‘บึงบางซื่อ’ สถานที่สำคัญของแหล่งวัตถุดิบชั้นเลิศอย่าง ดินดำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ สำหรับก่อสร้างสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมายหลายแห่งบนพื้นแผ่นดินประเทศไทย โดยสถานที่แห่งนี้ SCG ได้เริ่มต้นขุดใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 พร้อมกับการตั้งเพิงพักพิงของคนงานสำหรับอยู่อาศัยในช่วงเวลานั้น
หลังเลิกใช้งานบึงบางซื่อ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2511 ชุมชนดั้งเดิม คือ ครอบครัวคนงานที่เคยทำงานกับเอสซีจียังคงอยู่อาศัยต่อจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งมีคนต่างถิ่นทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่ ก่อกำเนิดเป็นชุมชนที่ชื่อว่า ‘ชุมชนบึงบางซื่อ’ แต่ด้วยจำนวนคนที่แออัด ประกอบกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังเข้าไม่ถึง ทั้ง น้ำประปา ไฟฟ้า ถนนทาง-เข้าออกที่ยังไม่ถูกจัดการ ทำให้กลายเป็นปัญหาขนาดใหญ่ต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนอย่างมาก
บนพื้นที่ขนาด 61 ไร่ เป็นบึงไปแล้ว 53ไร่ และพื้นที่รอบริมขอบบึงเพียง 8 ไร่ ชุมชนบึงบางซื่อใช้ชีวิตเสมือนดั่งอยู่ริมหน้าผาที่มีหลายครอบครัวมากระจายตัวอยู่ตามริมขอบบึง รอวันที่ขอบบึงจะทรุดตัวพังทลายลงไป ด้วยความเป็นห่วงและอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น SCG มีความมุ่งมั่นที่จะคืนประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม โดยร่วมกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน เปลี่ยนจากชุมชนแออัด ให้เป็นชุมชนที่มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง ไปจนถึงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก่อนที่จะมอบที่ดินผืนนี้ให้กรมธนารักษ์ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชุมชน
พัฒนาให้เกิดรูปธรรมที่จัดต้องได้
ในช่วงแรกเริ่มการพัฒนาเต็มไปด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมายจากหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการพัฒนาพื้นเส้นทางเข้าออกเนื่องจากคาบเกี่ยวกับพื้นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำให้หากจะเดินสายไฟหรือท่อน้ำประปาเข้าสู่ชุมชนต้องแจ้งต่อทางภาครัฐหลายส่วนเพื่อขออนุญาต ส่วนต่อมาคือ การจัดการด้านที่อยู่ ที่ต้องสร้างกระบวนการทำความเข้าใจกับชุมชนในการจัดแจงที่อยู่ให้เหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร แต่ด้วยพลังความร่วมมือตามแนวทางสานพลังประชารัฐ ทำให้โครงการเดินหน้า และเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้
ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ คือความร่วมมือและการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่มากกว่าบ้าน แต่จะเป็นวิถีชีวิตของชุมชนที่มีความเอื้ออาทร มีความร่วมไม้ร่วมมือ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม
ชุมชนที่อาศัยด้วยความมั่นคง
ปัจจุบันโครงการระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว คือทาวน์เฮ้าส์ 105 หลัง ชุมชนได้ตบเท้าเข้ามาอยู่อาศัยอย่างเต็มตัว ท่ามกลางสารธารณูปโภคที่ลงมือทำเสร็จเรียบร้อย พร้อมน้ำประปา ไฟฟ้า สิ่งจำเป็น ในวันที่ 11 กันยายน 63 ที่ผ่านมา สำหรับอาคารชุด 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ห้อง จะแล้วเสร็จในไตรมาส1 ปี64
โดย นางสาวอัจฉราพร อิ่มโพธิ์ หนึ่งในผู้อยู่อาศัยชุมชนบึงบางซื่อ ได้เป็นตัวแทนกล่าวความรู้สึกของผู้คนในชุมชนว่า “ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี เอสซีจี ภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยมอบชีวิตใหม่ ให้โอกาสพวกเรามีส่วนร่วมออกแบบบ้านของตนเอง และยังมีบ้านส่วนกลางให้คนสูงอายุที่ไร้อาชีพ อีกทั้งยังสนับสนุนให้เราออมเงินสร้างบ้าน โดยเราจะดูแลบึงน้ำให้สะอาด ในอนาคตอยากพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง เพื่อต่อยอดอาชีพสร้างรายได้ให้กับพวกเรา”
สำหรับค่าใช้จ่ายและการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยในบ้านหลังใหม่ของชุมชนบึงบางซื่อ ทาง SCG ได้สนับสนุนให้ทางชุมชนจัดตั้ง ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ ของชุมชนขึ้นเพื่อนำเงินออมแต่ละก้อนมาลงทุนสำหรับผ่อนชำระบ้านที่อยู่ใหม่กับทาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อสร้างสุขนิสัยในเรื่องการอดออมให้เป็นประจำ ไปจนถึงการเป็นต้นแบบให้แก่อีกหลายครอบครัวที่เตรียมเข้ามาอยู่อาศัย หลังมีการเตรียมการสร้างอาคารชุด 4 ชั้น 133 ยูนิต
ต่อยอดสู่ความยั่งยืนในชีวิต
เมื่อทุกอย่างแสดงให้เห็นแล้วว่าโครงการนี้สามารถทำออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายต่อมาของทาง SCG ที่ต้องการจะมอบให้แก่ชุมชนคือ การต่อยอดสู่ความมั่นคงด้วยการพัฒนาเป็น ‘สวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง’ ที่คนในชุมชนจะสร้างอาชีพสร้างรายได้จากการปลูกสวนเกษตรจากพื้นที่ใช้สอยของชุมชนที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถนำผักสวนครัวที่ปลูกไว้ไปใช้บริโภคหรือนำส่งออกค้าขายได้ แบบไม่ต้องศูนย์เม็ดเงินลงทุน เพราะปุ๋ยทำมาจากเศษอาหารที่มาจากการคัดแยกของชุมชน ส่วนขยะอื่น ๆ อย่างเช่น พลาสติก ทาง SCG ได้นำมาบดแล้วนำไปผสมกับยางมะตอย สำหรับเทพื้นเป็นถนนพลาสติกรีไซเคิลในโครงการ เพื่อให้ชุมชนเห็นถึงการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้คุ้มค่า โดยเทคนิคเหล่านี้ล้วนเกิดจากการกระบวนการความร่วมแรงร่วมใจของ SCG กับ ผู้คนในชุมชนร่วมกัน
ด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะคุณภาพน้ำในบึง จะมีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำทิ้งจากที่พักอาศัย ด้วยระบบ ZyclonicTM by SCG เป็นเทคโนโลยีที่ทาง SCG พัฒนาขึ้น ซึ่งถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผล คือ มีค่าใช้จ่ายในการเดินระบบที่ต่ำ นอกจากนี้ชุมชนบึงบางซื่อยังกันร่วมดูแลไม่ให้มีการปล่อยของเสียลงสู่บึงน้ำ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนกลางกรุงในวันข้างหน้าต่อไป