ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี โดย นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่งมอบทุ่นกักขยะลอยน้ำจำนวน 20 ชุด ให้กับนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำไปขยายผลติดตั้งร่วมกับทุ่นของ ทช. ณ บริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา พร้อมนำร่องในพื้นที่ 13 จังหวัด เพื่อลดปริมาณขยะไหลลงสู่ทะเล คาดว่าจะช่วยกักขยะได้ 30 ตัน ภายใน 6 เดือน ล่าสุด เอสซีจีเปิดตัวต้นแบบ “หุ่นยนต์เก็บขยะลอยน้ำ 4.0”ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเพื่อเก็บขยะในบริเวณที่น้ำนิ่ง หรือบริเวณที่ทุ่นเข้าไม่ถึง
ทุ่นกักขยะลอยน้ำ โดยความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับการพัฒนาขึ้นสำหรับติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา โดยออกแบบให้มีกลไกฝาเปิดปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดันช่วยกักขยะลอยน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ขยะที่กักได้ไม่หลุดลอยออกนอกทุ่นตามอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และทช. ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “พัฒนาอุปกรณ์ติดทุ่นกักขยะลอยน้ำสำหรับติดตั้งในบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา โดยได้ทดลองติดตั้งทุ่นกักขยะแล้ว 5 จุด ณ บริเวณปากแม่น้ำระยอง และคลองในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้ผลเป็นที่พอใจสามารถรวบรวมและกักขยะลอยน้ำได้เฉลี่ย 7.7 กิโลกรัม/วัน/ชุด โดยจะขยายผลติดตั้งทุ่นกักขยะอีก 20 จุด ใน 13 จังหวัดนำร่อง
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาขยะทะเล จำเป็นต้องจัดการขยะอย่างเป็นระบบทั้งบนบกและในทะเล ควบคู่กับการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และพลาสติกที่ไม่จำเป็นลงให้ได้ เพราะขยะที่ไหลลงสู่ทะเลเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายทรัพยากรทางทะเล สัตว์ทะเล และระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์ ซึ่งกลายเป็นวิกฤตสำคัญของไทยที่ต้องแก้ไขให้ได้ทั้งระบบอย่างจริงจัง ซึ่งลูกพะยูน “มาเรียม” กลายเป็นแรงกระตุ้นจิตสำนึกของคนให้เห็นภัยของขยะพลาสติก ต่อชีวิตสัตว์ทะเลหายากมากขึ้น เนื่องจากไทยมีขยะพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ดังนั้น พลาสติกที่ไม่จำเป็น เมื่อใช้แล้วต้องทิ้งให้ถูกที่ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือหลักการ 3R ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ดังเช่น ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับเอสซีจี ในการพัฒนาทุ่นดักขยะร่วมกัน รวมทั้งบทบาทการเป็นผู้นำของไทยในฐานะประธานอาเซียน ปี พ.ศ. 2562 ในการจัดการปัญหาขยะทะเลในอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “โครงการพัฒนาอุปกรณ์ติดทุ่นกักขยะลอยน้ำสำหรับติดตั้งในบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา เกิดจากความมุ่งมั่นของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเอสซีจี ที่จะร่วมกันลดปัญหาขยะในทะเล โดยขยะส่วนใหญ่ไหลผ่านชุมชนมาตามแม่น้ำลำคลองและไหลลงสู่ทะเล ซึ่งจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าประเทศไทยมีแม่น้ำลำคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลจำนวนกว่า 500 สาย เอสซีจี และ ทช. จึงร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์สำหรับติดทุ่นกักขยะลอยน้ำของ ทช. โดยมีกลไกฝาเปิดปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดัน ช่วยกักเก็บขยะได้โดยไม่ไหลย้อนกลับจากการเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำและอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งทุ่นที่ได้รับมอบจากเอสซีจี จำนวน 20 ชุดนี้ จะนำไปติดตั้งในพื้นที่ 13 จังหวัดชายทะเล ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี พังงา ภูเก็ต สตูล และระนอง คาดว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลได้อย่างน้อย 30 ตันภายใน 6 เดือน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการจัดการเพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่ทะเล ลดผลกระทบที่จะเกิดต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก”
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากขยะในแม่น้ำลำคลองไหลสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทางทะเล โดยความร่วมมือระหว่าง ทช. และ เอสซีจีในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ได้นำนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งน้ำ สำหรับ “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ” ที่เอสซีจีได้ส่งมอบให้กับ ทช. จำนวน 20 ชุด ในครั้งนี้ ทาง ทช. จะนำไปวางบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา รวม 20 จุด ในพี้นที่ 13 จังหวัดนำร่อง เช่น เพชรบุรี ระยอง สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ ทุ่นกักขยะลอยน้ำจะอยู่ในการดูแลของ ทช. โดยเอสซีจี จะร่วมติดตามผล และศึกษาการจัดการขยะที่เก็บได้จากแหล่งน้ำ เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และป้องกันไม่ให้กลับสู่แหล่งน้ำอีก”
“นอกจากนี้ เอสซีจียังได้นำความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์มาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ “หุ่นยนต์เก็บขยะลอยน้ำ 4.0” ซึ่งจะช่วยเก็บขยะในพื้นที่น้ำนิ่ง และพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก โดยได้นำระบบ ML (Machine Learning) และ IoT (Internet of Things) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังออกแบบให้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมทดลองใช้ภายในปลายปี 2562 นี้” นายชลณัฐกล่าวทิ้งท้าย