CPAC ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพื่อร่วมศึกษา พัฒนา นวัตกรรมโซลูชันการบริหารจัดการน้ำ ที่ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้รวดเร็ว ตรงจุด เหมาะกับสภาพ พื้นที่ และปัญหาที่แตกต่างกันได้แก่ 1) พัฒนาเทคโนโลยี โดยเรือสำรวจอัตโนมัติ เพื่อประเมินน้ำผิวดิน ใต้ดิน โครงสร้างใต้ท้องน้ำ รวมถึงการออกแบบแหล่งเก็บน้ำ ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล BIM ที่แม่นยำ 2) เทคโนโลยีการจัดการน้ำชุมชน ตั้งแต่ระบบกระจายน้ำ สำรองน้ำ การพัฒนาโรงเรือน การเก็บดูแลรักษา ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตผลทางการเกษตร เผยวิกฤตแล้งปี 65 จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปริมาณน้ำสำรองไม่เพียงพอจากฝนตกใต้เขื่อน ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อน เชื่อมั่นความร่วมมือนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ เปิดเผย หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า สสน. ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูล เพื่อบริหารจัดการน้ำของประเทศ มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำ ในประเทศไทยทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงการขยายผลการทำงานโดยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งมีศักยภาพพร้อม ที่จะบูรณาการองค์ความรู้และต่อยอดทางนวัตกรรมร่วมกับ CPAC นำโดย นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม โดยยึดหลักบรรษัทภิบาล และการคิดนอกกรอบ ถือเป็นการใช้จุดแข็งเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านงานก่อสร้าง ต่อยอดเป็นโซลูชัน เพื่อแก้ไขและตอบโจทย์เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้แก่ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น
นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน –บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC และ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่างสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทสำคัญด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย กับองค์กรธุรกิจภาคเอกชนในโครงการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำ ที่ร่วมบูรณาการองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันให้ชุมชนได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในการทำอาชีพเกษตรกรรม และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ถือเป็นการสร้างสรรค์สังคมสีเขียว (Green Society) พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความอยู่ดี กินดีมากยิ่งขึ้น นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อสานประโยชน์สู่ชุมชนอย่างแท้จริง โดยการลงนามครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องบัญชาการ ชั้น 2 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึง การลงนามร่วมกับบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC ว่า “การบูรณาการองค์ความรู้โดยผู้มีความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก ร่วมกับความชำนาญของ สสน. ในเรื่องระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เทคโนโลยีสำรวจ และการบริหารจัดการน้ำชุมชน จะช่วยส่งเสริมและขยายผลให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย ในการร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนและท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนสามารถมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และเกษตร ตลอดทั้งปี จึงได้นำร่องเป็นโครงการที่จะเกิด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบสารสนเทศ รวมทั้งขยายผลไปยังหน่วยงานราชการ ชุมชน ให้สามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศ”
นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC กล่าวว่า CPAC พร้อมสนับสนุนนโยบายสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ทั้งการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ และตามความมุ่งหวังของ CPAC ที่จะยกระดับความสามารถ เข้าสู่ Green Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ไม่หยุดนิ่งต่อการเรียนรู้และขยายโอกาสการสร้างธุรกิจพร้อมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอสซีจีที่ยึดหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) และมุ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้ง Value Chain ตามหลัก Creating Share Value โดยคำนึงถึงผลกระทบและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
“CPAC และ สสน. มีแผนนำร่องโครงการโดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เทคโนโลยีการสำรวจ เพื่อการประเมินน้ำผิวดิน ใต้ดิน โครงสร้างใต้ท้องน้ำ ได้อย่างแม่นยำและมีมาตรฐาน โดยกำหนดเป้าหมายหลักภายในปี 2565 จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาเรือสำรวจอัตโนมัติ เพื่อสำรวจโครงสร้าง ใต้ท้องน้ำ การออกแบบและต่อยอดนวัตกรรม จะต้องขยายผลไปสู่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและเข้าถึงได้
กลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีการจัดการน้ำชุมชน โดยคิดรอบด้านตั้งแต่ระบบกระจายน้ำ สำรองน้ำ การพัฒนาโรงเรือน การเก็บดูแลรักษา ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตผลทางการเกษตร ด้วย Solar Pump พร้อมระบบถังสูง ขยายผลไปยังชุมชนที่สอดรับกับการทำเกษตรกรรมท้องถิ่น ช่วยให้ชุมชนมีรายได้อย่างมั่นคง จากการทำเกษตรกรรมที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งปี ซึ่งวางเป้าหมายไว้ภายในปี 2565 จะสามารถขยายผลไปทั่วประเทศ รวมทั้งถอดแนวคิด ศึกษารายละเอียด เทคโนโลยีสำหรับการทำโรงเรือนมาตรฐานสำหรับเกษตรกรแบบครบวงจร โดยใช้หลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนเกษตรกรรมได้อย่างครบวงจร” นายปัญญา กล่าว
ดังนั้น การลงนามที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่จะร่วมพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมให้ชุมชมและการทำเกษตรท้องถิ่นมีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแบบอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนานาโซลูชัน เพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำและการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ หา เก็บ ใช้ และจัดการที่เป็นระบบอย่างยั่งยืน
Published on: Nov 1, 2021