มูลนิธิเอสซีจี เดินหน้าส่งมอบ 2 นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบควบคุมความดันอากาศ ช่วยปกป้องบุคลากรการแพทย์จากความเสี่ยงในการติดเชื้อ ประกอบด้วย นวัตกรรมห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบ ที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เหมาะสำหรับการใช้ในห้องฉุกเฉิน (ห้องไอซียูโควิด หรือ Ward PUI) และนวัตกรรมห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ สำหรับการตรวจเชื้อที่ปลอดภัยสำหรับทีมแพทย์และผู้ป่วย ชูจุดแข็งติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว ใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้ใกล้เคียงกับโครงสร้างถาวร พร้อมเสริมความมั่นใจด้วยระบบกรองเชื้อโรคที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มใช้แล้วแห่งแรกที่โรงพยาบาลราชวิถี
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “สถานการณ์ในปัจจุบัน โรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์หลักของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนี้ เรายังมีคนไข้ของแผนกต่าง ๆ ที่เข้ารับการรักษาหรือต้องการการผ่าตัดแบบเร่งด่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนไข้เหล่านี้หลายคนมาแบบฉุกเฉินและไม่สามารถให้ประวัติที่ชัดเจนได้ ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นจะต้องแยกผู้ป่วยเหล่านี้เอาไว้อยู่ในกลุ่มที่รอการยืนยันผล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ด้วยนวัตกรรมห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบ และห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ ที่เราพัฒนาร่วมกับ เอสซีจีทำให้สามารถสร้างระบบการดูแลผู้ป่วย “แยกโรคและเก็บกักเชื้อ” ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์อย่างสูงในการป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและขอขอบคุณทีมวิศวกรเอสซีจีที่เข้ามาร่วมกับทีมแพทย์ของราชวิถี จนสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับสถานการณ์มาใช้งานในเวลาอันสั้น”
ดร. สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม เปิดเผยว่า “เอสซีจีได้พัฒนานวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit หรืออุปกรณ์ป้องกันเชื้อแบบเคลื่อนที่ ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล 3 แห่ง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานจริงของแพทย์มากที่สุด โดยเชื่อมั่นว่านวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยง และเสริมความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้ทีมแพทย์รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ การทำงานด้วยระบบควบคุมความดันอากาศ จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอากาศที่ไหลเข้าหรือออกจะถูกดูดหรือเป่าผ่านเครื่องปรับความดันเเละระบบกรองอากาศระดับ HEPA จึงมั่นใจได้ว่าอากาศที่กรองมีความสะอาด ปลอดภัยทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ ยังออกแบบโครงสร้างทุกชิ้นให้แข็งแรง มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบหลักเนื่องจากมีน้ำหนักเบาแต่คงความแข็งแรงทนทาน ติดตั้งรื้อถอนได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก ถือเป็นนวัตกรรมทางเลือกสำหรับโรงพยาบาล เพื่อช่วยปกป้องบุคลากรการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องพวกเรา โดยวันนี้มูลนิธิเอสซีจี และเอสซีจี ได้นำมามอบให้กับโรงพยาบาลราชวิถีเป็นแห่งแรก”
สำหรับนวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit ที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย
1. ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบ (Negative Pressure Isolation Room) เป็นอุปกรณ์เสริมพิเศษที่ออกแบบให้เหมาะกับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือแม้แต่เป็นห้องพักผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยหนักได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่น ๆ ทำงานด้วยระบบความดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อสู่ภายนอก ซึ่งอากาศที่ไหลออกจากห้องจะถูกดูดผ่านเครื่องปรับความดันเเละระบบกรองอากาศระดับ HEPA ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนชั้นนอก และชั้นในซึ่งเป็นห้องผู้ป่วย ออกแบบเป็นประตู 2 ชั้น (Double Door) และเป็นซิปรูด 2 ทาง เพื่อความสะดวกในการเข้า-ออกของเจ้าหน้าที่ โดยควบคุมความดันของห้องให้คงที่ เพื่อป้องกันการเล็ดลอดของเชื้อ หลังจากปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้พื้นที่บริเวณชั้นนอกสำหรับเปลี่ยนชุดและทิ้งขยะติดเชื้อ โครงสร้างหลักผลิตจากโลหะที่มีความแข็งแรง คลุมด้วยผ้าใบและพลาสติกพีวีซี ใช้เวลาเพียง 30 นาทีในการติดตั้งและรื้อถอน สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ตามพื้นที่ของห้อง
2. ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative / Positive Pressure Isolation Chamber) เป็นห้องตรวจที่ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถสอดมือเข้าไปทำหัตถการ (Swab) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ออกแบบเป็นทรงกระบอกแนวตั้ง ทางเข้าเป็นซิปรูดสำหรับเปิด-ปิด เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน ด้านหน้าเจาะช่องและปิดด้วยพลาสติกใส เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถมองเห็นผู้ป่วยและสื่อสารกันได้ ภายในห้องควบคุมความดันอากาศให้เป็นได้ทั้งลบหรือบวก ซึ่งอากาศที่ไหลเข้าหรือออกจากห้องจะถูกดูดหรือเป่าผ่านเครื่องปรับความดันเเละระบบกรองอากาศระดับ HEPA เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่กรองมีความสะอาดปลอดภัยทั้งภายนอกและภายใน โครงสร้างหลักผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอย และผ้าใบพีวีซี
ด้าน นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิเอสซีจี ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา และรู้สึกห่วงใยในสถานการณ์ที่พี่น้องชาวไทยกำลังเผชิญกันอยู่ขณะนี้ จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “ช่วยกันแคร์ดูแลกัน” ให้ประเทศไทยก้าวผ่านภัยครั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ที่ช่วยยกระดับความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิด โดยที่ผ่านมาได้ส่งมอบความช่วยเหลือให้กับโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลรามาธิบดีไปแล้ว และกำลังเร่งส่งมอบนวัตกรรมต่างๆ ให้แก่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก”
นวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit หรือ อุปกรณ์ป้องกันเชื้อแบบเคลื่อนที่ของเอสซีจี ได้รับการพัฒนาและต่อยอดด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมงาน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางของความปลอดภัย ที่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยสู่บุคลากรการแพทย์ อำนวยความสะดวกและเพิ่มความมั่นใจให้กับของทีมแพทย์ พยาบาล ให้สามารถทำงานต่อสู้กับโควิด-19 อย่างปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ต้องการห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบและห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเปิดรับบริจาคเงินเพื่อจัดหานวัตกรรมดังกล่าว เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลที่มีความจำเป็น ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2888