ถอดรหัสรอดภัยแล้ง บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง

นอกเหนือจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลกแล้ว ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ สภาพอากาศแปรปรวนฉับพลัน ฝนทิ้งช่วง หรือตกนอกฤดูกาล นำไปสู่ปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน ไปจนถึงเศรษฐกิจระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ

ในช่วงนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว ปัญหาภัยแล้งกำลังจะกลายเป็นประเด็นฮ็อตอีกครั้ง แล้วจะทำอย่างไร ให้ภัยแล้งไม่กลับมาเยือนเราแบบนี้ทุก ๆ ปี  นี่คงเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอาจกำลังตามหาคำตอบกันอยู่ เราจึงขออาสามาถอดรหัสรอดภัยแล้ง ที่ “บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง หนึ่งในชุมชนต้นแบบของโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ที่ตั้งอยู่รอบเขายายดา และเป็นแหล่งเกษตรที่สำคัญของ จ.ระยอง ซึ่งเคยเผชิญวิกฤตแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อชุมชนร่วมมือร่วมใจกันบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางยาวนานกว่า 10 ปี ผลสำเร็จแห่งความพยายาม คือ ชุมชนมีน้ำสะสมไว้ใช้ตลอดปี แม้ปีที่ผ่านมาจะเกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศ แต่ชุมชนรอบเขายายดาสามารถผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งนี้ไปได้ และมีผลผลิตออกดอกออกผลเติบโตงอกงาม

แล้งซ้ำซาก… เราต้องรอด

หากย้อนกลับไปในปี 2549 ชุมชนรอบเขายายดาต่างเคยเผชิญวิกฤตภัยแล้งซ้ำซาก อันเป็นผลจากการบุกรุกพื้นที่ป่าหันไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวจนทำให้พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย ทั้งยังเกิดเหตุไฟป่าครั้งรุนแรง จากวิกฤตนี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อหาหนทางรอด โดยปี 2550 คนในชุมชนรอบเขายายดาเริ่มหันหน้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เกิดการพูดคุย ลงมือทำ และการร่วมมือร่วมใจของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน  องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานราชการในพื้นที่ รวมไปถึงภาคเอกชน  ทำให้เกิดความหวังร่วมกันว่า เราจะพลิกฟื้นพื้นที่เขายายดา ปอดของจังหวัดระยอง ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติให้ชาวระยองได้ชื่นฉ่ำหัวใจไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานและต่อ ๆ ไป

“เพราะน้ำคือชีวิต เอสซีจีจึงใส่ใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งภายในโรงงาน และชุมชนโดยรอบ ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งพื้นที่เขายายดาเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของ จ. ระยอง ต้องใช้น้ำเพื่อผลผลิตทางเกษตร เราเห็นปัญหาน้ำแล้ง และป่าเสื่อมโทรมตั้งแต่เริ่มแรก ทีมงานเอสซีจีจึงได้ร่วมกับชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าต้นน้ำ และภาคส่วนต่าง ๆ ขับเคลื่อนการสร้างฝายบริเวณเขายายดาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้ป่าต้นน้ำกลับมาสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และเก็บกักน้ำใต้ดิน เพื่อให้ชุมชนรอบเขายายดามีน้ำใช้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำยังช่วยให้ระบบนิเวศของระยองดีขึ้นตามมาด้วย” นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม กล่าว

บ้านมาบจันทร์ เขายายดา

พลิกฟื้นป่าต้นน้ำ… ด้วยการชะลอน้ำ

สิ่งแรกที่ชุมชนรอบเขายายดาให้ความสำคัญ คือ การฟื้นฟู ‘ป่าต้นน้ำ’ เพราะหากป่าอุดมสมบูรณ์ความชุ่มชื้นในพื้นที่ก็จะมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ฝนตกอย่างสม่ำเสมอ แต่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ป่าเก็บกักความชุ่มชื้นจากน้ำฝนให้ได้มากที่สุด  ซึ่งหลักคิดง่าย ๆ ก็คือ ต้องหาทางชะลอน้ำฝนที่ตกลงมาให้ค่อย ๆ ซึมสู่ผิวดินให้นานที่สุด

“เมื่อเข้าใจหลักคิดเรื่องชะลอน้ำฝนเพื่อช่วยอุ้มน้ำไว้ในดินแล้ว เราก็เริ่มที่จะฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ทำธนาคารต้นไม้ ชวนคนในชุมชนมาช่วยกันคัดเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีพันธุ์ไม้ชั้นเรือนยอดระดับต่าง ๆ กัน เนื่องจากเรือนยอดหลายชั้นของต้นไม้ช่วยลดแรงตกกระทบของเม็ดฝน พื้นดินจึงสามารถค่อย ๆ ดูดซึมน้ำฝนลงสู่ใต้ดินได้อย่างเต็มที่ หลังจากนั้นจึงช่วยกันปลูกป่าควบคู่ไปกับการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อให้ผิวดินช่วยกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายธงชัย พงษ์ศิลา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแกลง และประธานประปาหมู่บ้าน หมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง เล่าถึงปฐมบทของการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน พื้นที่เขายายดามีจำนวนฝายชะลอน้ำในพื้นที่กว่า 6,700 ฝาย เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของจิตอาสาทั่วประเทศกว่า 34,385 คน เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ ปริมาณน้ำใต้ดินมีมากขึ้น ความชุ่มชื้นช่วยคืนความสมบูรณ์ให้ผืนป่า พืชพรรณที่เคยหายไปอย่างต้นซก ได้กลับมาแพร่พันธุ์และเจริญเติบโต

ฝายชะลอน้ำ

วางแผนการบริหารจัดการน้ำชุมชน ด้วยงานวิจัยท้องถิ่น

เมื่อป่าต้นน้ำกลับคืนมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก้าวถัดไปที่ชุมชนได้เรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ภายในชุมชน ก็คือ การทำวิจัยท้องถิ่น นางสาวเพ็ญศศิตาภรณ์ สิทธิชัย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านมาบจันทร์ หนึ่งในอาสาสมัครวิจัยท้องถิ่น เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ไว้ว่า

“ก่อนหน้านี้ พวกเราใช้ประสบการณ์และความรู้สึกในการวางแผนเรื่องน้ำ บางทีความรู้สึกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดไปก็มี แต่เมื่อปี 2560 เอสซีจี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยการนำข้อมูลเชิงสถิติมาใช้ มาสอนและฝึกอาสาสมัครจากชุมชนให้เป็นนักวิจัยท้องถิ่น ให้พวกเราเข้ามาร่วมเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เริ่มจากการสำรวจและจัดทำแผนผังแหล่งน้ำรอบเขายายดา ต่อมามีการคำนวณต้นทุนน้ำจากธรรมชาติ โดยทุก ๆ วัน จะได้รับภารกิจให้จดบันทึกปริมาณน้ำฝน อัตราการระเหยของน้ำ อุณหภูมิอากาศ ด้วยอุปกรณ์ที่ทำเองจากวัสดุภายในครัวเรือน พร้อมกับการบันทึกปริมาณการใช้น้ำของชุมชน จากการจดบันทึกมิเตอร์ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำเพื่อทำเกษตร สวนผลไม้ หรือเลี้ยงสัตว์ สุดท้ายนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มปริมาณน้ำ นำไปสู่การวางแผนหาแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ของชุมชนรอบเขายายดา”

สูบน้ำด้วยพลังงานสะอาด นวัตกรรมทุ่นลอยน้ำระบบโซลาร์เซลล์ของเอสซีจี

ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น นำนวัตกรรม ต่อยอดสู่การบริการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยท้องถิ่น ทำให้พบวิถีทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การหาแหล่งน้ำต้นทุนของชุมชนเพิ่ม โดยได้สำรวจพบบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาจัดสรรใช้ประโยชน์ภายในชุมชน จึงได้จัดทำเครื่อง “สูบน้ำด้วยพลังงานสะอาดโดยใช้นวัตกรรมทุ่นลอยน้ำระบบโซลาร์เซลล์ของเอสซีจีมาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ยังได้รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ การทำ “ทำนบชะลอน้ำ” ที่บรรพบุรุษเคยใช้ มาช่วยชะลอน้ำเก็บไว้บริเวณคลอง และได้ผสานองค์ความรู้เรื่อง ธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อช่วยกักเก็บน้ำส่วนเกินจากผิวดินตามบริเวณบ้านเรือน เติมเข้าสู่ระดับชั้นน้ำบาดาลได้โดยตรง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยกักเก็บน้ำช่วงหน้าแล้งเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย

ระบบประปาหมู่บ้าน

ความหวังเป็นจริง… ด้วยความสามัคคี

นางสาววันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง นักคิด นักพัฒนา และสร้างจิตวิญญาณรักษ์ป่ารักษ์น้ำให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในบ้านมาบจันทร์ว่า “ในปี  2563 ที่ผ่านมา เป็นปีที่เราได้เห็นผลจากสิ่งที่เราทำจริง ๆ เมื่อทราบถึงข่าวสถานการณ์ภาวะภัยแล้ง ผู้ใหญ่ได้เรียกประชุมลูกบ้านมาร่วมกันวางแผนการใช้น้ำด้วยกัน โดยคำนวณจากข้อมูลที่นักวิจัยท้องถิ่นของเราเก็บมาได้ แล้วมาช่วยกันคิดต่อว่าจะจัดสรรน้ำอย่างไรให้ทุกบ้านได้ใช้เพียงพอ และที่สำคัญต้องมีเพื่อทำการเกษตรด้วย เราจึงได้สร้างกติกาการใช้น้ำร่วมกัน โดยแบ่งพื้นที่จ่ายน้ำประปาช่วงเช้าสำหรับคนบ้านราบและช่วงเย็นสำหรับคนที่อยู่บนเนิน โดยเฉพาะช่วงที่เราเข้มงวดมาก มีการปรับคนที่ใช้น้ำเกินกว่าที่กำหนดเป็น 2 เท่า ซึ่งคนในชุมชนก็ไม่มีปัญหาอะไร เราเข้าใจกัน และคิดว่าเราจะต้องผ่านภัยแล้งไปได้ แล้วเราก็ทำได้”

ชุมชนรอบเขายายดา สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยความสามัคคี การมีส่วนร่วมกับปัญหาที่เกิดขึ้น และการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ส่งผลให้ชุมชนผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งที่ผ่านมา มีรายได้เพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง และยังมีแนวคิดต่อยอดสู่การสร้างบ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อส่งต่อรหัสรอดภัยแล้งสู่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

สร้างกติกาการใช้น้ำร่วมกัน

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่น ๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

Published on: Apr 22, 2021

(Visited 1,021 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว