ร่วมมือ เรียนรู้ ลงมือทำ และส่งต่อ เคล็ดไม่ลับของการฟื้นฟูธรรมชาติ

เมื่อพูดถึงโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ หลายคนคงนึกถึงผงฝุ่นลอยคละคลุ้งท่ามกลางเปลวแดดแผดร้อน แต่ทันทีที่รถของเราเลี้ยวเข้าประตูของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด สิ่งที่เราได้พบกลับเป็นต้นไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นเรียงรายหนาแน่นตลอดสองข้างทาง

สำหรับคนทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรมคือเหรียญคนละด้านกับการฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับ ‘ปูนลำปาง’ โรงงานในประเทศแห่งที่ 5 ของเอสซีจี เรื่องราวดูจะกลับตาลปัตรพลิกผัน

“ตอนที่เราตั้งโรงงาน อาจารย์ทวี บุตรสุนทร ซึ่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในเวลานั้น ให้นโยบายว่าโรงงานของเราอยู่ที่ไหน ป่าไม้ต้องเขียวที่นั่น คำว่าป่าไม้เขียวที่นั่นคือเราต้องดูแลรักษาธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับเขาอย่างยั่งยืน ซึ่งคนปูนลำปางมีความเชื่อเรื่องหนึ่งว่าอุตสาหกรรมกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ถ้ามีการจัดการที่ดี” บวร วรรณศรี ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด บอกกับเราถึงสาเหตุที่ทำให้โรงงานแห่งนี้เต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้

พี่บวรคือพนักงานปูนลำปางยุคแรกเริ่ม เขาเดินทางมาที่นี่ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นพื้นที่โล่งกว้างแห้งแล้ง และใช้เวลาตลอด 23 ปีหลังจากนั้นทุ่มเททำงานร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อนำพาความชุ่มชื้นสมบูรณ์กลับคืนมา

จากป่า สู่ฝาย

จากจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าประมาณ 1,100 ไร่ทั้งในโรงงานและรอบโรงงาน พี่บวรบอกว่าปัญหาที่ติดตามมาคือไฟป่าที่เผาทำลายต้นไม้ซึ่งลงทุนลงแรงช่วยกันปลูก “ในที่สุดก็มีอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเรา และเป็นคณะกรรมการบริษัทของเราในเวลาต่อมา คือคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ท่านแนะนำให้ไปศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรื่องฝายต้นน้ำลำธารเราก็ไปดูไปศึกษา แล้วนำความรู้นั้นกลับมาใช้ เลยเริ่มสร้างฝายในปูนลำปางตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา”

“หลังจากสร้างฝายเราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ คือจุดที่เราสร้างฝายมีความชุ่มชื้น มีความเขียว ผืนแผ่นดินทั้งสองข้างของลำธารมีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้ต้นไม้ที่อยู่รอบๆ เจริญเติบโตได้ดี มีสิ่งมีชีวิต มีผีเสื้อ มีแมลง เราเริ่มเห็นนกหลากหลายชนิดมากขึ้น และเริ่มเห็นร่องรอยของสัตว์ป่า”

ข้อมูลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมหลังการสร้างฝายในพื้นที่ป่ารอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง คือไฟป่าที่ลดลงจากปีละ 200 – 300 ครั้ง เหลือเพียงปีละไม่เกิน 4 – 6 ครั้ง และในช่วงปี 2555 – 2558 ไม่เคยเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่ารอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทยอีกเลย ขณะเดียวกันความชุ่มชื้นก็นำมาซึ่งพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ โดยพบนกเพิ่มขึ้นจาก 78 ชนิดในปี 2535 เป็น 169 ชนิดในปี 2560 พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 22 ชนิด พบสัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด และพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 11 ชนิด

ในปี 2550 หลังจากทำการศึกษาทดลองจนกระทั่งปรากฏผลดีขึ้นอย่างชัดเจน เอสซีจีจึงประกาศต่อสังคมว่าจะทำโครงการ ‘เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต’ โดยจะสนับสนุนชุมชนในการสร้างฝายให้ครบ 10,000 ฝายภายในสามปี คือปี 2550 – 2552

“เราเริ่มจากการแก้ปัญหาของตัวเอง คือปัญหาความแห้งแล้งและปัญหาไฟป่า เมื่อเราเห็นประโยชน์ก็ขยายผลสู่ชุมชน” พี่บวรสรุปที่มาของโครงการสร้างฝายร่วมกับชุมชนของเอสซีจี

จากฝาย สู่ชุมชน

จากจุดเริ่มต้นในปี 2550 ฝายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่มากกว่า 56,000 ฝายที่กระจายไปทั่วพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดใกล้เคียง ก็ทำให้ผืนป่ามีความชุ่มชื้นมากขึ้น และชุมชนมีน้ำใช้สอยอย่างเพียงพอ

เมื่อมีป่าและมีน้ำ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหาของป่ามาขาย การเปิดบ้านเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากนี้ ชุมชนยังต่อยอดไปทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การทำประปาภูเขา การตั้งวิสาหกิจชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พี่บวรให้ข้อมูลทางด้านป่าไม้ในจังหวัดลำปางเพิ่มเติมว่า “สถานการณ์ทางด้านป่าไม้ที่ลำปางทุกวันนี้ดีขึ้นมาก เราทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคประชาชนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดลำปาง ซึ่งเราทำงานร่วมกันในหลายพื้นที่ และมีการทำงานทั้งในภาพใหญ่และภาพเล็ก ปัจจุบันลำปางเป็นจังหวัดที่มีการจดทะเบียนป่าชุมชนมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งมีการดูแลรักษาป่า มีการสร้างฝาย และมีการควบคุมไฟป่า”

สำหรับการทำงานร่วมกับชุมชน พี่บวรบอกว่านี่ไม่ใช่งานง่าย โดยเขาต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะค้นพบเส้นทางที่นำพาไปสู่เป้าหมาย และที่สำคัญคือต้องอาศัยการเรียนรู้และการลงมือทำด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ สิ่งที่ยากไปกว่านั้นคือคำถามที่ว่า ทำอย่างไรชุมชนจึงจะรู้สึกเป็นเจ้าของฝายที่พวกเขาสร้างขึ้น เพราะถ้าชุมชนไม่รู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของ ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

“ในช่วงแรก เราแสวงหาวิธีการ เราศึกษาแนวพระราชดำริเรื่องการระเบิดจากภายใน เรื่องการรู้รักสามัคคี เรื่องการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา แต่เราก็นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร จนกระทั่งในที่สุดเราไปทำงานกับเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำให้เราได้ความรู้กลับมา และเราก็นำความรู้นั้นมาปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ”

กล่าวโดยสรุป พี่บวรบอกว่าจุดเริ่มต้นของการทำงานคือการศึกษาทฤษฎี ขั้นตอนต่อมาคือการเรียนรู้จากผู้มีความรู้และประสบการณ์มากกว่า และขั้นตอนสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำด้วยตัวเอง เพราะการลงมือทำด้วยตัวเองคือที่มาของความรู้และประสบการณ์ และหัวใจของการพัฒนาทั้งหมดคือการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ทั้งชุมชน หน่วยงานต่างๆ ร่วมกับทีมเอสซีจี บวรย้ำชัดว่าเขาไม่ได้ทำสิ่งนี้เพียงคนเดียว

“เราช่วยกันพัฒนา ต่อเติมองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ถ้าขาดชุมชนหรือหน่วยงานอื่นๆ ความสำเร็จอย่างวันนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น”

จากภูผา สู่มหานที

เพื่อสานต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการบริหารจัดการน้ำ พี่บวรบอกว่าตอนนี้สิ่งที่เอสซีจีพยายามทำคือการจัดการระบบนิเวศลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง “แต่ทั้งหมดนี้จัดการโดยชุมชน โดยเรามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง นี่คือสิ่งที่เราพยายามสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน และท้ายที่สุด ชุมชนที่ทำสำเร็จก็จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ชุมชนอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายกันมาศึกษาและนำไปขยายผลต่อไป”

โครงการ ‘รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหานที’ คือต้นแบบการจัดการระบบนิเวศลุ่มน้ำทั้งระบบที่พี่บวรกล่าวถึง โดยนอกจากส่งเสริมให้ชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำ 100,000 ฝายภายในปี 2563 เอสซีจียังร่วมกับชุมชนในพื้นที่เชิงเขาขุดสระพวงเพื่อเก็บกักน้ำจากฝายชะลอน้ำ และจัดทำระบบแก้มลิงเพื่อกระจายน้ำในพื้นที่ราบ ตลอดจนฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเลด้วยการสร้างบ้านปลา เพื่อเพิ่มที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก

สำหรับ ‘ปูนลำปาง’ พี่บวรบอกว่า ณ เวลานี้ หน่วยงานชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติที่เขาเป็นผู้จัดการนั้นทำงานร่วมกับ 44 ชุมชน และจะเพิ่มเป็น 72 ชุมชนในปีนี้ “ถามว่าทีมใหญ่ไหม ถ้ามองในภาพรวม ทีมของเราก็ใหญ่นะ เราทำงานร่วมกับคนเป็นหมื่นที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขยายและกระจายองค์ความรู้ที่พวกเรามี”

เมื่อถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จ ตั้งแต่การนำป่าที่อุดมสมบูรณ์กลับคืนมา ไล่เรียงมาจนถึงการสร้างและส่งต่อองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการน้ำไปสู่ชุมชนทั่วประเทศ พี่บวรกล่าวว่านอกเหนือจากการสนับสนุนของผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานที่เอสซีจี การเรียนรู้จากการลงมือทำและการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม คือสองปัจจัยสำคัญที่คนทำงานต้องตระหนักอยู่เสมอ หากต้องการให้สิ่งที่ลงทุนลงแรงไปนั้นดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

“อันที่จริง การฟื้นฟูป่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือชุมชนที่เป็นเจ้าของป่า ส่วนหน่วยงานต่างๆ ที่ไปร่วม เปรียบเหมือนพี่เลี้ยงนักมวย ชุมชนคือนักมวย หน้าที่ของพี่เลี้ยงคือช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีทักษะ มีความชำนาญมากขึ้น แต่ชุมชนต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นชุมชนก็จะได้รับ เมื่อเขาได้รับประโยชน์ ชุมชนก็จะรักษาประโยชน์นั้น นั่นคือความยั่งยืน”

(Visited 1,059 times, 1 visits today)