โปรโม-โปรเม พี่น้องโปรกอล์ฟหญิงระดับโลก กับแนวคิด “ถ้าอยู่รวมกันแล้วมันไม่ดี คงถึงเวลาที่ต้องแยก!”

กระแสของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่ายินดีคือมีผู้คนมากมายที่เริ่มลงมือทำ ทั้งยังมีหลายหน่วยงานออกมาสนับสนุนและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แต่ทว่าโลกกลับต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่ความรุนแรงscgbeegreen2020ของสถานการณ์เข้ามาเบียดขับกระแสสิ่งแวดล้อมให้หลุดออกไปจากความสนใจของสังคม

พฤติกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดขยะ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจึงถูกเบรกไว้ก่อน ซ้ำร้ายปริมาณขยะทั่วโลกยังเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ รวมถึงขยะติดเชื้อต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความต้องการลดการแพร่ระบาดของไวรัส – จริงไหมที่วิกฤตโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อพฤติกรรมการลดขยะ ในสถานการณ์เช่นนี้เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่จริงแล้วเราสามารถรักษาทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ พบคำตอบในบทสนทนากับ ‘โปรโม’ – โมรียา จุฑานุกาล และ ‘โปรเม’ – เอรียา จุฑานุกาล สองพี่น้องโปรกอล์ฟระดับโลก ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนหันมาสนใจเรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงบทบาทของการเป็นทูตรณรงค์เรื่อง Circular Economy หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของ SCG เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจ และทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญในการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

เพราะแม้หลายวิกฤตในโลกจะชี้ให้เห็นว่าเราทุกคนมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เราทุกคนก็สามารถมีส่วนช่วยโลกนี้ได้เช่นกัน และทัศนคติที่ว่า “คัดแยกขยะไปก็เท่านั้น สุดท้ายเขาก็เอาไปรวมกันอยู่ดี” เป็นความเชื่อที่ไม่จริง

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนสนใจเรื่องการคัดแยกขยะ 

โปรเม: เพราะเราได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็กๆ ที่นั่นการคัดแยกขยะถือเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมของเขาอยู่แล้ว แทบทุกบ้านจะคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โมและเมจึงได้รับการปลูกฝังนิสัยนี้มาจนเป็นความเคยชิน ส่วนจุดที่ทำให้เราเริ่มหันมาศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นก็ตอนที่เราได้มาเป็นทูตรณรงค์เรื่อง Circular Economy ผ่านแนวทางปฏิบัติ SCG Circular Way ให้กับทาง SCG ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจให้เราและยืนยันว่าสิ่งนี้สำคัญกับเราทุกคนและโลกของเรา เมื่อเรามองเห็นว่าเราควรจะคัดแยกขยะยังไง เพื่ออะไร มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและอยากจะทำมันมากขึ้น

โปรโม: ตอนที่เราไปอยู่อเมริกาแรกๆ เราไม่สนใจเรื่องการคัดแยกขยะเลย ตอนที่เห็นคนเขาทำกันเราก็จะงงๆ ว่าเขากำลังทำอะไร แล้วเขาทำเพื่ออะไร ซึ่งเราก็จะโยนขยะลงไปในถังต่างๆ ด้วยความไม่แน่ใจว่าถูกต้องแล้วหรือเปล่า ส่วนจุดที่ทำให้เราเริ่มแยกขยะอย่างจริงจังก็คือตอนที่เริ่มซื้อบ้านที่อเมริกา ทุกครั้งที่เก็บขยะจะแยกออกเป็นสามถังอย่างชัดเจน ได้แก่ ขยะแห้ง ขยะเปียก และขยะรีไซเคิล เพราะที่นั่น เขาจะให้คนทิ้งแยกขยะให้ชัดเจน

ดูเหมือนว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกคุณ 

โปรโม: ใช่ๆ ด้วยความที่ทุกคนทำ มันก็เปลี่ยนให้คนที่ไม่เคยให้ความสนใจในการแยกขยะอย่างเราหันมาทำสิ่งนี้บ้าง ในกรณีของเราต้องบอกว่าสิ่งแวดล้อมมีส่วนมาก ระบบที่อเมริกาปลูกฝังให้คนสนใจสิ่งแวดล้อม พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดเป็นความเคยชิน กลายเป็นว่าถ้าวันไหนเราทิ้งผิดถังขึ้นมา วันนั้นเราจะรู้สึกไม่ดีไปเลย

โปรเม: นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว เมคิดว่าเราต้องเริ่มศึกษาหาความรู้ด้วย เมื่อก่อนเมไม่เข้าใจเลยนะว่าเราจะแยกขยะไปทำไมกัน เพราะเราโตมากับทัศนคติที่ว่า เดี๋ยวเราแยกขยะไป สุดท้ายเขาก็เอาไปรวมกันอยู่ดี คือเราไม่รู้มาก่อนว่าจริงๆ แล้วขยะที่เราทิ้งมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าโลกนี้จะไม่มีคำว่า ‘ขยะ’ ถ้าเรารู้จักแยกมันให้ถูกวิธี

โปรโม: ยกตัวอย่างเช่นขยะเปียกหรือเศษอาหารต่างๆ เราสามารถนำไปทำปุ๋ย หรือยังนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ต่อได้อีกด้วย ส่วนขยะแห้งอย่างเช่นขวดพลาสติกหรือกระป๋อง เราก็นำกลับมาใช้ต่อได้เช่นกัน อีกอย่างที่โมมักทำเป็นประจำก็คือการใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันให้นานที่สุด เช่น การนำเสื้อยืดที่เริ่มเบื่อแล้วมาตัดแขน หรือดัดแปลงรูปแบบของมัน นอกจากเราจะได้เสื้อตัวใหม่แล้วเรายังรู้สึกสนุกด้วย รวมไปถึงการนำสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) อย่างง่ายๆ  ที่ใครๆ ก็ทำได้ อย่างเช่น นำกล่องพลาสติกที่ร้านอาหารให้มาล้างแล้วใช้ซ้ำอีก พอถึงเวลาต้องทิ้งจริงๆ ก็แยกให้ถูกถัง เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการช่วยชะลอการเกิดขยะไปได้ไม่น้อยทีเดียว

ในวิกฤตโควิด-19 ดูเหมือนว่ากระแสรักษาสิ่งแวดล้อมจะถูกเบรกไว้ก่อน และขยะต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง 

โปรเม: หลายคนจะรู้สึกว่าหยุดทุกเรื่องไว้ก่อนเถอะ เพราะไวรัสกำลังท้าทายชีวิตพวกเราทุกคนอยู่ในระดับวิกฤตด้วย แต่เมคิดว่าเรายังสามารถใช้ชีวิตโดยป้องกันโควิด-19 ไปพร้อมๆ กับการแยกขยะได้ อย่างน้อยคือเราแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และอุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอาไว้เพื่อให้คนเก็บขยะทำงานได้สะดวกมากขึ้น ต่อให้วิธีนี้ไม่อาจลดขยะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเราได้ช่วยเหลือคนและโลกบ้าง

โปรโม: เราสองคนมักจะพกกระติกน้ำไปไหนมาไหนอยู่แล้ว ซึ่งมันก็สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อด้วยการไม่ใช้ของร่วมกัน ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยกับตัวเองและคนอื่น รวมถึงเป็นการไม่เพิ่มปริมาณขยะที่ไม่จำเป็น โมว่าเรื่องนี้ทุกคนสามารถทำได้เลยนะ

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ THE MOMENTUM

(Visited 405 times, 1 visits today)