จากพิษของโควิด-19 ที่รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกว่าหนักมาก ๆ ทำให้ต้องจับตาดูว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกปี 2563 จะทิ้งตัวลงหนักแค่ไหน หลังจากไตรมาสแรกกำไรลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แต่ปรากฏว่าตัวเลขที่ออกมาถึงแม้ตัวเลขรายได้จะติดลบต่อเนื่องแต่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาด
Q2/63 เอสซีจียังมีรายได้จากการขาย 96,010 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน
และยังมีกำไรสำหรับงวด 9,384 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสก่อน
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 201,751 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 16,355 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 86,638 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดขายรวม ลดลงเพียงร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และที่สำคัญยังสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2563 ในอัตรา 5.5 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 6,600 ล้านบาทอีกด้วย
การที่บริษัทได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องความรวดเร็วในการบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity Management) ทำให้วันนี้เอสซีจีสามารถฝ่าวิกฤตคลื่นโควิด-19 ลูกแรกมาได้ แต่รุ่งโรจน์ก็ย้ำว่า
“ทุกอย่างยังไม่จบแค่นี้ ถึงแม้เราจะฝ่าวิกฤตของคลื่นลูกแรกมาได้ แต่เรายังไม่รู้ว่ายังมีคลื่นลูกที่ 2 ลูกที่ 3 อีกหรือเปล่า เพราะหลาย ๆ ประเทศที่จัดการได้ดีในช่วงแรกก็ยังเจอกับการกลับมารอบ 2 ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกก็ยังสูงขึ้น ถึงแม้อัตราการตายจะลดลงก็ตาม”
เพื่อความไม่ประมาท เอสซีจีได้เตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Prepare for the Worst) ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เตรียมการขายและการขนส่งล่วงหน้าหากมีการปิดเมือง พร้อม ๆ วางแผนสำหรับโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาได้ทุกเมื่อ (Plan for The Best) เช่น
- การปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ
- เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตลาด ทั้งธุรกิจ e-commerce การสั่งอาหารออนไลน์ และพฤติกรรมบริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขอนามัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถส่งมอบนวัตกรรมโซลูชัน สินค้าและบริการ
การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด อาจจะเป็นเรื่องที่ยากสุด ๆ แล้ว แต่ในช่วงของ Recovery ก็ยากไม่แพ้กัน
จับตา 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจี
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ครึ่งปีแรกของปี 2563 มีรายได้จากการขาย 45,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 3,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ไตรมาสที่ 2 นี้ ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลงในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ความต้องการบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภค-บริโภค เเละบรรจุภัณฑ์สำหรับ E-commerce เพิ่มขึ้น
แต่รุ่งโรจน์บอกว่า ความท้าทายของธุรกิจนี้อยู่ที่การส่งออก ซึ่งตลาดยังน่าเป็นห่วง และเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGP ก.ล.ต. อนุมัติเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำการซื้อขายได้ภายในปีนี้หรือเปล่า
ธุรกิจเคมิคอลส์ ครึ่งปีแรกของปี 2563 มีรายได้จากการขาย 73,087 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,342 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงและผลประกอบการของบริษัทร่วมลดลง เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ยังเป็นขาลงต่อเนื่อง บริษัทฯ ต้องปรับตัวด้วยการเน้นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ครึ่งปีแรกของปี 2563 มีรายได้จากการขาย 88,751 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 4,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และในปีก่อนมีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าห่วงจากการชะลอตัวของภาคก่อสร้างของเอกชน ทั้งที่อยู่อาศัยในแนวสูง แนวราบ หรือพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเอสซีจีถึง 70% เลยต้องฝากความหวังไว้กับความต่อเนื่องของโครงการภาครัฐต่อไป
ที่ผ่านมาได้เร่งปรับตัวด้วยการมุ่งนำเสนอสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร และพัฒนาช่องทางค้าปลีกในรูปแบบ Active Omni-channel ที่เชื่อมต่อช่องทางออนไลน์ SCGHOME.COM กับเครือข่ายร้านค้าของ SCG HOME ทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ให้ลูกค้าสามารถสอบถาม ขอรับคำปรึกษา และเลือกซื้อสินค้าได้ทุกช่องทาง
อ่านทั้งหมดได้ที่ MARKETEERONLINE.COM