เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง (บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประกาศความร่วมมือ ทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนา “โครงการขับเคลื่อนการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน” การสู่เป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Green House Gas Emissions) ร่วมกันพัฒนาและผลักดัน การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงต่อไป
ความร่วมมือระหว่างสององค์กรในครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกันศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างระบบ Net-Zero Construction Platform อาทิ กรรมวิธีการก่อสร้างแบบแห้ง (Dry Process Construction) การใช้วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Material) หรือวัสดุที่มีค่าคาร์บอนเป็นลบ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในประเทศอีกด้วย รวมไปถึงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการอยู่อาศัย ภายในบ้านและอาคาร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดียิ่งขึ้นท่ามกลางภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน อาทิ การลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน การเพิ่มคุณภาพอากาศที่ดีภายในที่อยู่อาศัย โดยใช้นวัตกรรมด้านการออกแบบเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ
นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์ ESG ในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีโดยตรง ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิงมุ่งเสาะหา และพัฒนาวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ โซลูชันการอยู่อาศัยที่ทำให้เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการลดการใช้พลังงาน รวมถึงกระบวนการก่อสร้างทางเลือก ที่ทำให้การก่อสร้างในอนาคต ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น”
“การลงนามความร่วมมือนี้ เป็นความร่วมมือ เชิงวิชาการด้านการออกแบบ และพัฒนานวัตกรรม รวมถึงระบบการก่อสร้างเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนครั้งแรกของเอสซีจี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน และการพัฒนาวัสดุคาร์บอนต่ำแล้ว เราหวังว่าแผนงานที่ได้จากโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ ผลักดันและส่งเสริมกระบวนการการก่อสร้างแบบแห้งให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เกิดการนำมาใช้จริงในอนาคต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัสดุคาร์บอนต่ำมากขึ้น ให้เป็นทางเลือกให้กับนักออกแบบ เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการ เพื่อร่วมกันสร้างการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ในฐานะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ ทั้งในส่วนของการสร้างองค์ความรู้ และการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญ ในการเชื่อมโยงระบบนิเวศการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของคณะที่มุ่งมั่นพัฒนางานสถาปัตยกรรมและการออกแบบสู่สังคมแห่งอนาคต ทั้งการส่งเสริมการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน การต่อยอดภูมิปัญญา และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับประเทศ คณะ จึงมีความคาดหวังว่า ความร่วมมือระหว่างสององค์กร จะช่วยส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการอยู่อาศัย และการก่อสร้างที่ยั่งยืนในอนาคต ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน และร่วมผลักดันการสื่อสารองค์ความรู้สู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจะผ่านการสัมมนา การจัดนิทรรศการ ต่อยอดงานวิจัยเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ ให้กับสถาปนิกและนักออกแบบ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงนิสิต นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ในระดับนโยบายให้กับภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน และสร้างการเชื่อมต่อ ระบบนิเวศการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ที่แท้จริงต่อไป
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญ ในการยกระดับทั้งการเรียนการสอน และการวิจัยและพัฒนา ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบแบบบูรณาการที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวก กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ในระดับประเทศและนานาชาติ
Published on: May 21, 2025
