ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน ณ บริเวณรอบ เขายายดา จ.ระยอง ยังเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ยามแล้งไฟป่ามาเยือนเมื่อถึงคราวหน้าฝน แม้ฝนจะตกแต่ผืนดินก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ทั้งยังเกิดดินถล่มจนเซาะหน้าดินแทบไม่เหลือ จากความทุกข์ยากทั้งของตนเองและลูกบ้าน ทำให้ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง คิดหาทางให้ป่ากลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
“หมู่บ้านเรามันแห้งแล้งถึงปีก็ไฟไหม้ เราเลยทำโครงการปลูกป่า เราได้แค่ปลูก แต่ไม่รู้ว่าจะทำให้ป่าสมบูรณ์ยังไง อยากทำฝายก็ทำไม่เป็น ทำฝายปูนมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ เลยกลับมาคิดใหม่ว่า พ่อหลวง บอกว่าฝายชะลอน้ำไม่จำเป็นต้องเป็นฝายถาวร มันเป็นฝายที่พังทลายแล้วเราก็ทำขึ้นมาใหม่ได้”
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นพลังให้ผู้ใหญ่วันดีสู้ต่อพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งมีประสบการการณ์สร้างฝายชะลอน้ำและโครงการรักษ์น้ำเพื่ออนาคต จ.ลำปาง มาแล้ว เอสซีจี เคมิคอล์ จึงได้เข้าไปให้คำปรึกษาและความร่วมมือกับชุมชนรอบเขายายดาในการสร้างฝายชะลอน้ำ นับถึงวันนี้ก็มีจำนวนกว่า 6,800 ฝาย ซึ่ง ปาณฑรา สุธีระวงศา ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์ เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ให้ข้อมูลว่า
“เราเริ่มเข้ามาร่วมสร้างฝายกับชุมชนรอบเขายายดา ตั้งแต่ปี 2550 ตอนแรกมี 1-2 ชุมชน ต่อมาขยายเครือข่ายการสร้างฝายได้รอบเขายายดา 10 หมู่ ซึ่งหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ก็เป็นหนึ่งในนั้นทำกันมาเรื่อยๆ ชาวบ้านก็เริ่มเห็นผลว่าการสร้างฝายแล้วฝนตกลงบนภูเขาจากเดิมที่ไม่มีฝายชะลอน้ำ ช่วงน้ำหลากก็ไหลมาหมดไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ พอหน้าแล้งต้นไม้ก็เปลี่ยนสีเหมือนป่าผลัดใบ ใบไม้แห้ง ป่าเหลือง เกิดไฟป่า แต่พอชุมชนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบนเขายายดา เพราะฝายที่เราสร้างต้องหมั่นดูแลและซ่อมแซม จึงให้ทุกครั้งที่ชุมชนเข้ามาตรวจสอบสภาพฝายจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงของป่าที่กลับมาเขียวชอุ่ม และไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในฤดูแล้ง”
สำหรับฝายชะลอน้ำนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ ยึดหลักพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องการทำ “ฝายแม้ว” ที่ห้วยฮ่องไคร้ โดยใช้วัสดุธรรมชาติไปขวางกั้นร่องน้ำเล็กๆ บนภูเขา เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้น้ำมีโอกาสซึมลงไปยังพื้น เหมือนดินเป็นฟองน้ำคอยซับน้ำ เขายายดาเป็นเขาที่มีหินเยอะ ดังนั้นวัสดุในการทำฝายจึงใช้หินเป็นหลัก และมีการเข้าไปทำฝายรวมถึงซ่อมบำรุงปีละไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ทำให้วันนี้ป่าเขายายดากลับมาคงคืนความอุดมสมบูรณ์ เป็นคววามหวังให้ชุมชนบ้านมาบจันทร์ประกอบสัมมาอาชีพด้วยวิถีพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมี เอสซีจี เคมิคอลส์เป็นเพื่อนและพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด
ต่อยอดความคิดพัฒนาชุมชน
“เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาสนับสนุนเราไม่ใช่แค่เรื่องทำฝาย ปลูกป่า ตรงไหนเป็นป่าเสื่อมโทรม ก็ช่วยเราปลูกป่าหาพันธุ์ไม้ เอาบุคลากรมาช่วยเข้ามาส่งเสริมเราตลอดเวลา ขอให้เราเอ่ยปากว่าเราต้องการอะไรทำแล้วเกิดประโยชน์กับหมู่บ้าน ชุมชน เขาจะเข้ามาสนับสนุนทันที แม้กระทั่ง ผู้ใหญ่ประกวด “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข” ระดับจังหวัด เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังเข้ามาช่วยทำป้ายบอกที่ตั้งสถานที่แหล่งท่องเที่ยว บอกที่ตั้งของจุดคุ้มต่างๆ ช่วยทำโบรชัวร์”
นอกจากนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการประกอบอาชีพ รวมถึงยังมีส่วนช่วยในการหาตลาดให้ชาวบ้านมีช่องทางการจัดจำหน่าย โดยบ้านมาบจันทร์มีบ้านเรือนประมาณ 240 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 400 คน ในหมู่บ้านจะมีการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือสร้างผลผลิตทางการเกษตรขึ้น
การแบ่งกลุ่มจะแบ่งตาม “ซอย” ภายในหมู่บ้าน เรียกว่า “คุ้ม” มีด้วยกัน 6 คุ้ม ได้แก่ คุ้มที่ 1 เห็ดฟางสร้างอาชีพ (กลุ่มเพาะเห็ดฟาง) คุ้มที่ 2 ผูกผ้า ป่าสักรักสวย (กลุ่มพับจับจีบผ้าประดับตกแต่งสถานที่) คุ้มที่ 3 น้ำพริก สร้างสรรค์ มาบจันทร์หมู่ที่ 7 (กลุ่มทำน้ำพริก พริกแกงสำเร็จรูป) คุ้มที่ 4 ประดู่ในสามัคคี ปุ๋ยหมักเกษตรอินทรีย์ (กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์) คุ้มที่ 5 ป่าชุมชนกะท้อนลาย (กลุ่มปลูกป่าชุมชน) และคุ้มที่ 6 กะปิสามหลัง (กลุ่มทำกะปิ) ผลิตภัณฑ์จากคุ้ม นอกจากจะขายกันเองในหมู่บ้านยังสามารถจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวที่วัดมาบจันทร์ กลุ่มอาสาสมัครร่วมทำฝาย พนักงานเอสซีจี เคมิคอลส์ จนถึงกลุ่มผู้มาศึกษาดูงาน เพราะวันนี้บ้านมาบจันทร์เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศและเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมใจของชุมชน ดังที่ผู้ใหญ่วันดีว่า
“เอสซีจี เคมิคอลส์ สอนให้เรานำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปทำให้เกิดคุณค่าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มต่างๆ ไปช่วยจำหน่าย ช่วยด้านจัดการตลาดนัดชุมชน สอนให้พวกเรานำสินค้าในหมู่บ้านมาแปรรูป แม้กระทั่งกล้วยเครือเดียว เขาก็แนะนำให้เราเอามาขายนักท่องเที่ยว สอนให้เราปลูกพืชปลอดสาร เวลามีคนมาดูงาน เราทำชุดอาหารกลางวัน ก็ใช้กะปิ น้ำพริก พืชผักจากคุ้มมาทำอาหาร เอสซีจี เคมิคอลส์ ให้คำแนะนำทั้งหมดซึ่งมันสร้างรายได้สร้างความรู้ให้คนที่นี่อย่างยั่งยืน”
เหล่านี้ล้วนสะท้อนเจตนารมร์ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ต้องการช่วยชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนแม้จุดเล็กๆ ของความสัมพันธ์จะเกิดจากฝายชะลอน้ำ แต่ถึงวันนี้ความสัมพันธ์นั้นก็เปรียบได้กับน้ำบนเขาที่ยังความสมบูรณ์ ฉ่ำเย็นไปทั้งหัวใจทั้งของเอสซีจี เคมิคอลส์และชาวบ้านมาบจันทร์รวมถึงชุมชนโดยรอบเขายายดา
“เขาเป็นพี่เลี้ยงให้เรา สอนให้เราเดินให้แข็งให้เก่งอะไรที่เราอยากทำ เราอยากได้ ไม่มีที่เอสซีจี เคมิคอลส์ บอกว่าทำไม่ได้ เขาแนะนำให้มีรายได้เสริม ทำให้เราได้เงินเอง อะไรที่เขาไม่รู้เขาก็ไปหาผู้รู้มาช่วยสอนเรา แต่ถ้าถึงวันนั้นที่เขาจะไปหรืออะไร ผู้ใหญ่มั่นใจว่าเราต้องยืนอยู่ได้ในระดับหนึ่ง”
แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศบ้านมาบจันทร์
บ้านมาบจันทร์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจและกิจกรรมปลูกป่าสร้างฝายชะลอน้ำเป็นประจำตลอดทั้งปี ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้บ้านบาบจันทร์ได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัด โครงการคนรักษ์ป่า ป่าชุมชน พ.ศ. 2556 เป็นต้น สนใจเยี่ยมชมหรือศึกษาดูงาน ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่วันดี อินทร์พรม +66 8 9284 1204