ตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ ไปจนถึงตำบลสมัย และตำบลแม่กัวะ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง

กว่า 30 ปี ที่เหมืองแม่ทานได้มีคืนวันอันรุ่งโรจน์ สร้างผลผลิตลิกไนต์และบอลเคลย์ให้กับประเทศ และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนใกล้เคียง ในปัจจุบันเหมืองแร่แห่งนี้ได้หยุดหน้าที่การขุดเจาะถ่านหินลง และปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง มาเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อย่างแข็งขัน พร้อมกับการเป็นต้นแบบในการใช้น้ำจากขุมเหมืองช่วยบรรเทาภัยแล้งให้กับชาวบ้าน เพื่อมอบประโยชน์และคุณค่าของพื้นที่ ให้กลับสู่อ้อมกอดของคนโดยรอบเหมืองอย่างยั่งยืน

สุข งาวศรี พนักงานคู่ธุรกิจเหมืองแม่ทาน

นับจากวันแรกที่เหมืองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้น จนถึงวันที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และแหล่งน้ำสำคัญในอนาคต การเดินทางของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ครั้งนี้เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นของทีมงาน และแนวคิดเบื้องหลังอันน่าสนใจที่พยายามเชื่อมหัวใจของผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นฝั่งราชการ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราลองมาหาคำตอบของความยั่งยืนที่ถูกมอบสู่ชุมชนไปพร้อมๆ กัน

“เหมืองต้องอยู่คู่กับชุมชน” แนวคิดด้านการบริหารจัดการเหมืองแม่ทาน ที่ร่วมมือกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายเดียวกัน

ย้อนกลับไปในอดีต เอสซีจีเริ่มดำเนินการทำเหมืองแม่ทานตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 ในลักษณะการทำเหมืองแบบบ่อเปิด (Open Pit Mining) ควบคู่ไปกับความพยายามในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชน ทั้งการไม่ใช้การระเบิด ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม การเว้นระยะขอบเหมืองรอบนอกสำหรับเป็นพื้นที่สีเขียว (Buffer Zone) เพื่อช่วยป้องกันและลดผลกระทบด้านฝุ่น เสียง และแรงสั่นสะเทือน

อีกทั้ง เอสซีจียังได้เชิญชวนให้ชุมชนโดยรอบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับเหมืองแม่ทานนับว่าเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับชาวบ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

“เหมืองต้องอยู่คู่กับชุมชน เหมืองต้องไม่ทำให้ชุมชนเดือดร้อน เอสซีจีมาอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน เราก็ต้องช่วยเหลือชุมชน ต้อง Win-Win” เทียนชัย ศรีนาค ผู้จัดการเหมืองแม่ทาน สะท้อนแนวคิดการบริหารเหมืองแร่ที่คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับชุมชนโดยรอบเหมือง เริ่มตั้งแต่การจ้างงานสร้างรายได้ ไปจนถึงการยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ผ่านโครงการส่งเสริมชุมชนในด้านต่าง ๆ

มนู สุเมิ่ง พนักงานคู่ธุรกิจเหมืองแม่ทาน กำลังดูแลต้นกล้าสำหรับฟื้นฟูเหมือง

สุข งาวศรี หรือ พัน พนักงานคู่สัญญาเอสซีจีในเหมืองแม่ทานในวัย 58 ปี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนในชุมชนบ้านแม่ทาน ที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างงานของเหมืองแม่ทานจนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้

“ผมไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอกชุมชนที่ไหนเลย ก็ทำงานที่เหมืองแม่ทานมาตลอด ตั้งแต่สมัยบุกเบิก นับเวลาแล้วก็ประมาณ 20 ปี สมัยทำงานรับจ้างรายวันมันลำบากมาก แต่พอได้มาทำงานที่เหมืองแม่ทานก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รู้สึกดีกว่าเดิมเยอะ ทำงานที่นี่เหมือนทำงานกับพี่กับน้องแหละครับ เพราะทางเอสซีจีจะมองหาคนงานในชุมชนบ้านแม่ทานเป็นหลักอยู่แล้ว” พันตอกย้ำถึงชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

งานของเอสซีจีจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวเลขกำไรบนหน้าเอกสาร แต่เป็นรอยยิ้มเปื้อนใบหน้าของชาวบ้านรอบเหมืองด้วย ที่ผ่านมา เอสซีจีได้ประสานงานกับผู้นำท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมโครงการของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาชีพและจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้ การส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม สนับสนุนและพัฒนากิจกรรมด้านการศึกษา ไปจนถึงการสนับสนุนโครงการเพื่อสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน

พัฒนาอาชีพและจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน

“ถ้า ‘บวร’ หรือ บ้าน-วัด-โรงเรียน ในตำบลสันดอนแก้วมีกิจกรรม เอสซีจีก็จะเข้าไปช่วยสนับสนุน อยู่ตลอด อย่างบ้านก็ช่วยเรื่องเกี่ยวกับอาชีพ วัดก็สนับสนุนปัจจัย เวลามีงานสำคัญทางศาสนา ส่วนโรงเรียน เอสซีจีก็ยังให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในชุมชน นอกจากนี้เอสซีจียังเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน สนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อาสาเข้ามาบริการคนในพื้นที่เป็นประจำทุกปี รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม เอสซีจีก็ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำฝายชะลอน้ำ และปลูกต้นไม้ทดแทนขึ้นมา” สว่าง เทพเถา นายกเทศบาลตำบลสิริราช กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเอสซีจีที่ใกล้ชิดกับชุมชนในหลายมิติ

สายสัมพันธ์อันดีระหว่างเอสซีจีกับชุมชนโดยรอบจึงแนบแน่น และใกล้ชิดกันจนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อย่างไรก็ดี สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงก็พัดผ่านเหมืองแม่ทานในเชิงธุรกิจ ในปี พ.ศ.2562 เอสซีจีได้ยุติกิจกรรมการทำเหมือง หลงเหลือเพียงแต่การดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ รอบบ่อเหมือง อาทิ การจำหน่ายดินอุตสาหกรรมอย่างดินบอลเคลย์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมเซรามิก เช่น จาน ชาม กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ฯลฯ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงการล้างลิกไนต์ที่ปะปนกับดิน ซึ่งในอดีตมองว่าเป็นชั้นดินส่วนที่เหลือทิ้ง นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเรื่อง ‘ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste)’ โดยนำลิกไนต์ปนดินที่มีค่าความร้อนต่ำ มาล้างให้สะอาดจนเป็นลิกไนต์ที่มีค่าความร้อนสูงขึ้น และจัดส่งลิกไนต์เหล่านั้น ให้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ภายในเครือเอสซีจี

การจำหน่ายดินอุตสาหกรรม บอลเคลย์

อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบัน เหมืองแม่ทานกำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเหมืองอย่างเต็มรูป แบบภายใต้กรอบการพัฒนา ESG 4 Plus ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล พร้อมกับชักชวนคนในชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการออกแบบอนาคตของเหมืองแม่ทานอย่างยั่งยืนต่อไป

ผสานพลังเทคโนโลยีและพลังของชุมชน เพื่อฟื้นฟูป่าและรักษาระบบนิเวศภายในเหมืองอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม

การฟื้นฟูเหมือง เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่น ซึ่งก้าวแรกของการฟื้นฟูจะต้องเริ่มต้น ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มีปริมาณมากขึ้น จนเกิดเป็น ‘ระบบนิเวศ’ ของสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ควบคู่ไปด้วย

เอสซีจีได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU) ทำการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และชนิดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ใช้ในงานฟื้นฟูเหมือง ทำการฟื้นฟูเหมืองด้วยวิธี ‘พรรณไม้โครงสร้าง’ โดยการปลูกไม้ท้องถิ่นที่เป็นพืชโตเร็วคลุมหน้าดิน และปลูกไม้เสถียรในพื้นที่เดียวกัน เพื่อร่นระยะเวลาในการสร้างระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว

การฟื้นฟูเหมืองด้วยวิธี ‘พรรณไม้โครงสร้าง’

นอกจากนี้เหมืองแม่ทานยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในงานฟื้นฟูเหมือง (Smart Rehabilitation) ทั้งการใช้ระบบอนุบาลต้นกล้าอัจฉริยะ (Smart Nursery) เป็นการควบคุมระบบการรดน้ำกล้าไม้ภายในเรือนเพาะชำ ซึ่งสามารถสั่งการเปิด-ปิด สปริงเกอร์รดน้ำผ่านแอปพลิเคชัน ในโทรศัพท์มือถือโดยในแปลงกล้าไม้จะมีระบบเซ็นเซอร์ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลความชื้นของดิน เพื่อตัดสินใจรดน้ำต้นกล้าตามความต้องการ ของแต่ละชนิดพันธุ์พืชในพื้นที่เรือนเพาะชำกล้าไม้ภายในเหมือง และปัจจุบันยังมีการวิจัยเพื่อใช้โดรนปล่อยลูกบอลเมล็ดพันธุ์ (Seed Ball) ในพื้นที่ลาดชันที่คนเดินเท้าเข้าไม่ถึง โดยเมล็ดพันธุ์จะถูกห่อหุ้มด้วยดินเหนียวและปุ๋ย ซึ่งเป็นสารอาหารที่พืชใช้ในการเติบโต และยังมีการทาสีบริเวณรอบลูกบอลเมล็ดพันธุ์ เพื่อใช้ในการติดตามผลจากภาพถ่ายโดรนในอนาคต

การติดตามผลจากภาพถ่ายโดรน

นอกเหนือจากการทำงานฟื้นฟูอย่างมุ่งมั่นผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแล้ว เอสซีจียังให้ความสำคัญ กับการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมระหว่างองค์กร และชุมชนใกล้เคียงเช่นกัน จึงได้เกิดแนวทาง ‘การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV)’ โดยการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ มาร่วมกันปลูกป่าฟื้นฟูเหมือง การเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งเสริมการเพาะกล้าไม้ให้กับ โรงเรียนบริเวณโดยรอบพื้นที่เหมือง ได้แก่ โรงเรียนบ้านอ้อวิทยา และโรงเรียนแม่ทะพัฒนศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 – ม.3 พร้อมกับรับซื้อกล้าไม้จากน้องๆ มาใช้ในงานฟื้นฟูเหมือง เพื่อให้เยาวชนในชุมชนได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการฟื้นฟูป่าบ้านเกิดของตนเอง รวมไปถึงการรับซื้อปุ๋ยหมัก จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปุ๋ยหมักบ้านแม่กัวะ เพื่อส่งเสริมรายได้ ให้กับชุมชนและเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในงานฟื้นฟูเหมืองอีกด้วย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปุ๋ยหมักบ้านแม่กัวะ

“เอสซีจีก็ซื้อปุ๋ยหมักจากเรา ซึ่งเป็นปุ๋ยราคาถูกที่มีคุณภาพดี ถ้าเอาไปคลุกกับดินใส่ต้นไม้ นี่งามเลย ปีนี้เขาซื้อไป 20 ตัน แต่เราก็แถมเพิ่มให้เขาไปนะ (หัวเราะ) เพราะเอสซีจีเอาไปฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูสภาพดินให้กลับมามีชีวิต ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมตรงต้นน้ำ สุดท้ายผลที่ได้มันก็ตกกับชุมชนเรา” พิชัย น้อยสะปุ๋ง เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปุ๋ยหมักบ้านแม่กัวะ สะท้อนมุมมองในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูป่าให้กับพื้นที่เหมืองแม่ทาน

จับมือกับชาวบ้าน ร่วมออกแบบการผันน้ำจากขุมเหมืองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชน

เอสซีจีไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่เหมืองแม่ทานเท่านั้น แต่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรอบเหมืองก็เป็นสิ่งที่เอสซีจีใส่ใจและตระหนักถึงความสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อย่างปัญหาภัยแล้ง

หากมองไปยังชุมชนโดยรอบเหมืองแม่ทาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรที่ต้องพึ่งพิงหยาดฝนตามฤดูกาล และสายน้ำจากลำห้วยธรรมชาติ แต่จากปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ชาวบ้านต้องเจอกับความแปรปรวนของธรรมชาติ จนส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในการอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะการทำเกษตรกรรม

“ย้อนหลังไปสัก 2-3 ปี สถานการณ์ภัยแล้งและหมอกควันไฟป่าค่อนข้างจะหนัก ฝนฟ้าก็ไม่ค่อย ตกต้องตามฤดูกาล ประชากรมีมากขึ้น ทรัพยากรมีน้อยก็ต้องแบ่งปันกัน น้ำท่าเดิมทีก็ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ทั้งอำเภออยู่แล้ว ทำให้มีพื้นที่แล้งซ้ำซาก” ปรีชา สมชัย นายอำเภอแม่ทะ สะท้อนถึงปัญหาภัยแล้งในพื้นที่

พนักงานและผู้นำชุมชนร่วมกันวางแผนจัดการน้ำ

เอสซีจี ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงจับมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าไปบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งรับฟังความต้องการของชุมชน สนับสนุนทรัพยากร ในการขุดบ่อกักเก็บน้ำให้กับชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ทาน 3 บ่อ ได้แก่ บ่อเทียนชัย มีขนาดความจุ 100,000 ลูกบาศก์เมตร บ่อเก่ง มีขนาดความจุ 70,000 ลูกบาศก์เมตร และบ่อนิว มีขนาดความจุ 50,000 ลูกบาศก์เมตร

จนเมื่อถึงวันที่เหมืองได้ยุติกิจกรรมการทำเหมืองแล้ว เอสซีจีและชุมชนก็ได้มีฉันทามติร่วมกันในการใช้ศักยภาพของขุมเหมืองขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ 490 ไร่ มีความลึกกว่า 200 เมตร แปรเปลี่ยนเป็นอ่างเก็บน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำฝนและน้ำที่ผุดขึ้นจากใต้ดิน จนเกิดเป็นส่วนหนึ่งของ ‘แม่ทานโมเดล’ ต้นแบบของการใช้น้ำจากขุมเหมืองเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาว โดยปัจจุบัน ปริมาณน้ำในขุมเหมืองแม่ทานมีความจุอยู่ที่ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และประมาณการว่าจะมีศักยภาพสูงสุดในการกักเก็บน้ำที่ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร

บ่อนิว มีขนาดความจุ 50,000 ลูกบาศก์เมตร

สำหรับการผันน้ำไปยังพื้นที่ชุมชนนั้น น้ำจากขุมเหมือง จะถูกสูบขึ้นมาผ่านเทคโนโลยี Solar Floating ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาเซลล์กว่า 520 แผง ที่วางอยู่บนทุ่นลอยน้ำในขุมเหมือง และเดินทางผ่านท่อขนาด 10 นิ้ว ระยะทาง 2 กิโลเมตร ไปยังบ่อนิว บ่อเก็บน้ำของชุมชนบ้านแม่ทานที่เอสซีจีมีส่วนร่วมในการขุดขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ทานหมู่ 7 และ 9 ตำบลสันดอนแก้ว ที่อยู่เหนือพื้นที่เหมืองได้ใช้ประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับประโยชน์ราว 700 ไร่ ทำให้เกษตรกร 250 ครัวเรือน มีความมั่นใจในการวางแผนการจัดการน้ำเพื่อทำเกษตรกรรมและมีรายได้ที่ดีขึ้น

จากบ่อกักเก็บน้ำที่เอสซีจีได้เข้ามามีส่วนร่วม ชาวบ้านในพื้นที่เองก็ได้ประยุกต์ภูมิปัญญา ล้านนาดั้งเดิมอย่างระบบเหมืองฝาย มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน โดยน้ำจากบ่อนิวจะไหลสู่ลำรางเหมืองไปยังพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ซึ่งในบางพื้นที่จะมีประตูน้ำเล็กๆ หรือที่เรียกว่า ‘ต้าง’ คอยกั้นน้ำให้ไหลลงสู่ที่นาของชาวบ้าน โดยที่จะมี ‘แก่เหมือง’ หรือ ‘แก่ฝาย’ เป็นตัวแทนของชาวบ้านคอยทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ทุกบ้านได้รับน้ำอย่างทั่วถึง และจะได้รับสินน้ำใจเป็นข้าวหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว

เทคโนโลยี Solar Floating ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

“จากเมื่อก่อนฤดูแล้ง นาบางส่วนจะไม่ได้ทำกัน แต่ตั้งแต่เราใช้งบประมาณของชาวบ้าน งบกองทุนสวัสดิการชุมชน และการสนับสนุนจากเอสซีจี จึงสามารถซื้อที่ดินเพื่อขุดสระขนาดใหญ่ โดยได้เอสซีจีมาช่วยขุดสระให้ ตอนนี้นาเกือบทั้งหมดไม่มีร้างเลย ทำนาได้ทุกพื้นที่ ถือว่าเป็นการยกระดับชุมชนที่ดีมาก” กฤษณพันธ์ ทะนันไชย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ตำบลสันดอนแก้ว ได้พูดถึงประโยชน์ของบ่อนิว

“รู้สึกสบายใจ เราไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำ เวลาที่ต้องการน้ำก็สามารถไปขึ้นคัตเอาท์สูบ น้ำจากบ่อนิวได้เลยตลอดเวลา” ลุงสี ป้อต๊ะมา เกษตรกรหมู่ 9 ตำบลสันดอนแก้ว วัย 59 ปี ที่มีพื้นที่นาติดกับบ่อนิว เล่าถึงความประทับใจหลังมีแหล่งน้ำใกล้พื้นที่เกษตรของตนเอง

สี ป้อต๊ะมา เกษตรกร ตำบลสันดอนแก้ว

ไม่เพียงการร่วมมือกับชุมชน เพื่อสร้างแหล่งน้ำให้กับคนในพื้นที่ เอสซีจียังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำและสำรวจพื้นที่ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และชาวบ้านในชุมชน เพื่อจัดทำแผนที่เส้นทางเดินน้ำ ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดการน้ำ สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของชุมชนในระยะยาวต่อไป

อนาคตในวันข้างหน้าของเหมืองแม่ทานที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบ

การบริหารจัดการน้ำของ ‘แม่ทานโมเดล’ หรือ การผันน้ำจากขุมเหมืองของเหมืองแม่ทานมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตำบลสันดอนแก้ว ถือเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์ของเหมือง ที่จุดประกายให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้มีโครงการ ‘สิริราชโมเดล’ โมเดลการบริหารจัดการน้ำที่ตั้งชื่อตามเทศบาลตำบลสิริราช ตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ที่จะขยายการกระจายน้ำจากเหมืองแม่ทาน และแหล่งน้ำอื่นๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

“สิริราชโมเดล เกิดขึ้นจากแม่ทานโมเดลเนี่ยแหละ พื้นที่ขุมเหมืองของเอสซีจีคือหัวใจสำคัญ ในอนาคต หากน้ำขุมเหมืองเต็มความจุ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ถือว่าเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เราวางแผนที่จะสร้างหอกักเก็บน้ำที่อยู่ห่างออกไปจากเหมืองแม่ทานประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อเป็นสถานีสำหรับผันน้ำจากเหมืองแม่ทานไปเก็บไว้ เพื่อกระจายน้ำต่อให้กับหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไป เอสซีจีถือเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของพื้นที่ที่มาช่วยขับเคลื่อนเรื่องการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา เอสซีจีก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์” สว่าง เทพเถา นายกเทศบาลตำบลสิริราช กล่าวถึงแผนระยะยาวของสิริราชโมเดลที่ทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะจับมือร่วมกันในการวางแผนจัดการน้ำ

นอกจากทรัพยากรน้ำที่จะยังคงให้ประโยชน์กับชาวบ้านต่อไปภายหลังจากการปิดเหมืองแล้ว เอสซีจียังได้เตรียมโครงการร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแบบการใช้พื้นที่หลังการปิดเหมืองที่สามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน เช่นเดียวกับความสำเร็จของ ‘เหมืองลี้มีรัก’ เหมืองแร่ถ่านหินในจังหวัดลำพูน ที่เอสซีจีได้พัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการปิดเหมือง ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาเหมืองต้นแบบ โดยเอสซีจี เพื่อวิถีชุมชน” แห่งแรกในประเทศไทย ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน บนเนื้อที่กว่า 250 ไร่ เพื่อให้ชุมชนใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมทั้งยังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และส่งมอบกรรมสิทธิ์พื้นที่ให้แก่ อบจ.ลำพูน ได้เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป

ธรรมชาติในเหมืองแม่ทาน

โดยภาพอนาคตของเหมืองแม่ทานที่ร่วมวาดกันไว้ มีทั้งการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบเหมือง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การจัดสรรพื้นที่นันทนาการริมน้ำและกิจกรรมทางน้ำ รวมไปถึงการสร้างแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและการทำเหมืองแร่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จแล้วเกิดความยั่งยืน

“เอสซีจีก็ต้องคุยกับเจ้าของพื้นที่จริงๆ อย่างกรมป่าไม้ อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องว่าหลังจากส่งมอบพื้นที่ภายหลังการฟื้นฟูแล้ว หน่วยงานไหนจะมาพัฒนาต่อยอด พูดอีกอย่างคือเอสซีจีปิดเหมืองแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไปเลย เราจะต้องดูแลกันต่อ” บุญเชิด กลิ่นโกสุมภ์ รองผู้จัดการเหมืองแม่ทาน กล่าวทิ้งท้ายถึงการเตรียมความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่เหมืองแม่ทานให้กลับสู่อ้อมกอดของเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง

พนักงานและเด็ก ๆ ในชุมชนร่วมปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูเหมือง

รอยยิ้มกว้างและเสียงหัวเราะกังวานของชาวบ้านโดยรอบเหมืองเกิดขึ้นอีกครั้ง พร้อมๆ กับพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น และความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกันระหว่างเอสซีจีกับชาวบ้านโดยรอบเหมืองที่เพิ่มพูน ล้วนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการปิดเหมืองโดยมองผู้คนในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง

เอสซีจีได้นำหลักการ ESG 4 Plus มาเป็นแผนในการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่เหมืองและการบริหารจัดการน้ำในขุมเหมืองแม่ทานอย่างครอบคลุม ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม อย่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลงมือฟื้นฟูป่าให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง ในมิติทางสังคม ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำผ่านการจ้างงานและเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรน้ำให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง ในมิติบรรษัทภิบาล ที่จับมือเคียงข้างชุมชน ร่วมกับหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในพื้นที่ และดำเนินธุรกิจ ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นธรรม โปร่งใส

ทั้งหมดนี้คือการเดินทางในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนถึงย่างก้าวถัดไปที่เอสซีจี ชาวบ้านในชุมชนรอบเหมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันออกแบบการจัดการพื้นที่เหมืองแม่ทาน ภายหลังการปิดเหมืองให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและสังคมโดยรอบเหมืองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนดังคำมั่นสัญญาของเอสซีจีที่ว่า “Passion for Better”

Published on: Dec 21, 2022

(Visited 2,076 times, 1 visits today)