พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ภายใต้ “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” ให้กับ “โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี” เป็นแห่งที่ 18 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้ 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเสริมความพร้อมหากมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าวมีการแยกพื้นที่ระหว่างทีมแพทย์และคนไข้ออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม พร้อมมีระบบฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยสามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัดได้ในเวลาเพียง 3 วัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งประชาชนที่มาตรวจรักษา ยังความปลื้มปีติแก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ทั้งนี้ พิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายมนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และนายปรเมศวร์ นิสากรเสน Vice President-Regional Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ร่วมพิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน รวมถึงประชาชนในจังหวัด สุราษฎร์ธานี อย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นับเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับทางจังหวัด ที่จะนำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นแนวหน้า เพื่อให้มีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่อไป”
ด้าน นายแพทย์มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “บุคลากรทางการแพทย์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และพร้อมจะนำนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในจังหวัดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยจากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้ามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นจำนวนมาก”
ส่วน นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ในครั้งนี้ พวกเรารู้สึกปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้เปิดห้องตรวจปฏิบัติการ Lab Covid-19 เองเพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งจากในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลชุมชน และผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียง ระบบคัดกรองและการตรวจโดวิดเดิม ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สงสัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อทุกราย ต้องเข้ารับการรักษาในห้องแยกของโรงพยาบาล เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจและส่งต่อไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งการตรวจหาเชื้อจากผู้ป่วยเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น ถ้าเรามีห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) นอกจากจะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อและให้ความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้มากขึ้นถึง 20 รายต่อวัน และหากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลง ห้องตรวจนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในตรวจสอบเชื้อวัณโรคและโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น”
ขณะที่ นายปรเมศวร์ นิสากรเสน Vice President-Regional Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีส่วนร่วมในการผลิตนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) เพื่อช่วยปกป้องแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการตอบแทนความเสียสละและอุทิศตนของท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยกันดูแลรักษาผู้ป่วย และยังช่วยปกป้องประชาชนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ โดยห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ซึ่งได้ออกแบบให้มีระบบที่จะช่วยควบคุมแรงดันและ การหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น สำหรับห้องตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งในบริเวณด้านหน้าอาคารผู้ป่วยนอกเชื่อมต่อกับจุดคัดกรองผู้ป่วยเดิมของโรงพยาบาล เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและการตรวจหาเชื้อดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ว่าพื้นที่ติดตั้งจะมีข้อจำกัด เนื่องจากพื้นที่แคบ แต่ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของทางโรงพยาบาล ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญของทีมติดตั้ง จึงทำให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จลงภายในเวลาเพียง 3 วัน พร้อมที่จะให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ในทันที
สำหรับ นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) นี้ พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์การใช้งาน ดังนี้
- ภายในห้องตรวจมีระบบ Smart Indoor Air Quality (IAQ Smart) ที่ช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย และมีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล (Air Tightness) ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ในตัวอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี
- ทีมแพทย์จะอยู่ในห้องความดันบวก ที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องความดันลบ และมีระบบดูดอากาศเสียออกไปกำจัดอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก
- การเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อเก็บตัวอย่าง ช่วยลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้เข้ารับการตรวจ
- ใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) หลังการใช้งานทุกครั้ง
- โครงสร้างกว่าร้อยละ 80 ประกอบขึ้นรูปภายในโรงงานที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิต จึงสามารถติดตั้งที่โรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการใช้งาน
ทั้งนี้ โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับพระราชทานนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” พัฒนาโดย “เอสซีจี” ได้แก่ 1.รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ 2.รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 3. รพ.กลาง 4. สถาบันโรคทรวงอก 5. สถาบันบำราศนราดูร 6. รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 7. รพ.ตำรวจ 8. รพ.ราชบุรี 9. รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 10. รพ.นครปฐม 11. รพ.อุตรดิตถ์ 12. รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 13. รพ.นครพิงค์ 14. รพ.พหลพลพยุหเสนา 15. รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ 16. รพ.อุดรธานี 17. รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 18. รพ.สุราษฎร์ธานี 19. รพ.หาดใหญ่ และ 20. รพ.สงขลานครินทร์