จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย ทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งสวนทางกับทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนทรัพยากร การแก้ปัญหา คือ เปลี่ยนมุมมอง “ขยะ” ให้เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างไม่มีวันหมด ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้มีขยะเหลือทิ้งน้อยที่สุด และนำขยะเหล่านั้นกลับไปหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบใหม่
นี่คือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่” สมบัติ เทพรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ถอดบทเรียนจากเอสซีจี และนำวิธีการ “บ้านโป่งโมเดล” มาจัดการปัญหาขยะล้นเมือง โดยเริ่มต้นเรียนรู้จากต้นแบบชุมชนบ้านรางพลับ ตำบลกรับใหญ่ จนขยายผลมาสู่ ต.บ้านหนองไม้เฝ้า ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 17 ชุมชน ของ อ.บ้านโป่ง ที่เข้าร่วมโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โดยใช้เวลากว่า 1 ปีเพื่อให้หลุดพ้นวิกฤตขยะ จนก้าวขึ้นเป็นชุมชนการบริหารจัดการขยะยั่งยืนในระดับประเทศ
ก่อนที่บ้านหนองไม้เฝ้าจะประสบความสำเร็จเป็นชุมชนต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน คนในชุมชนก็ขาดความรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม ทำให้นับวันขยะกองโตยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนยากต่อการจัดการบ้างก็ทิ้งไว้หน้าบ้านรอรถขยะมารับ บางรายก็ใช้วิธีการเผา เป็นสาเหตุมลพิษในชุมชน สุดท้ายก็ย้อนกลับมาส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้คนในชุมชนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 4 ปี
“4 ปีก่อนในหมู่บ้านมีขยะเปียก เศษอาหาร ถุงพลาสติก เศษใบไม้ ชาวบ้านกำจัดโดยการเผา เพราะไม่มีความรู้การจัดการขยะถูกวิธี รู้จักแค่การเผาและฝังกลบ ใช้เวลา 2-3 วันไฟจึงมอด ก่อให้เกิดมลพิษทำให้คนในชุมชนป่วย การแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มรถรับขยะก็เป็นเพียงปลายเหตุที่สุดท้ายก็เก็บไม่ทัน” นายกอบต. เขาขลุง เล่าต้นตอของปัญหา
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ขยะ แต่ต้องสร้างความเข้าใจว่า “การจัดการขยะเป็นหน้าที่ของทุกคน”
ถือเป็นความท้าทายของอบต. ที่จะต้องสร้างแรงจูงใจ พร้อม ๆ กับให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ควบคู่กับการปรับทัศนคติและสร้างพฤติกรรมให้มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยเอสซีจีได้มาช่วยอบรมวิธีการจัดการขยะอย่างถูกต้องและยั่งยืน และพาชุมชนไปศึกษาดูงานที่ชุมชนต้นแบบบ้านรางพลับที่มีการแยกขยะในชุมชนอย่างครบวงจร
“บอกกับชาวบ้านว่าถ้าไม่อยากให้ชุมชนมีขยะล้น ต้องช่วยกันคัดแยกขยะครัวเรือนก่อน เริ่มจากพูดเสียงตามสาย จากที่ทำทีละน้อย หาแนวร่วม ร่วมกันคิด ร่วมใจกันทำ จากที่ทำเฉพาะช่วงเทศกาลก็ขยายวงกว้างขึ้น” สมบัติ เล่าถึงความมุ่งมั่น
มณีล้ำค่าจากกองขยะ
การศึกษาดูงานเรื่องการจัดการขยะที่บ้านรางพลับ ทำให้ชุมชนบ้านหนองไม้เฝ้า เห็นการจัดการขยะที่สามารถนำไปสร้างคุณค่าได้มากมายจนกลายมาเป็น 6 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1. ปุ๋ยอินทรีย์แบบกลับกอง 2. การจักรสาน 3. น้ำหมักชีวภาพ 4. ขยะเป็นศูนย์เพิ่มมูลค่า 5. การคัดแยกขยะแบบครบวงจร 6. ไส้เดือนพอเพียง
“เราเริ่มลงมือลองทำตามนโยบายที่เราวางแผนร่วมกันไว้ กำหนดกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน เรามีขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิล ขยะเปียกจากเศษอาหาร ขยะจากการทำการเกษตร ขยะอันตรายจากอุปกรณ์ใส่ยาฆ่าแมลง นอกจากนั้นก็จะเป็นพวกเศษผ้าที่เหลือทิ้ง เราจึงแบ่งหน้าที่ออกเป็นกลุ่มเพื่อคัดแยกขยะออกมาและจัดการอย่างเหมาะสม ผลสำเร็จก็คือ เราได้ทั้งขยะที่นำไปรีไซเคิลใหม่ แล้วก็ขยะที่นำไปขาย” นายกอบต.
เขาขลุง เล่าต่อ
“แต่ก่อนชาวบ้านไม่รู้จักวิธีการทำน้ำหมัก นำเศษอาหารมาเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งที่ช่วยลดต้นทุนการเกษตรได้ และยังสามารถผลิตสินค้าแปรรูปจากวัสดุเหลือใช้ เป็นการพัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย” สุวรรณี รักทอง ชาวบ้านชุมชนหนองไม้เฝ้า เล่าเสริม
ที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาขยะ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม รายได้จากการจัดการขยะรีไซเคิล สามารถนำไปตั้งกองทุนช่วยเหลือสาธารณประโยชน์และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเป็นทุนการศึกษาเยาวชนในชุมชน
ธงชมพู สัญลักษณ์ “บ้านปลอดขยะ”
วิธีสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมีหลากหลายระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน ที่มีการมอบหมายให้ทำหน้าที่ “นักเรียนคุมซอย” หมั่นตรวจตราความสะอาดขยะภายในซอย ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ธงสีชมพูที่แสดงถึง “บ้านปลอดขยะ” เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการก็เป็นการกระตุ้นส่วนที่เหลือหันมาเข้าร่วม จนพร้อมใจกันติดธงชมพูกันทั้งหมู่บ้าน
“เวลาแค่ 1 ปี ชุมชนของเราได้รับรางวัลชมเชยชุมชนปลอดขยะระดับประเทศ ซึ่งเป็นรางวัลที่มาจากความตั้งใจจริง ๆ แล้วมันเห็นผล คนอื่นก็เห็น เขาถึงมอบรางวัลนี้ให้กับเรา วันที่ได้รางวัลมาผมก็ประกาศเสียงตามสายบอกชาวบ้านว่าชุมชนเราได้รางวัลระดับประเทศแล้วนะ สิ่งที่เราลงมือทำกันมันไม่เสียเปล่า” สมบัติ เล่าอย่างภูมิใจ
“ไม่ใช่สะอาดอย่างเดียว แต่ยังได้ทำงานกับคนไม่รู้จักหรือเคยทะเลาะกันมาก่อน ทำให้หันหน้าคุยกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อหมู่บ้านได้รับคำชื่นชมก็ภูมิใจ มีกำลังทำต่อเนื่อง เพื่อให้คนรุ่นหลังร่วมกันสืบทอดให้ยั่งยืน “ สุวรรณี เสริมต่อ
การเปิดใจเรียนรู้ของผู้นำชุมชนและการมีส่วนร่วมของทุกคน ทำให้ชุมชนบ้านหนองไม้เฝ้า สามารถก้าวข้ามสิ่งที่ยากที่สุด คือการปรับทัศนคติและปลูกจิตสำนึก จากที่เคย “มองขยะเป็นสิ่งที่ไร้ค่า” ก็เปลี่ยนมุมมอง “ขยะคือเงินทองที่มีมูลค่า” จนนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมจากใช้แล้วทิ้ง มาเป็นการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ในครัวเรือนซึ่งทุกคนในชุมชนร่วมกันสร้างพลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน จนก้าวขึ้นมาเป็นต้นแบบชุมชนบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และต่อยอดในระดับประเทศได้ต่อไป
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel
Published on: May 14, 2021