เอสซีจี ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เดินหน้าพัฒนา โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า

เอสซีจี โดย บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเชส จำกัด ผนึกการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำชุมชนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุด เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมนำเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับ แอช เมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) จากประเทศญี่ปุ่น มาพัฒนา ‘โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า’ (Industrial Waste Power Plant) ชูรายแรกของอาเซียนที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยระดับเวิลด์คลาส ในการกำจัดกากอุตสาหกรรม (Industrial Waste) สามารถรองรับได้ทั้งชนิดที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยดำเนินงานเป็นแบบระบบปิดและควบคุมทุกขั้นตอนตามกฎหมายกำหนด คาดจะเริ่มทดสอบระบบปลายปี 2562 และพร้อมเริ่มดำเนินการต้นปี 2563 ทั้งนี้ประมาณการสิ้นปี 2563 กำจัดกากอุตสาหกรรมได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัน โดยมั่นใจโรงกำจัดกากฯ แห่งนี้ จะเป็นหนึ่งในธุรกิจต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและการตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ด้วยการนำหลัก Circular Economy มาใช้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราจึงมุ่งมั่นนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way โดยเชื่อว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังจิตสำนึก สร้างความเข้าใจให้ตระหนักถึงความสำคัญ รวมถึงต้องสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค สู่แนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียนในวงกว้างอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเชส จำกัด มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวปฏิบัติข้างต้นคู่กับนโยบาย Zero Waste to Landfill มาโดยตลอด จึงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการของเสียจากอุตสาหกรรม อาทิ โครงการ Solid Pretreatment Plant โครงการ Liquid Waste Mixing โครงการขยะชุมชน เป็นต้น ล่าสุดพัฒนา ‘โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า’ (Industrial Waste Power Pant) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งถือเป็นธุรกิจต้นแบบตามหลัก Circular Economy

นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

“เพราะเราเล็งเห็นความสำคัญของปัญหากากอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเชส จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี จึงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาต่อยอดและยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งเราใช้เวลากว่า 3 ปี โดยร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้นำชุมชนมาบตาพุด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ หรือ EHIA และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา ‘โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า’ ที่ตรงตามข้อกำหนดกฏหมาย และสอดรับกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้งบกว่า 2,400 ล้านบาท นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียนมาใช้ในโรงงานแห่งนี้ พร้อมดำเนินการก่อสร้างด้วยหลักการบริหารจัดการซัพพลายเชน ที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain) ตั้งบนพื้นที่ 15 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งถือเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย คาดจะเริ่มทดสอบระบบปลายปี 2562 และพร้อมเริ่มดำเนินการต้นปี 2563”

นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์  จำกัด กล่าวว่า “เราไม่เคยหยุดนิ่งในการมองหานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ซึ่ง ‘เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับ แอชเมลติ้ง’ เป็นเทคโนโลยีสำหรับกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ทั้งยังตอบโจทย์แนวทาง Circular Economy และ Zero Waste to Landfill ของเอสซีจีได้เป็นอย่างดี โดยเราเป็นรายแรกและรายเดียวในอาเซียนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งสามารถกำจัดกากได้หลากหลายประเภทและขนาด ทั้งชนิดอันตรายและไม่เป็นอันตรายที่สำคัญไม่มีวัตถุดิบเหลือทิ้งในระบบที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่เป็นผลพลอยได้ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า”

นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด
นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ Business Stakeholder Engagement Deputy Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์  จำกัด  กล่าวว่า “สำหรับกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะเป็นแบบระบบปิด มีระบบควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับกากอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อตรวจวิเคราะห์ค่ามาตรฐานกาก และเตรียมกากก่อนการกำจัด จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีเฉพาะในเตาแก๊สซิไฟเออร์และเตาแอชเมลติ้งตามลำดับ โดยระหว่างกระบวนการเผาจะได้เศษวัสดุจากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก และเถ้าลอย ซึ่งนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าและปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อนำกลับไปใช้หมุนเวียนในระบบ ทั้งนี้โรงงานแห่งนี้สามารถกำจัดกากอุตสาหกรรมได้สูงสุดถึง 65,000 ตันต่อปี”

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ Business Stakeholder Engagement Deputy Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด
นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ Business Stakeholder Engagement Deputy Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด

“ขณะนี้เราได้เดินหน้าแผนสร้างการรับรู้ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งในกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในชุมชน โดยมุ่งตอกย้ำถึงจุดแข็งด้านเทคโนโลยี มาตรฐานการดำเนินงาน ตลอดจนระบบการกำจัดที่ไม่เหลือเศษวัสดุในกระบวนการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา คือ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เอสซีจีอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักรู้ถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี จึงได้จัดงาน SD Symposium 10 Years “Circular Economy: Collaboration for Action” งานสัมมนาระดับโลกที่หยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของสังคม พร้อมนำเสนอตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก โดยปีนี้จะเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีการ Workshop เพื่อร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับโลก ในการหาแนวทางการบริหารจัดการขยะในประเทศไทยและในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและอาเซียนตามแนวคิด Circular Economy โดยงานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.scg.com/sdsymposiumนายชนะ กล่าวสรุป

โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า
โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า

สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องการสอบถามข้อมูลด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.scieco.co.th หรือ ติดต่อ SCIeco: โทร. +66-2-586-5798 อีเมล์ sci-eco@scg.co.thนอกจากนี้ ยังสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ scgnewschannel.com/th, Facebook: scgnewschannel, Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

(Visited 1,950 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว