บนเส้นทางการเปลี่ยนพื้นที่สวนลำไย 15 ไร่ ของ “แม่นาย ไม้หมอนฟาร์ม” ให้เป็นสวนเกษตรแบบครบวงจร โดดเด่นด้วยภาพลักษณ์ร้านกาแฟในสวน จนเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดเชียงรายและนักท่องเที่ยว เกิดจากความอบอุ่นของครอบครัว ที่เรียนรู้ ปรับตัว ผ่านเรื่องราว สารพัดบททดสอบ ด้วยความมุ่งมั่น ขยันและอดทน แต่สิ่งที่ “อารีพร สุยะ” มองว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องก้าวผ่านคือ การทำให้ธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง รวมทั้งเชื่อมต่อแบ่งปันกระจายงานและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับวิกฤตโควิด 19 แต่ชุมชนนี้ก็สามารถรับมือได้อย่างเข้มแข็ง
“อารีพร สุยะ” เล่าถึงเส้นทางของแม่นาย ไม้หมอนฟาร์ม อำเภอพาน จ.เชียงราย ว่า เดิมมีรายได้หลักจากอาชีพเกษตรกรสวนลำไยและขายก๋วยเตี๋ยวควบคู่กันไป แต่เมื่อผลผลิตและราคารับซื้อลำไยไม่ค่อยดี ประกอบกับลูกสาวที่เรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยใกล้จะจบการศึกษามีความคิดอยากกลับมาอยู่บ้าน ทำงานในสิ่งที่รักได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา และพ่อแม่ก็ได้มีความสุขกับอาชีพทำสวนทำไร่ที่ชื่นชอบไปด้วยเช่นกัน จึงตัดสินใจเปลี่ยนแนวคิดใหม่เลิกทำสวนลำไยหันไปปลูกพืชอื่น ๆ แทน เพื่อวางแผนเตรียมเปิดร้านกาแฟให้ลูกสาวกลับมาบริหารเมื่อเรียนจบ ซึ่งยอมรับว่ามีความท้าทายมาก เพราะในช่วงแรกยังมองไม่เห็นว่าจะเดินไปในทิศทางไหน และจะวางแผนพัฒนาอย่างไร
“จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดจากการที่ลูกสาวกำลังเรียนจบมหาวิทยาลัย และมีความคิดอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดอยู่กับครอบครัว ก็หารือกันว่าจะทำอาชีพอะไรดีที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ยอมรับว่าในช่วงแรกยังจับหลักไม่ถูก ทำให้ท้อแท้เหมือนกัน แต่โชคดีที่มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมในโครงการพลังปัญญา ซึ่งสอนให้รู้จักการสร้างคุณค่าจากสิ่งที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงมีแนวคิดอยากจะพัฒนาสวนลำไยให้เป็นสวนเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และการจัดจำหน่าย รวมไปถึงการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ และได้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ คุณภาพ ราคา ความซื่อสัตย์”
“ไม้หมอนฟาร์ม” เป็นรูปเป็นร่างขึ้น หลังจากลงมือสำรวจพื้นที่ 15 ไร่ ที่เดิมใช้เป็นบ้านพักอาศัย ร่วมกับสวนลำไย โดยได้จัดสรรแบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เริ่มจากแปลงเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชและผลไม้เมืองหนาว เช่น องุ่น สตรอเบอรี่ ผักปลอดสาร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารภายในร้านและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และยังได้ปลูกพืชสมุนไพร ทั้งไพล ตะไคร้หอม มิ้นท์ และยูคาลิปตัส เพื่อผลิตน้ำมันสกัดหอมระเหยที่ได้เรียนรู้เรื่องโรงกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงราย ทำให้สินค้าจากชุมชนได้รับการพัฒนาจนมีคุณภาพและสามารถส่งออกขายในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีร้านขายของที่ระลึก “ไม้หมอนฟาร์ม” เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากฟาร์มโดยตรงให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้มาเยี่ยมเยียนดูงานและผู้บริโภค โดยแนวคิดการตั้งร้านนั้น เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการมาต่อยอดและพัฒนาท้องถิ่น จึงทำให้มีความแตกต่างจากร้านทั่วไป เพราะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นในร้านคือ สิ่งที่ครอบครัวและชุมชนร่วมกันทำ ตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป รวมถึงการจัดจำหน่าย เช่น น้ำมันหอมระเหย เริ่มต้นจากนำภูมิปัญหาท้องถิ่นเรื่องการต้มสมุนไพรมาลองผิดลองถูก จนเป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์ไล่ยุง ก่อนที่สถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอด ปัจจุบันไม้หมอนฟาร์มได้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สำคัญ หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบ “โครงการพลังชุมชน” ที่เปิดพื้นที่สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เสริมความรู้คู่คุณธรรมให้กับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงให้โอกาสผลิตภัณฑ์ของโครงการพลังชุมชนจากภาคีเครือข่ายมาวางจำหน่ายในร้านค้าเพื่อเติบโตร่วมกันอีกด้วย อีกทั้ง ยังมีการเรียนรู้ต่อยอดการขายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์
“โครงการพลังชุมชน” ที่จัดโดยเอสซีจี สอนให้เรารู้จักคำว่าแบ่งปันให้กับสังคมและชุมชน เราจึงมีแนวคิดว่า ไม่สามารถเติบโตได้โดยลำพัง ต้องรู้จักแบ่งปันให้กับชุมชน สังคม และคนรอบข้าง เพื่อที่จะเติบโตไปด้วยกัน ช่วยสร้างความสุขและความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความท้าทายก็คือ การวางแผนที่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน และชุมชนโดยรอบ สามารถอยู่ได้ในระยะยาว โดยทุกวันนี้ทางฟาร์มเปิดให้คนทั่วไปที่สนใจเข้ามาเยี่ยมเยียนและศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ คำแนะนำในทุกเรื่อง” นางอารีพร กล่าว
ด้วยความอดทนมุ่งมั่นในเป้าหมาย ขยันเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นต้นแบบและแนวทางการบริหารจัดการชุมชน ที่มีกระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีคิดสู่การต่อยอดทางความคิด พร้อมด้วยความรักความอบอุ่นของครอบครัว ทำให้ “แม่นาย ไม้หมอนฟาร์ม” นอกจากจะสามารถพึ่งพาตนเอง และมีรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนแล้ว ยังมีการเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถแบ่งปันกระจายงานและกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
Published on: Jun 28, 2021