ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม Hybrid Workplace วัฒนธรรมใหม่ ท้าทายองค์กรยุคโควิด-19

วิกฤติโควิด 19 สร้างผลกระทบหนักให้กับผู้คนบนโลก และค่อนข้างแน่ชัดว่า ไวรัสร้ายนี้จะยังอยู่กับโลกไปอีกนาน จากการกลายพันธุ์หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นนอกจากธุรกิจจำเป็นต้อง “เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด 19” การมองวิกฤตเป็น “โอกาส” ยังเป็นอีกมุมมองบวกที่สำคัญ โดยเฉพาะ “การปรับ” หรือ “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การนำดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน การปรับโครงสร้างธุรกิจ การแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ การปรับรูปแบบการทำงาน รวมไปถึงการปรับวัฒนธรรมการทำงานรับมาตรฐานใหม่ของโลก

“ก่อนการระบาดของโควิด 1-2 ปี SCG กำลังทำเรื่องทรานส์ฟอร์เมชัน ทั้งการปรับรูปแบบการทำธุรกิจและการนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กร จึงมีการปรับตัวในระดับหนึ่งอยู่แล้ว พอมาเจอโควิดที่เริ่มระบาดปลายปี 2562 ที่ปรับตัวมาอยู่แล้ว ยิ่งต้องปรับมากกว่าขึ้นเดิมเป็น 10 เท่า เพราะสถานการณ์การทำงานยากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มศักยภาพ ความสามารถใหม่ ๆ พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Hybrid Workplace Work ที่ผสมผสานรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่ต้องเข้าสำนักงานตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด”

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCG ให้มุมมองว่า โควิด 19 เป็น “ตัวเร่ง” สำคัญทำให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรเร็วขึ้นหลายเท่าตัว แม้จะมีความยากในการดำเนินการในช่วงแรก

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCG

“ทีมลีดเดอร์ / หัวหน้างาน” ผู้กำหนด “บรรยากาศของทีม” เคล็ดลับช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมบนวัฒนธรรมการทำงานใหม่ – Hybrid Workplace

ธรรมศักดิ์ มองว่า ที่ผ่านมาปกติรูปแบบการทำงานให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมนั้น คือการเจอหน้าและระดมความคิด แต่โควิด 19 ทำให้การทำงานเปลี่ยนแปลงไป เราไม่ได้เจอหน้ากัน ประชุมทีมผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการคิดนวัตกรรม แม้บางครั้งอาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้ หากเรามีทัศนคติที่ดี มองปัญหาเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง มีการบริหารจัดการที่ดี มีวินัย ตั้งเป้าหมายในการทำงานในแต่ละช่วงเวลา การทำงานแบบ Hybrid Workplace จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทรานส์ฟอร์ม SCG เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ช่วยส่งเสริมการคิดและพัฒนานวัตกรรม

“ทีมลีดเดอร์ หรือ หัวหน้างาน มีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบ และเป้าหมายการทำงานของทีม เป็นผู้ที่ต้องคอยดูจังหวะเวลาว่า เมื่อใดที่ทีมงานควรมาเจอกันเพื่อพบปะหารือพูดคุยให้ความคิดตกผลึก ก่อนแยกย้ายกันไปทำงานให้บรรลุเป้าหมายของทีม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในทีม เช่น กลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานโรงงานใช้จังหวะเวลาที่อยู่ระหว่างการทำงานตามมาตรการ Bubble and Seal ในการสร้างทีมและสร้างนวัตกรรมใหม่ ขณะเดียวกัน แต่ละกลุ่มย่อยก็ต้องไปพูดคุยหารือกับกลุ่มย่อยอื่น ๆ เพื่อให้มีความคิดและทัศนคติเปิดกว้าง การปรับเช่นนี้ เราเองจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงาน ที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมองค์กร”

“หากเรารู้จักใช้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ พัฒนาศักยภาพของตนเอง เช่น เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การเรียนรู้เพื่อให้พร้อมต่อการไปทำงานที่ต่างประเทศได้ ปรับตัวเองให้มีความสามารถไปในทิศทางเดียวกับที่องค์กรกำลังมุ่งไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองที่มีค่าและจะไม่มีคำว่าเสียใจ (No Regret Move)”

ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Hybrid Workplace Work

มุ่งสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล

ผลลัพธ์ของการทรานส์ฟอร์มของ SCG ในด้านต่าง ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ เช่น การนำธุรกิจแพคเกจจิ้งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด 19 แสดงให้เห็นว่า SCG มีความแข็งแกร่ง ส่วนด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ SCG มีความพร้อมรับความท้าทายในอนาคต โดยในระยะ 3-5 ปีจากนี้ มุ่งเดินหน้าที่ใช้ดิจิทัลและข้อมูลให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนองค์กร พัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชัน ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

SCG กระตุ้นเรื่ององค์กรนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยที่เราทุกคนจะสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อนำมาใช้ออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมา SCG ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจระบบอัตโนมัติ (Automation System) มากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ SCG กำลังมุ่งไป

ถ้ามองภาพใหญ่ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาคการผลิตต่าง ๆ หากเราไม่ทำอะไร แต่หากเราเพิ่มเรื่องการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงาน ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ เช่นเดียวกับประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มมากขึ้น หลายโรงงานของ SCG ใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะงานที่มีความซ้ำและความเสี่ยง โดยยังคงใช้คนเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ ถือเป็นการลงทุนด้านนวัตกรรมของเราอย่างหนึ่ง

SCG นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า

มองวิกฤตโควิด 19 เป็นโอกาส “แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่”  รับเทรนด์โลก

แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า SCG ไม่หยุดมองหา “โอกาสทางธุรกิจใหม่” โดย “ธรรมศักดิ์” ขยายความว่า SCG จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่ประเมินแล้วว่าสามารถสร้างโอกาส และเป็นทิศทางที่สอดคล้องไปกับเทรนด์โลกที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance – ESG) โดยเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจรด้าน Circular Economy, Medical & Healthcare และยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ที่กำลังเติบโตสูง

ธุรกิจของ SCG ยังคงแข็งแกร่งและเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและในยุโรป เช่น ธุรกิจแพคเกจจิ้งอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าลงทุนในบริษัท Deltalab, S.L. ในประเทศสเปน เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตอบสนองเมกะเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพ ขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์ก็ได้ลงนามในสัญญา ร่วมกับ Braskem ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลก

เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย รวมถึงลงนามในสัญญาซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้ประกอบธุรกิจและผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถนำความได้เปรียบนี้ไปพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายช่องทางการขายในตลาดยุโรปได้

“สำหรับการปรับธุรกิจให้ตอบเทรนด์ของโลก เราต้องศึกษาและประเมินว่า จุดใดที่เราสามารถใช้ความเชี่ยวชาญเข้าไปพัฒนาและสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจได้ เช่น ด้าน EV ซึ่งครอบคลุมในหลายมิติมาก และมีผลกระทบกับเรื่องพลังงานสะอาดและราคาน้ำมันในอนาคต การศึกษา การทดสอบรูปแบบทางธุรกิจในเรื่องนี้เรายังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง และได้เตรียมการไว้บ้างแล้ว จึงต้องมองให้ชัดว่าจุดไหนจะเหมาะกับการลงทุนและสร้างมูลค่าได้สูงสุดมากกว่า ซึ่งปัจจุบัน SCG อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีบริการจัดหายานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle) สำหรับลูกค้าธุรกิจและองค์กร”

นวัตกรรมรถโม่พลังไฟฟ้า EV ขนส่งด้วยพลังงานสะอาด ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างการระบาดของโควิด 19 นอกจากการตั้งสติรับมือกับปัญหาแล้ว ยังต้อง “ปรับตัว” เพื่อความอยู่รอดด้วยนวัตกรรม ท่ามกลางวิกฤตนำมาซึ่งโอกาสสำหรับผู้ที่มองเห็น คว้าได้ทันท่วงที และนั่นคือ ทางรอดของผู้คนและภาคธุรกิจอย่าง SCG

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Published on: Oct 5, 2021 

 

(Visited 2,565 times, 1 visits today)