เอสซีจี จัดทำโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เอสซีจี จัดแถลงข่าวโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายจิตอาสา และพนักงาน ร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้วยการทำ 3 กิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งบรรเทาภัยแล้งระยะเร่งด่วนด้วยการส่งมอบถังเก็บน้ำ บรรเทาภัยแล้งระยะยาวด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี, พลโท ธเนศ กาลพฤกษ์ รองเสนาธิการทหารบก ผู้แทนจากกองทัพบก, ผู้แทนจากมูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และตัวแทนชุมชนเข้าร่วมงาน พร้อมปล่อยคาราวานส่งมอบถังเก็บน้ำชุดแรก

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และพลโท ธเนศ กาลพฤกษ์ รองเสนาธิการทหารบก
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และพลโท ธเนศ กาลพฤกษ์ รองเสนาธิการทหารบก

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เนื่องในมหามงคลสมัยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณีในวันที่ 4 – 6 พ.ค 2562 นี้ เอสซีจี ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายราชสดุดี ด้วยการเชิญชวนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมทั่วประเทศ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล ผ่าน 3 กิจกรรม ได้แก่

  1. กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วน ในช่วงเดือนเม.ย. ถึง ก.ค. 2562 โดยร่วมกับกองทัพบก จัดคาราวานส่งมอบถังเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 1,000 ใบ ซึ่งผลิตด้วยวัสดุพอลิเมอร์ “เอลิเซอร์” นวัตกรรมของเอสซีจีเพื่อการผลิตถังเก็บน้ำให้มีความแข็งแรง ทนทาน สีไม่ลอก ปราศจากตะไคร่น้ำ กลิ่นไม่พึงประสงค์ สารตะกั่ว ปรอท และสารหนู จึงปลอดภัยต่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอย่างหนัก พร้อมเชิญชวนเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมทำฐานติดตั้งถังเก็บน้ำจากวัสดุรีไซเคิลที่เหลือจากการก่อสร้าง ซึ่งออกแบบโดยทีมงานเอสซีจีให้สอดคล้องกับแนวทาง SCG Circular Way หรือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  2. กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว โดยร่วมกับชุมชนและจิตอาสา สร้างฝายชะลอน้ำ 10,000 ฝาย ปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที 10,000 ต้น สร้างสระพวงเชิงเขาและระบบแก้มลิงในพื้นที่ราบ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ในพื้นที่ชุมชนเป้าหมายที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 18 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
  3. กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” โดยมูลนิธิเอสซีจี ร่วมกับเครือข่ายจิตอาสา ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้บริการตามความประสงค์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ โรงพยาบาลดังกล่าวก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับพสกนิกรที่บริจาคสมทบทุนสร้าง เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) ตั้งแต่ปี 2520

ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ได้ให้การดูแลรักษาประชาชนในถิ่นทุรกันดารมากว่า 40 ปี จากดำริของรัฐบาลไทยในปี 2520 ซึ่งเป็นปีมหามงคลอีกปีหนึ่ง กล่าวคือ มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือสมเด็จพระยุพราชในขณะนั้น รัฐบาลจึงร่วมกับประชาชนสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นทั้งสิ้น 21 แห่ง ซึ่งถือเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระองค์ เพราะขณะนั้นประเทศไทยประสบความยากลำบากในการดูแลความเป็นอยู่ของทหารและประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น ได้พระราชทานพระราโชบาย 3 ข้อ คือ 1.) ให้ทำการรักษาประชาชนในถิ่นทุรกันดารเป็นอย่างดี 2.) ให้เร่งพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพระดับประเทศและนานาชาติ จนโรงพยาบาลได้ขยายขอบเขตไปมาก มีคนมาเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก จึงมีการตั้งมูลนิธิส่วนกลางและมูลนิธิของแต่ละโรงพยาบาลรับผิดชอบการจัดหาทุนมาพัฒนาโรงพยาบาล และ 3.) ให้นำความรู้และประสบการณ์มาขยายต่อภายนอกโรงพยาบาล โดยการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น รพสต. จนกระทรวงสาธาณสุขได้นำพระราโชบายนี้ไปขยายต่อยอดด้วย

และในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ซึ่งจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เราไม่ได้เห็นมากว่า 72 ปี เอสซีจีจึงจัดกิจกรรมนี้ขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยเหลือ อาทิ กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคีเครือข่าย สสส. ที่ร่วมกันออกแบบพื้นที่ในโรงพยาบาลว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้คนไข้เกิดความสุขทั้งกายและใจ นอกเหนือจากการให้การรักษาพยาบาลที่ดี นอกจากนี้ จะมีเอสซีจี ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง กลุ่มผู้แทนจําหน่าย และพนักงานจิตอาสาจากเอสซีจี นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ตลอดจนผู้นำชุมชน ร่วมกันสนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการให้เป็นไปตามความประสงค์ของโรงพยาบาล เช่น การสร้างห้องสุขาเพิ่มเติมสำหรับญาติคนไข้ หรือการมอบอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลขาดแคลน”

ร่วมปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำบรรเทาภัยแล้ง
ร่วมปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำบรรเทาภัยแล้ง

ส่วน พลโท ธเนศ กาลพฤกษ์ รองเสนาธิการทหารบก กล่าวว่า “กองทัพบก มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมในโอกาสอันสำคัญยิ่งที่คนไทยและทั่วโลกตั้งตาคอยในครั้งนี้ กับกิจกรรมเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง เพราะกองทัพบกเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีทั้งกำลังพล เครื่องมือ และยานพาหนะ จึงมีศักยภาพที่จะสามารถร่วมช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมใน 18 จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง โดยเรามีหน่วยทหาร พร้อมรถบรรทุกน้ำจุ 6,000 ลิตร จำนวน 1,000 คัน ที่จะไปเติมน้ำในถังของเอสซีจีซึ่งจะไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนผ่านวิกฤตภัยแล้งนี้ไปได้ ตามเจตนารมณ์ของกองทัพบกที่พร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนจิตอาสา จึงถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้คลายความทุกข์มากว่า 20 ปี ทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้น และการร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การทำแก้มลิง เพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น

สำหรับเอสซีจีนั้น ได้ร่วมกิจกรรมนี้กับกองทัพบกมากว่า 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2558 เริ่มต้นที่การมอบถังน้ำและเติมน้ำในถังจำนวน 125 ถัง จนมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง จึงถือเป็นคุณูปการที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน และขอเรียนเชิญพี่น้องจิตอาสามาร่วมกันสร้างฐานที่ตั้งของถังน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีเอสซีจีเป็นผู้ออกแบบและสนับสนุนวัสดุให้ในครั้งนี้”

สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.scg.com/volunteerproject

กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ”
กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” ปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที 10,000 ต้น
(Visited 454 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว