CPAC ชุบชีวิตคอนกรีตผสมเสร็จเหลือใช้ ให้เป็นวัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง

เอสซีจี โดย บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ บริษัท คิวบ์ เรียล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ลงนามความร่วมมือ “โครงการจัดการคอนกรีตเหลือจากการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จอย่างยั่งยืน Circular Economy : Collaboration for action” ด้วยการแปรรูปคอนกรีตเหลือทิ้งของ CPAC ให้เกิดประโยชน์ในงานก่อสร้างโครงการ The Cube Condominium

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “กรมโรงงานอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยคาดหวังให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และมีศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางการจัดการคอนกรีตเหลือทิ้งจากการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ โดยได้จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อผู้บริหารองค์กรธุรกิจเอกชน เพื่อให้สามารถบูรณาการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด พร้อมถ่ายทอดและขยายผลความสำเร็จสู่ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จในวงกว้างได้ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือการยกระดับการจัดการคอนกรีตผสมเสร็จเหลือทิ้งอย่างยั่งยืนของประเทศไทย”

ด้าน นายนันทพงษ์ จันทร์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กล่าวว่า “CPAC ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้แนวทาง SCG Circular way ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมแนวทางการจัดการคอนกรีตเหลือใช้จากการก่อสร้างกลับมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้าง ซึ่ง CPAC นับเป็นผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายแรกในประเทศไทยที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและครบวงจร อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จริงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัท คิวบ์ เรียล พร็อพเพอร์ตี้ ที่จะนำคอนกรีตเหลือทิ้งไปใช้เป็นวัสดุทดแทนในการก่อสร้างภายในโครงการ The Cube Condominium ซึ่งคอนกรีตเหลือทิ้งที่นำมาแปรรูปนั้น ผ่านการทดสอบด้านความแข็งแรงตามที่มาตรฐานกำหนดแล้ว”

ทั้งนี้ การจัดการคอนกรีตเหลือทิ้งของ CPAC มี 4 แนวทางหลัก คือ

  1. การบริจาคคอนกรีตเหลือทิ้งที่มีคุณสมบัติเดิม เพื่อสาธารณะประโยชน์ แก่ วัด โรงเรียน และชุมชน ผ่านกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เช่น โครงการซีแพคลานเพลิน ซึ่งเป็นการนำแผ่นพื้นปูเป็นลานอเนกประสงค์ เป็นต้น
  2. การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำคอนกรีตเหลือทิ้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คอนกรีต เช่น แผ่นพื้นคอนกรีต กระถางปลูกต้นไม้ แผงกันชน และเสารั้วคอนกรีต เป็นต้น
  3. การแปรรูปเศษตะกอน หิน ทรายจากบ่อคายคอนกรีต เป็นวัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง
  4. การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำคอนกรีตเหลือทิ้งมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกหรือวัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง เช่น วัสดุถมคันทาง วัสดุรองพื้นทาง และวัสดุพื้นทางคลุกหิน เป็นต้น
การนำคอนกรีตเหลือจากการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ มาตากให้แห้ง เพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง
ผลิตภัณฑ์ทางเลือกหรือวัสดุทดแทนในการก่อสร้าง

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

(Visited 2,486 times, 1 visits today)