ระยอง (23 มิถุนายน 2561) – เอสซีจี ร่วมกับภาครัฐและชุมชนประมงพื้นบ้าน จัดกิจกรรม “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที… จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจี” ณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ จ.ระยอง โดยกิจกรรมในปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที ของเอสซีจี ซึ่งมุ่งสืบสาน รักษาต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานจาก “จากภูผา สู่มหานที” เพื่อเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ในปีนี้ เอสซีจี ได้ระดมพล้งจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 900 คน มาร่วมประกอบบ้านปลาจำนวน 50 หลัง เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ใต้ท้องทะเล เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำและฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเล พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน
โครงการบ้านปลาเอสซีจีริเริ่มขึ้นในปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน การดำเนินธุรกิจในจังหวัดระยองทำให้เอสซีจีได้ใกล้ชิดกับชุมชนและเล็งเห็นถึงปัญหาปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง จัดทำโครงการบ้านปลาเอสซีจีขึ้น โดยเอสซีจีได้นำท่อ PE 100 ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงานมาใช้ประกอบเป็นบ้านปลา ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ Waste ให้เกิดประโยชน์ตามหลักการ Circular Economy โดยท่อ PE100 ดังกล่าวมีความแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน โครงการบ้านปลาเอสซีจีย่างเข้าสู่ปีที่ 7 และได้จัดวางบ้านปลาลงสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้วกว่า 1,400 หลัง ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี เกิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 35 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านช่วยกันรักษาและดูแลให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์
นับตั้งแต่จัดวางบ้านปลาเป็นครั้งแรกในปี 2555 เอสซีจีได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ กลุ่มประมงพื้นบ้านและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อศึกษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยการสำรวจในเดือนธันวาคมปี 2560 พบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีการจัดวางบ้านปลามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจ กลุ่มปลาสวยงาม กลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อน กลุ่มสัตว์เกาะติด และกลุ่มแพลงก์ตอน
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนบริหารจัดการน้ำในจังหวัดระยองตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นโครงการบ้านปลา หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่การวางบ้านปลาหรือการสร้างฝายเท่านั้น แต่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลาและดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พลังของจิตอาสาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน”
“ขณะนี้เอสซีจีได้พัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่ คือวางครั้งเดียวเป็นกลุ่ม 10 หลัง โดยผูกเข้าด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบก และใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา ระบบนี้ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการวางบ้านปลา รวมถึงหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางบ้านปลาแบบเดิม นอกจากนี้ เอสซีจีกำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเลและชุมชนมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลา ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกด้วย” นายชลณัฐ กล่าวเสริม
นายธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “วิถีประมงเรือเล็กพื้นบ้านเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดระยอง และภาคอุตสาหกรรมคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด การได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของทั้งสองฝ่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างเช่นวันนี้ทำให้ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าโครงการบ้านปลาเอสซีจีจะเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยผลักดันการพัฒนาจังหวัดระยองให้ประสบความสำเร็จ ตามวิสัยทัศน์ ‘เมืองนวัตกรรมก้าวหน้า พัฒนาอย่างสมดุล บนพื้นฐานความพอเพียง’ และสามารถสนับสนุนการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนควบคู่กับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเกื้อกูลกันและยั่งยืน”
นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กล่าวว่า “โครงการบ้านปลาเอสซีจีสอดคล้องกับภารกิจของ สบทช. ในการป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไปพร้อมกับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นต้องอาศัยชุมชนที่เข้มแข็งซึ่งร่วมกันกำหนดกฎกติกาในการดูแลทรัพยากรไปจนถึงการปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของการประมงเชิงอนุรักษ์ บ้านปลาที่เกิดจากความสามัคคีของชุมชนจึงเปรียบเสมือนธนาคารในทะเลที่กลุ่มประมงจะสามารถพึ่งพาเพื่อยังชีพตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน”
นายไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อ.เมือง และ อ.บ้านฉาง สามัคคี กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการบ้านปลา นอกจากจะทำให้เรามีส่วนช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของท้องทะเลแล้ว ยังทำให้เกิดความสามัคคีกันในกลุ่มชาวประมง เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง พวกเรามุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีในการทำประมงเชิงอนุรักษ์นี้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาอาชีพประมงพื้นบ้านให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป”
เอสซีจีตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกลุ่มประมงพื้นบ้านในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกภายในปี 2563 โดยในปีหน้าจะจัดทำบ้านปลาเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400 หลัง
###
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
เอกภพ พันธุรัตน์ (เอก) อีเมล: eakkapop.panthurat@ogilvy.com โทร. 089-676-6234
จิตรทิวัส ราชคม (ก็อบ) อีเมล: jitthiwa.ratchakhom@ogilvlvy.com โทร. 062-614-5692
ชาลิสา แสงวรรณ์ (ฝน) อีเมล: chalisa.sangwan@ogilvy.com โทร. 080-227-1717